Critical Thinking การคิดอย่างมีวิจารณญาณ

Critical Thinking การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
Post Today – หลังจากที่คุณครูได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแนวคิดและกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) …
ซึ่งการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเพียงแค่หนึ่งในกระบวนการความคิดที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของความฉลาด และเป็นการพัฒนาสมองซีกขวาเพียงด้านเดียว ยังมีอีกหนึ่งความคิดที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ที่คุณครูอยากจะให้คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

การคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นความสามารถที่จะคิดวิเคราะห์ พิจารณาแยกแยะสิ่งถูกหรือไม่ ผิดหรือไม่อย่างไรโดยใช้วิจารณญาณ ใช้เหตุผลอย่างเหมาะสมในการตัดสินหรือแก้ไขปัญหา หากคุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และความคิดวิจารณญาณแก่ลูกควบคู่กันไป ก็จะทำให้ลูกเกิดการพัฒนาของสมองซีกซ้ายและซีกขวาไปพร้อมๆ กันค่ะ การฝึกให้ลูกใช้สมองทั้งสองข้างไปพร้อมๆ กัน จะเป็นการทำให้สมองของเด็กๆ มีศักยภาพมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ 1 เท่าเท่านั้น แต่ทวีคูณไปหลายเท่าเลยทีเดียว

คุณพ่อคุณแม่อาจอยากทราบว่า เราจะมีวิธีการกระตุ้นกระบวนการทำงานของสมองให้สามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร หรืออาจสงสัยว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีเซลล์สมอง 1 แสนล้านเซลล์เท่ากัน แต่ทำไมประสิทธิภาพการทำงานของสมองแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน บางคนมีประสิทธิภาพต่ำ แต่บางคนมีประสิทธิภาพสูง บางคนต้องใช้เวลานานในการทำความเข้าใจในเรื่องๆ หนึ่ง แต่อีกคนหนึ่งกลับต้องใช้เวลาเพียงสั้นๆ ในการทำความเข้าใจในเรื่องเดียวกัน สาเหตุเช่นนี้เป็นเพราะส่วนหนึ่งอยู่ที่โครงสร้างการเชื่อมต่อของเส้นใยสมอง ถ้าหากสมองมีการสร้างแขนงเส้นใยสมอง และมีการเชื่อมต่อของเส้นใยสมองมาก ก็จะทำให้สมองมีประสิทธิภาพมาก

การคิดเป็นการกระตุ้นและฝึกฝนสมองให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้เกิดการแตกแขนงของเส้นใยสมองที่เป็นร่างแหที่แข็งแรง ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่มีการฝึกสมองลูกน้อยให้มีทักษะทางการคิดที่ดีตั้งแต่เล็ก ก็จะทำให้ลูกคิดเป็น หรือเรียกได้ว่าเป็นเด็กที่มีศักยภาพสูง

ในวันนี้ เราได้เห็นถึงความสำคัญของการคิดอย่างมีวิจารณญาณแล้ว ในฉบับต่อไปคุณครูจะได้ให้แนวทางแก่คุณพ่อคุณแม่ เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณแก่ลูก โดยคุณพ่อคุณแม่ควรฝึกฝนลูกอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องไม่เครียดนะคะ เด็กที่เรียนรู้ในขณะที่มีความสุขย่อมเรียนรู้ได้เร็วและจดจำได้นานกว่าเด็กที่เรียนรู้เพราะถูกบังคับ ดังนั้นเราจึงควรให้ลูกเรียนรู้ด้วยความพึงพอใจ เพราะการเรียนรู้อย่างมีความสุขมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ส่งผลต่อสติปัญญา ความจำ และประสิทธิภาพในการเรียนรู้สูงสุดของลูกน้อยค่ะ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *