Packaging Logistics

Packaging Logistics

 
                บรรจุภัณฑ์ หรือ Packaging มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางโลจิสติกส์ในฐานะเป็นกลไกทำให้ระบบโลจิสติกส์มีการขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบทบาทของการบรรจุภัณฑ์จะมีพันธะกิจหลักเพื่อการเก็บรักษาสินค้าให้คงสภาพ และสามารถจัดเรียง รวบรวม อยู่ในเนื้อที่ซึ่งจำกัด ให้มีปริมาตรการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนโลจิสติกส์ อีกทั้ง บรรจุภัณฑ์ที่ดี จะมีการออกแบบเพื่อให้ทำหน้าที่ในการป้องกันสินค้าที่บรรจุอยู่ภายในไม่ให้ได้รับความเสียหายหรือเสียรูป ทั้งเกิดขึ้นในขณะเคลื่อนย้ายสินค้า และช่วยให้สามารถช่วยให้การจัดวางหรือจัดเรียงสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่บรรจุภัณฑ์ ยังมีส่วนสำคัญในฐานะเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการขนย้ายสินค้าจากแหล่งต้นน้ำ และเพื่อให้มีการส่งต่อสินค้าผ่านกิจกรรมต่างๆทางโลจิสติกส์จนสินค้าไปสู่ที่หมายปลายทาง ในสภาพที่ปลอดภัยมีความสะดวกโดยมีต้นทุนในการส่งมอบ (Delivery Cost) ที่ประหยัด ทั้งนี้ การบรรจุภัณฑ์  มีความหมายถึง ภาชนะ , กล่อง , หีบ ,  ห่อ , ลัง , พาเลท , ตู้ หรือสิ่งอื่นใดที่ทำหน้าที่เพื่อการบรรจุวัตถุดิบสินค้าหรือสิ่งของไว้ภายใน จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพและเป็นเครื่องมือในการกระจายสินค้า (Distribution) ไปสู่ผู้ใช้ ผู้ซื้อหรือผู้บริโภค
              อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทางการค้าปัจจุบันมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง  บรรจุภัณฑ์จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งเสริมทางการตลาด (Market Promotion) โดยการเน้นในเรื่องของความสวยงาม ความสะดุดตาและดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคให้มีการตัดสินใจซื้อ บรรจุภัณฑ์ในยุคปัจจุบันจึงทำหน้าที่ในการสร้าง Image ของสินค้าก่อนที่ผู้ซื้อจะเห็นตัวสินค้า จะเห็นได้ว่าบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุสินค้าสำหรับผู้บริโภคจะมีการดีไซน์รูปแบบหรือสีสันเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ รวมถึงมีข้อความประชาสัมพันธ์และโฆษณาสินค้าที่บรรจุอยู่ภายใน ดังนั้น บรรจุภัณฑ์มีส่วนสำคัญที่จะก่อให้เกิดการส่งมอบสินค้าภายใต้ความพึงพอใจของสินค้า ซึ่งตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับพันธะกิจของโลจิสติกส์โดยตรง  ซึ่งหน้าที่นี้มองได้เป็น 2 มิติ คือ ในฐานะที่บรรจุภัณฑ์เป็นกลไกของการตลาด (Marketing) ในการช่วยให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อสินค้า ขณะเดียวกันก็สามารถมองในแง่มิติของสินค้าที่บรรจุภัณฑ์เป็นกลไกสำคัญให้มีการส่งมอบสินค้าแก่ผู้ที่ต้องการขายไปสู่ผู้ที่ต้องการซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในประเด็นนี้จะเห็นชัดเจนได้จาก การบ่งชี้ (Identify) ระบุข้อมูลของสินค้าบนกล่อง , ลัง หรือบรรจุภัณฑ์ ,รายละเอียดของสินค้า, แหล่งที่ผลิต (Origin Country) และแหล่งที่สินค้าจะมีการส่งมอบ (Destination Country) ซึ่งสิ่งเหล่านี้นักโลจิสติกส์จะคุ้นเคย ที่เรียกว่า Side Mark หรือ Shipping Mark ซึ่งหากปราศจากบรรจุภัณฑ์แล้ว การส่งมอบสินค้าคงเป็นความโกลาหลในการที่จะส่งสินค้าได้ถูกต้อง บรรจุภัณฑ์จึงเป็นปัจจัยสำคัญให้ระบบโลจิสติกส์มีการขับเคลื่อนเป็นแบบพลวัตรและทำให้โลจิสติกส์เป็น International Logistics อย่างไรก็ตาม หากกล่าวถึงบทบาทของบรรจุภัณฑ์ในฐานะที่เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโลจิสติกส์ บทบาทที่สำคัญน่าจะมี 3 ประการ คือ ประการแรก ทำหน้าที่ด้าน Storage Support ในการปกป้องและเก็บรักษาสินค้าไม่ให้ได้รับความเสียหายและให้เกิดความสะดวกในระหว่างการจัดเก็บ ประการที่สอง ทำหน้าที่ Transport Support เพื่อให้เกิดความสะดวกและมีความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายเพื่อการขนส่ง ประการที่สาม ทำหน้าที่ Cost Reduction ในการทำให้ประหยัดเนื้อที่ ทั้งเพื่อการเก็บรักษาและเพื่อการขนย้ายสินค้าหรือการขนส่งเนื่องจากสามารถจัดวางเรียงทับซ้อนกันในทางสูง ซึ่งหากไม่มีบรรจุภัณฑ์ก็ไม่สามารถที่จะทำได้
 อย่างไรก็ดี บทบาทที่สำคัญของโลจิสติกส์จะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ และกระจายสินค้าจากแหล่งผลิตไปจนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ภายใต้การจำกัดของเงื่อนเวลาที่จะต้องส่งมอบแบบทันเวลา (Just In Time) ภายใต้ต้นทุนรวมที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความคล้องจองกับบทบาทและหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ โดยประเภทของ

บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในงานโลจิสติกส์น่าจะแบ่งได้เป็นดังนี้
                 1. บรรจุภัณฑ์เพื่อการขายปลีก เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบไว้เพื่อความสะดวกต่อการส่งมอบให้กับผู้บริโภคโดยตรง จึงมีการออกแบบและดีไซน์ให้มีความสะดุดตา และเป็นสื่อโฆษณาภายในตัวเอง นอกจากนี้ ทำหน้าที่ในการปกป้องสินค้า รวมถึง มีรูปร่างที่เหมาะแก่การใช้งาน และมีการออกแบบทางเชิงส่งเสริมการตลาดหรือเชิงพาณิชย์
                 2. บรรจุภัณฑ์เพื่อการขายส่ง เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำหน้าที่ในการแบ่งสินค้าออกเป็นชุดเพื่อสะดวกในการจัดจำหน่าย เช่น 6 ชิ้น , 12 ชิ้น หรือ 24 ชิ้น โดยหน้าที่หลักเพื่อการป้องกันรักษาไม่ให้สินค้าเสียภายในระหว่างการเก็บรักษาในคลังสินค้าหรือจากการขนส่งและให้มีความสะดวกต่อการส่งมอบสินค้าไปสู่ผู้ขายปลีกหรือขายส่ง ซึ่งบรรจุภัณฑ์ตรงนี้จะมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการกระจายสินค้า ที่เรียกว่า DC หรือ ศูนย์กระจายสินค้า
                 3. บรรจุภัณฑ์ชั้นนอกหรือบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมา เพื่อใช้ในการบรรจุสินค้า เพื่อให้สามารถจัดเรียงหรือวางให้สามารถใช้พื้นที่ได้น้อยที่สุด เพื่อใช้ในการขนส่ง รวมถึง มีการออกแบบแพคเกจจิ้งเหล่านี้ให้มีสภาพแข็งแรงในการป้องกันการกระแทกหรือป้องกันละอองน้ำหรือน้ำ ไม่ให้สินค้าได้รับความเสียหายในระหว่างการเคลื่อนย้ายหรือขนส่ง เช่น ลังไม้ หรือที่บรรจุในพาเลท นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า แม้แต่ตู้คอนเทนเนอร์ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Packaging ที่เป็นประเภท Out Package ก็เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบรรจุสินค้าให้ได้เนื้อที่มากที่สุด เพื่อการขนส่งทั้งด้วยรถบรรทุกหรือด้วยคอนเทนเนอร์เพื่อการขนส่งสินค้าทางเรือหรือ ULD เพื่อการขนส่งสินค้าทางอากาศ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้มีความสะดวกในการที่จะส่งต่อสินค้าในแต่ละช่วงการส่งมอบ จากประเภทพาหนะหนึ่งไปอีกประเภทหนึ่งในรูปแบบการขนส่งทางไกลที่เป็น MTO หรือ Multimodal Transport
             ทั้งหมดที่กล่าวนี้ คงจะไม่มีใครเถียงว่าบรรจุภัณฑ์ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางโลจิสติกส์และนับวันบทบาทของบรรจุภัณฑ์ที่จะมีส่วนสำคัญต่อการผลิตและประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนสินค้าทางไกลกันมากยิ่งขึ้น บรรจุภัณฑ์จึงมีส่วนสำคัญต่อการลดต้นทุนโลจิสติกส์และมีส่วนสำคัญเพื่อให้ระบบโลจิสติกส์มีการขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านเชิงเวลา , ประสิทธิภาพและต้นทุน รวมถึงมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการป้องกันการก่อการร้ายที่เป็น Terrorism Security Logistics ในลักษณะที่มีการบ่งชี้ (Identify) แหล่งที่มาและแหล่งที่จะส่งมอบ โดยจากนี้ไปทิศทางการพัฒนาระบบบรรจุภัณฑ์จะต้องสอดคล้องกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในรูปแบบที่เป็น e-Sealing และ RFID ซึ่งจะทำให้ระบบบรรจุภัณฑ์ ในอนาคตจะต้องเป็น e-Packaging ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ e-Logistics อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้……

ที่มา โดยธนิต  โสรัตน์
ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

 

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *