ผู้นำที่ดีต้องเริ่มที่ความอยากจะรับใช้ผู้อื่น ตอน 2

ผู้นำที่ดีต้องเริ่มที่ความอยากจะรับใช้ผู้อื่น ตอน 2
มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ pasu@acc.chula.ac.th คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549
สัปดาห์ที่แล้วเริ่มต้นเรื่องของ Servant Leadership ไว้ ดูเหมือนว่าจะเข้ายุคเข้าสมัยนะครับ โดยเฉพาะในเมืองไทย ที่พวกเราต้องเริ่มกลับมาถามตัวเองเหมือนกันนะครับว่า ผู้นำในลักษณะไหนกันแน่ที่เหมาะกับองค์กรในเมืองไทย ภาวการณ์ต่างๆ ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าองค์กรต่างๆ ในเมืองไทยต้องการผู้นำแบบใดกันแน่? ในอดีตเรามักจะไม่ค่อยสนใจเท่าไรว่าผู้นำแต่ละคนนั้นเขาขึ้นมาเป็นผู้นำเพราะสิ่งใด ขอให้เขาเป็นผู้นำที่มีความสามารถก็พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่นั้นที่มักจะให้ความสนใจกับผลประกอบการหรือความพึงพอใจของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
ดังนั้น ผู้นำต่างๆ ก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองต่อผู้ถือหุ้น โดยลืมคิดถึงบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องผู้นำในลักษณะนี้ จะทำทุกอย่าง เพื่อตอบสนองต่อตนเองเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้นำเหล่านี้ไม่ได้มีความสามารถนะครับ เพียงแต่เจตนารมณ์ของการเป็นผู้นำนั้นไม่ใช่เพื่อคนอื่นแต่เพื่อตนเองเป็นหลัก
แนวคิดของ Servant Leadership ที่ Robert Greenleaf พัฒนาขึ้นมานั้น ผู้นำจะมาจากคนละเบ้าหลอม กับพวกผู้นำที่คิดถึงแต่ตนเองเป็นหลักครับ ผู้นำที่เป็น Servant Leader นั้น จะเริ่มต้นจากความต้องการที่จะรับใช้ หรือช่วยเหลือผู้อื่นก่อน ดังนั้น เมื่อบุคคลเหล่านี้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ความมุ่งมั่นของเขาเองจึงเพื่อบุคคลอื่น เพื่อองค์กร แต่ไม่ใช่เพื่อตนเอง คงต้องยอมรับนะครับว่าในปัจจุบันเราต้องการผู้นำที่มีลักษณะ Servant Leadership มากขึ้นนะครับ อาจจะเพื่อเป็นการสร้างความสมดุลกับหลายๆ ผู้นำที่มัวแต่คิดถึงแต่ตนเองเป็นหลัก
Robert Greenleaf ระบุไว้เลยครับว่าคนที่เป็น Servant Leader นั้น ต้องเริ่มที่คำว่า Servant หรือผู้รับใช้ก่อนครับ ไม่ใช่เริ่มที่คำว่าผู้นำครับ นั้นคือจะต้องมีความรู้สึกอยากจะรับใช้ อยากจะช่วยเหลือ อยากจะให้ผู้อื่นได้ดี หลังจากนั้น ถึงจะค่อยเกิดความอยากจะเป็นผู้นำ ซึ่งพวกที่เป็น Servant Leader จริงๆ นั้นจะต่างจากพวกที่เริ่มต้นที่คำว่า Leader ก่อนนะครับ
ท่านผู้อ่านจะต้องแยกกลุ่มคนทั้งสองคนออกจากกันให้ได้ ระหว่างพวกที่อยากจะรับใช้ก่อน และพวกที่อยากจะเป็นผู้นำก่อน พวกที่เป็น Servant ก่อนนั้น เขาจะให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้อื่นเป็นหลักครับ นั้นคือจะหาทางทำให้ความต้องการของผู้อื่น ได้รับการตอบสนองก่อน และพวกที่ถูกรับใช้หรือตอบสนองนั้นก็จะค่อยๆ เติบโตจนกลายเป็น Servant Leader เช่นเดียวกันครับ
แต่ท่านผู้อ่านก็ต้องระวังอย่าถูกหลอกจากผู้นำบางประเภทนะครับ ที่ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งนั้น มักจะบอกว่าต้องการรับใช้องค์กร รับใช้ผู้อื่น แต่เมื่อเป็นผู้นำแล้ว กลับมุ่งเน้นแต่ตนเองและพวกพ้องเป็นหลักครับ เนื่องจากคนที่เป็น Servant Leader จริงๆ เขาจะไม่ใช่บอกว่าอยากจะเป็นผู้รับใช้แต่ปากนะครับ แต่พฤติกรรมและการประพฤติก็ต้องแสดงออกมาด้วยครับ
นักวิชาการทางด้านภาวะผู้นำอย่าง Warren Bennis ได้เขียนถึงแนวคิดของ Servant Leadership ไว้ว่า Servant Leader ที่ดีนั้นต้องประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต ความน่าเชื่อถือ และความจริงใจ หลักการของ Servant Leadership จะให้ความสำคัญกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และประเด็นสำคัญคือต้องอย่าให้ความทะเยอทะยานของตนเอง อยู่เหนือความถูกต้องที่ควรจะเป็น
แนวคิด Servant Leadership ของ Greenleaf นั้น ได้รับการยกย่องจากนักคิดทั่วโลก ในเรื่องของการจุดประกาย เรื่องของผู้นำยุคใหม่ครับ ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่า Greenleaf เขียนเรื่อง Servant Leadership มาตั้งแต่ปี 1970 ดังนั้น แนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำหลายๆ ประการที่เรารู้จักและคุ้นเคยกัน ในปัจจุบันก็มีพื้นฐานมาจากแนวคิดของ Greenleaf พอสมควรครับ เรื่องของ Servant Leadership ไม่ใช่เรื่องของการรับใช้ผู้อื่นอย่างเดียวครับ หลักการในเรื่องของการทำงานเป็นทีม หลักพฤติกรรมที่เอาใจใส่ผู้อื่น หลักการปฏิบัติตามหลักจริยธรรม หลักการสนใจต่อความก้าวหน้าและเติบโตของลูกน้อง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ให้ความสนใจต่อการเติบโตขององค์กร สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้แนวคิดของ Servant Leadership ทั้งสิ้นครับ
สัปดาห์หน้าผมจะลงรายละเอียดคุณลักษณะของ Servant Leader จริงๆ นะครับ แต่ขอเรียกน้ำย่อยไว้ข้อหนึ่งก่อนครับ ซึ่งน่าสนใจมากเลย คือคนที่จะเป็น Servant Leader จริงๆ นั้น ต้องรู้จักที่จะฟัง (Listen) ผู้อื่น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคุณสมบัติที่ผู้นำหลายๆ ท่านยังขาดอยู่ครับ นั้นคือเมื่อท่านพูดแล้วท่านต้องการให้คนอื่นฟัง แต่เมื่อคนอื่นพูดท่านมักจะไม่ฟังผู้อื่น
ก่อนจบขอฝาก คำถามหนึ่งที่ Warren Bennis ให้ไว้และน่าสนใจเกี่ยวกับ Servant Leadership ก็คือ “ท่านต้องการจะเป็นผู้นำจริงหรือ?” ซึ่งเป็นคำถามตั้งต้นที่น่าสนใจครับ ถ้าท่านต้องการจะเป็นผู้นำ คำถามถัดมาก็คือ ต้องการเป็นผู้นำเพื่ออะไรหรือเพื่อใคร? ท่านต้องการเป็นผู้นำเพื่อตนเอง และบุคคลใกล้ชิดเพียงไม่กี่คน หรือท่านต้องการเป็นผู้นำที่ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข มีโอกาสพัฒนา และเติบโต และสุดท้าย ย่อมนำไปสู่การทำทุกคนรอบข้างดีขึ้น?

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *