Future Leader

Future Leader

โดย แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ [26-3-2007]

ผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ภาวะผู้นำก็ยังเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญอยู่เสมอ ยิ่งเป็นทุกวันนี้ที่โลกผันผวนเสียเหลือเกิน บทบาทของผู้นำจึงยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้นำประเทศ เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้นำอุตสาหกรรม ธุรกิจ หรือชุมชน ต่างก็มีส่วนด้วยกันทั้งนั้น
สำหรับนักธุรกิจ นักการตลาด ที่ติดตามอ่าน “บิสิเนสไทย” มานาน คงพอนึกออกว่าผมเน้นในเรื่องบทบาทของผู้นำค่อนข้างมาก เพราะมองเห็นว่าในอนาคตจะมีแต่ความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น บทหนักจึงตกอยู่กับผู้นำที่ต้องกล้าเผชิญหน้า ท้าทายกับความเปลี่ยนแปลงที่รออยู่ข้างหน้า
ผู้นำที่กล้า “นำอนาคต” จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาในวันนี้ ซึ่งบทบาทของผู้นำจะเปลี่ยนไปอย่างไร คงต้องโฟกัสกันที่ 6 ข้อหลักนี้
ข้อแรก ผู้นำต้องมี Logical Thinking ในการจัดการความสลับซับซ้อนและมีความสามารถที่จะรวมมิติต่างๆ ให้เกิดเป็นระบบขึ้นมา และมองเห็นปัญหาได้ ซึ่งปัญหาขององค์กรไม่ได้อยู่ที่ “เราไม่รู้วิธีแก้ปัญหา” แต่อยู่ที่ “เรามองปัญหาไม่เห็น” จนไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน
ผู้นำต้องมีความสามารถที่จะรวมทุกแผนกในองค์กร แต่ละแผนกมีหน้าที่อย่างไร คิดและรู้สึกอย่างไร มี Resource เท่าไร และ Resource เหล่านั้นมีความสามารถที่จะไปทำตามเป้าหมายที่บริษัทมอบให้หรือไม่ และมีประสบการณ์เพียงพอหรือไม่ ซึ่งถ้ามี Factor เหล่านี้พร้อม โอกาสที่จะสำเร็จก็มีมากขึ้น แต่ถ้าลูกโซ่นี้ขาดส่วนใดไป ความสมบูรณ์จะไม่เกิด
ผู้นำจึงต้องรู้จักวิธีการ Consolidation คือรู้จักเปิดใจ รับฟังคนอื่นในความเห็นที่ต่างกัน ต้องสร้างความสามารถ ทักษะในแต่ละหน่วยงานขององค์กร และหาเจอตัวเองว่าอะไรเป็นจุดแข็ง และสามารถจัดการปัญหาและก้าวไปข้างหน้าได้
ข้อสอง ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถที่อ่านความแตกต่างของวัฒนธรรมได้ทะลุปรุโปร่ง และรู้จักรับมือกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพราะทุกบริษัทไม่สามารถที่จะเลือกเฉพาะพรรคพวกของตนเองมาทำงานร่วมกันได้ แต่ต้องเปิดกว้างรับคนจากแต่ละครอบครัว แต่ละภาคของประเทศ หรืออาจเป็นหลายชนชาติที่มาทำงานในประเทศไทย
การจัดการในจุดนี้ คือ การจัดการความแตกต่างของวัฒนธรรม ใครมีความสามารถนำวัฒนธรรมที่ต่างกันให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ คือหาส่วนร่วมที่มีความเหมือนที่แตกต่าง จึงประสบความสำเร็จ
ภายใต้ Globalization ถ้าไม่ให้ความสำคัญในเรื่องความเชื่อในวัฒนธรรมที่ต่างกัน จะมีปัญหามากมาย สิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และประสบความสำเร็จต้องมาจากภายในของเขา ที่เราทำให้เขารู้สึกว่าเราเข้าใจเขา และพยายามใช้ความคิดของเขามาเปลี่ยนแปลงเขา จึงสำเร็จ
ข้อสาม ผู้นำต้องเหมือนศิลปิน คือมีความหยั่งรู้ ผู้นำต้องมีความสามารถที่จะรู้ว่าจะเกิดอะไร เมื่อไร และสามารถแปลสิ่งเหล่านี้เป็นข้อความให้คนอื่นรับรู้ด้วยและเพื่อเปลี่ยนแปลงคนอื่นให้เดินไปในทางเดียวกัน
ผู้นำจึงต้องเข้าใจเรื่องการมีความเหมือนแต่มีความแตกต่างและสามารถวาดภาพออกมาให้จิตนาการถึงจุดสุดท้ายที่จะเห็น เหมือนศิลปินที่ก่อนจะวาดภาพต้องเห็นภาพทั้งหมดก่อน ซึ่งผู้นำทุกคนต้องหมั่นเรียนรู้ และทบทวนตัวเองเพื่อเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ และให้เกิดการต่อเนื่องในระบบความคิดได้
ข้อสี่ ต้องมี Positive Value คือมุมมองเชิงบวกของคุณค่า โดยผู้นำนอกจากจะต้องมีความรู้ในสาขาวิชาของธุรกิจที่ทำอยู่ มีทักษะในการบริหาร และแม้แต่มีความทุ่มเทเต็มที่แล้ว ก็ยังมีโอกาสสำเร็จได้เพียงแค่ 50%
โดยที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าผู้นำดูแต่ผลงาน แต่ขาดจรรยาบรรณ แม้จะสำเร็จไปได้ช่วงหนึ่ง แต่อาจจะล้มเหลวได้ ซึ่งสภาพการทำธุรกิจที่ยากนี้ ในวันนี้ข่าวสารทางบวก เพื่อจะเป็นตัวอย่างให้เรียนรู้มีน้อยลงมาก สิ่งที่ต้องทำ คือต้องสร้างค่านิยม และความถูกต้องให้เกิดในสังคมให้ได้
ณ วันนี้ต้องสอนเรื่องจรรยาบรรณ ให้รู้สึกว่าความรับผิดชอบที่เขามีอยู่คืออะไร และผู้นำต้องกลับมาที่พื้นฐานตัวเอง ถ้าเราไม่เป็นตัวอย่างที่ดี สุดท้ายแม้จะสำเร็จแล้วก็ล้มเหลวได้ ผู้นำจึงต้องมีความคิดบวกทั้งในชีวิตตนเอง ชีวิตการทำงาน และในชีวิตประจำวัน
ข้อห้า ต้องรับฟังจิตสำนึกลึกๆ ของตนเอง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากภายนอกเท่านั้น แต่เกิดจากภายในของเรา คือมีส่วนหนึ่งลึกๆ ในจิตใจเราเป็นตัวบอกเราว่าควรทำอะไร เรียกว่าจิตสำนึก ในการบริหาร
สุดยอดของการบริหาร คือ Self Leadership คือเป็นผู้นำของตนเอง เพราะชีวิตไม่ใช่การอยู่เพื่อแก้ปัญหา แต่ชีวิตเกิดจากจิตสำนึกของภายในที่สะท้อนการกระทำของเรา ซึ่งผู้นำต้องย้ำอยู่เสมอว่า เวลานี้เราทำอะไรอยู่ และการกระทำนั้นมีความหมายอะไร และมีอะไรที่ทำแล้วมีความหมายมากกว่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากจิตสำนึกความเป็นผู้นำ ถ้าผู้นำไม่มีจิตสำนึกนี้ องค์กรจะไม่เจริญ
สุดท้ายแล้วสิ่งที่ต้องดู คือนอกจากจะต้องหาเจอความหมายของชีวิต และสิ่งสำคัญที่สุด คือต้องรู้จักความหมายนั้น แปลเป็นคุณค่าที่ต้องเป็นประโยชน์กับส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์แก่ตนเอง
ผู้นำที่ดี ต้องไม่ใช่แค่ให้ความพอใจแก่ลูกค้า, ผู้ถือหุ้น และพนักงานของเราเท่านั้น ผู้นำที่สุดยอดต้องมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบ และใช้พลังของสิ่งที่มีอยู่ ให้เกิดลูกโซ่ เป็นผลทำให้ทุกคนดีขึ้นมาได้ในทางเดียวกัน
และผู้นำต้องเป็นคนที่รับฟังคนอื่น บริการคนอื่น ให้กำลังใจคนอื่น และมีความสามารถที่จะทำ Consolidation ของพลัง และเกิดความเข้าใจ และกระตุ้นให้ทุกคนในองค์กรแปลเป็นความรู้ และสร้างคุณค่าองค์กรที่มีค่าต่อสังคมที่มีอยู่ จึงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *