หลักการฟังและการพูด

หลักการฟังและการพูด

เนื้อความ :
. . . . . พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี
ครั้งนั้นแล ทรงเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วได้ตรัสว่า
. . . . . “ภิกษุทั้งหลาย ! ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่น จะพึงกล่าวกะพวกเธอ
มีอยู่ ๕ ประการคือ
. . . . . . ๑. กล่าวโดยการอันสมควรหรือไม่สมควร
. . . . . . ๒. กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง
. . . . . . ๓. กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือหยาบคาย
. . . . . . ๔. กล่าวด้วยคำมีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์
. . . . . . ๕. กล่าวด้วยจิตเมตตาภายในหรือประสงค์ร้าย
. . . . . ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อผู้อื่นจะพูดด้วยประการใดๆก็ตาม พวกเธอพึง
ตั้งจิตอย่าให้แปรปรวน เราจะไม่พูดจาลามก เราจะสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยสิ่ง
ที่เป็นประโยชน์ เราจะต้องมีเมตตาจิต ไม่มีความโกรธภายในใจ เราจะแผ่
เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้น เราจะต้องแผ่เมตตาจิตไปไม่มีประมาณ ไม่มี
เวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง

. . . . . ภิกษุทั้งหลาย ! หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่
มีที่จับสองข้าง มาเลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยในร่างกายของเธอ ด้วยการกระทำ
ของพวกโจรนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดมีจิตคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุหรือ
ภิกษุณีรูปนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไว้
ไม่ได้นั้น
. . . . . ภิกษุทั้งหลาย ! แม้เพราะเหตุนั้น พวกเธอพึงปฏิบัติอย่างนี้ว่า
จิตของเราจะไม่แปรปรวน เราจะไม่พูดคำที่ลามก เราจะอนุเคราะห์ผู้อื่น
ด้วยสิ่งเป็นประโยชน์ เราจะมีเมตตาจิต ไม่มีความโกรธภายใน เราจะแผ่
เมตตาจิตไปถึงบุคคลเหล่านั้น และบุคคลทั่วไปอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หา
ประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็น
อารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้
. . . . . . . . . . . . . . . กกจูปมสูตร ๑๒/๒๑๐

คำศัพท์
ลามก – ต่ำทราม (ไม่ได้แปลอย่างที่ใช้กันทั่วไป)
แผ่เมตตาจิต – สร้างความรู้สึกเมตตาขึ้นในใจ แล้วมโนภาพแผ่เป็น
. . . . . กระแสออกไปยังผู้อื่น(เฉพาะคน) หรือ โดยรอบ(ไม่เจาะจง)
ไม่มีประมาณ – ไม่จำกัดบุคคล(เฉพาะคนนี้) ไม่จำกัดระยะทาง(เฉพาะคนอยู่ใกล้)
เวร – ความผูกใจเจ็บ จ้องจะทำร้ายคืนเมื่อมีโอกาส เวรเป็นผลของจิตคิดพยาบาท
ตลอดโลก – โลกหมายถึงทั้งหมด ไม่จำกัดแค่ดาวโลก แม้นรกสวรรค์ก็นับ
อนุเคราะห์ฯ – ในที่นี้คือ ตั้งใจจะมอบแต่สิ่งดีๆ เป็นประโยชน์ ให้แก่ผู้อื่น เท่านั้น
ไพบูลย์ – มากมาย ไม่มีหมด

ข้อสังเกต
ไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะฟัง หรือฐานะพูดก็ตาม ก็พึงเจริญเมตตาไว้ให้ตลอด
จึงจะชื่อว่าปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเมตตานี้ ต่อให้ผู้อื่นจะ
คิดร้าย/ทำร้ายเราแค่ไหน ก็ต้องรักษาไว้ให้ได้ แม้จะยากแสนยากก็ตาม
หากฝึกฝนบ่อยๆ ก็จะยากน้อยลงไปเอง
อนึ่ง บุญกุศลที่เกิดจากการเจริญเมตตานี้ ยิ่งใหญ่มาก ดังที่มีพระสูตร
กล่าวไว้หลายครั้ง ถ้ามีโอกาสจะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *