มะเร็งตับร้าย

มะเร็งตับร้าย
• คุณภาพชีวิต
คร่าชีวิตนับไม่ถ้วน

มะเร็งตับ คือ เนื้องอกที่เจริญเติบโตโดยไร้การควบคุม เนื้องอกแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง และที่เป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ได้เป็นเนื้อร้าย มะเร็งตับที่เกิดขึ้นในตับเอง หรือที่เรียกว่ามะเร็งตับปฐมภูมิ (Primary Liver Cancer) นั้น แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือมะเร็งเซลล์ตับ (Hepato-cellular Carcinoma) และมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangio Carcinoma) สำหรับมะเร็งทุติยภูมิ คือ มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น ปอด ตับ ลำไส้ ไม่ถือว่าเป็นมะเร็งตับ ในประเทศไทยเรานั้น 95% เป็นมะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular Carcinoma เรียกย่อว่า HCC) และพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย แต่พบมากที่สุดในภาคกลาง เนื่องจากตับของคนเรามีขนาดใหญ่ คือเป็นอวัยวะภายในที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีกำลังสำรองมาก ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับในระยะแรกจึงมักไม่มีอาการอะไร เพราะตับยังคงทำงานได้เกือบปรกติ เมื่อมีอาการที่ชัดเจนมากขึ้นก้อนมะเร็งก็มีขนาดที่ใหญ่มากแล้ว ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุว่าผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับมักมีอัตราการอยู่รอดเพียงไม่กี่เดือน เพราะเมื่อพบก็สายเกินไปแล้ว เมื่อมะเร็งได้ลุกลามและมีขนาดใหญ่มากแล้ว

สาเหตุ

1. การเกิดของโรค แยกตามประเภทได้ 2 ชนิด คือ
ชนิดแรก คือ ชนิดที่เกิดกับตับโดยตรง (มะเร็งปฐมภูมิ) ในประเทศไทยพบมากมี 2 ชนิด คือ
– มะเร็งชนิดเซลล์ตับ เป็นมะเร็งที่พบได้ทั่วทุกภาค
– มะเร็งชนิดเซลล์ท่อน้ำดี เป็นมะเร็งที่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ชนิดที่สอง คือ ชนิดที่ลุกลามมาจากมะเร็งของอวัยวะอื่น (มะเร็งทุติยภูมิ) เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ และ ทวารหนักที่กระจายไปยังตับ
2.ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค เช่น โรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี พยาธิใบไม้ในตับ สารเคมีต่างๆ ยารักษาโรคบางชนิด ยาฆ่าแมลง สารพิษที่เกิดจากเชื้อรา สารเคมีที่เกิด จากอาหารหมักดอง สุรา ฯลฯ ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะทางระบบอิมมูน คุณสมบัติ ทางพันธุกรรม และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุช่วยในการเกิดโรค

อาการ

1.เบื่ออาหาร แน่นท้อง ท้องผูก
2.อ่อนเพลีย น้ำหนักลด และมีไข้ต่างๆ
3.ปวดหรือเสียดชายโครงด้านขวา
4.ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโตและบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจและรักษามะเร็งตับในระยะแรกเริ่มมักได้ผลดี แต่มะเร็งตับระยะแรกเริ่มมักไม่มีอาการ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์
1. การตรวจโดยเจาะเลือดหาระดับของสารแอลฟาฟีโตโปรตีน ซึ่งเป็นสารที่มะเร็งตับ ชนิดเซลล์ตับผลิตออกมา
2. การตรวจดูก้อนในตับโดยใช้อุลตราซาวด์ คอมพิวเตอร์เอ็กซเรย์ คลื่นแม่เหล็ก MRI หรือฉีดสีเข้าเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงตับ

การรักษา

1. การผ่าตัด เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่หวังผลในการหายขาดได้ แต่ใช้ได้ ในผู้ป่วยที่ก้อนยังไม่โตมาก และการทำงานของตับยังดีอยู่
2. การฉีดยาเคมีและสารอุดตันเข้าเส้นเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยง ก้อนมะเร็งทำให้ก้อนยุบลง (Chemoembolization)
3. การฉีดยา เช่น แอลกอฮอล์ เข้าก้อนมะเร็ง โดยผ่านทาง ผิวหนังใช้ในก้อนมะเร็งเล็กๆ ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดได้
4. การใช้ยาเคมี ใช้เพียงเพื่อบรรเทาไม่สามารถหายขาดได้
5. การฉายแสง ใช้เพื่อบรรเทาอาการของมะเร็ง
6. การใช้วิธีการผสมผสาน

การป้องกัน

1. ไม่รับประทานอาหารที่มีเชื้อรา ระมัดระวังอาหารที่ตากแห้ง รวมทั้งอาหารที่เตรียมแล้ว เก็บค้างคืน เพราะอาจมีเชื้อราปะปนอยู่
2. ไม่รับประทานอาหารซ้ำๆหรืออาหารที่ใส่ยากันบูด
3. ไม่รับประทานอาหารสุกๆดิบๆ เช่น ปลาดิบ ก้อยปลา เพราะอาจจะทำให้เป็น โรคพยาธิใบไม้ตับหรืออาหารที่หมัก เช่น ปลาร้า ปลาเจ่า แหนม ฯลฯ เพราะมีสาร ไนโตรซามีน ซึ่งทำให้เป็นโรคมะเร็งตับได้
4. ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกใหม่ๆ
5. ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์

เรื่องโดย : รัศมี ศรคำ Team Content www.thaihealth.or.th
ที่มา : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *