GEORGE SOROS & QUANTUM FUND ตอน 8

GEORGE SOROS & QUANTUM FUND ตอน 8 การทำกำไรสูงสุดครั้งหนึ่งในชีวิต

ในเดือนธันวาคม ปี 1984 เขาพุ่งความสนใจไปที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเพิ่งจะประกาศใช้นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โซรอสเข้าใจว่า นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษขณะนั้น ต้องการให้ประชาชนอังกฤษแต่ละคนเป็นเจ้าของหุ้นบริษัทอังกฤษ และวิธีที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือ ต้องทำให้ราคาหุ้นต่ำกว่าความเป็นจริง
โซรอสขอให้ราฟาเอลติดตามบริษัท จากัวร์ และบริติซ เทเลคอม จากการศึกษาของราฟาเอลเกี่ยวกับจากัวร์ ทำให้เขามั่นใจว่าบริษัทกำลังดำเนินงานไปด้วยดีทีเดียว จากหุ้นราคา 160 เพนซ์ต่อหุ้น กองทุนควันตั้มได้เข้าไปซื้อหุ้นประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20 ล้านดอลลาร์ ของบริษัทจากัวร์ซึ่งมีมูลค่าในพอร์ตการลงทุนเกือบ 449 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าอาจจะดูเป็นการลงทุนที่มากสำหรับคนอื่น ๆ แต่สำหรับโซรอสแล้วไม่ใช่ แม้ว่าราฟาเอลจะค่อนข้างเป็นห่วงกับการเดิมพันในครั้งนี้ของโซรอส แต่แล้วก็สบายใจขึ้นเมื่อพบว่า กองทุนควันตั้มได้กำไรจากจากัวร์ถึง 25 ล้านดอลลาร์
การป้องกันความเสี่ยงด้วยการถือหุ้นแบบ ชอร์ต โพซิทชั่น (short position) ครั้งใหญ่สุดของโซรอส ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 คือการถือหุ้นของ เวสเทิร์น ยูเนี่ยน โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 1985 นักวิเคราะห์สถาบันหลายรายต่างแนะนำว่า บริษัทเวสเทิร์น ยูเนี่ยนเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่เล่นเดิมพันโดยไม่ได้คำนึงว่ามูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทที่แท้จริงนั้นต่ำกว่ามูลค่าที่บริษัทอ้าง ซึ่งโซรอสก็เข้าใจดีและถือหุ้นในเวสเทิร์น ยูเนี่ยน แบบ ชอร์ต โพซิทชั่น จำนวนหนึ่งล้านหุ้น ซึ่งทำให้กองทุนมีกำไรหลายล้านดอลลาร์ทีเดียว
โซรอสเชื่อว่า นโยบายของเรแกนต่อเงินดอลลาร์จะนำไปสู่ลำดับขั้นของการตกต่ำในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น/ขาลงในที่สุด แม้จะดูเหมือนว่าประธานาธิบดีสหรัฐมีเหตุผลดีในการรักษาค่าเงินดอลลาร์ให้สูงไว้ แต่เขาก็มีเหตุผลที่ดีกว่าที่จะต้องลดค่าเงิน
การทดสอบครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกของโซรอสเกิดขึ้นในวันที่ 6 กันยายน ปี 1985 โดยเขาได้เดิมพันว่าเงินมาร์กและเงินเยนจะขยับตัวสูงขึ้น แต่ปรากฏว่ามันกลับลดลง แม้ว่าเขาจะสูญเสียเงินไปบางส่วนแต่ก็ยังมั่นใจว่าสถานการณ์จะพิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อของเขาถูกต้อง ดังนั้นโซรอสจึงเพิ่มการลงทุนในสกุลเงินทั้งสองกว่า 800 ล้านดอลลาร์ หรือสูงกว่ามูลค่าของกองทุนควันตั้มประมาณ 200 ล้านดอลลาร์
และแล้วรัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้ตัดสินใจทำให้ค่าเงินดอลลาร์ลดลงด้วยการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ข้อตกลงพลาซ่า” หนึ่งวันหลังจากประกาศข้อตกลงดังกล่าว ค่าเงินดอลลาร์ลดลงจาก 239 เยน เป็น 222.5 เยน หรือ 4.3 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการลดลงของค่าเงินที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความยินดีของโซรอส เพราะเขาสามารถทำเงินได้ถึง 40 ล้านดอลลาร์ในชั่วข้ามคืน ซึ่งโซรอสได้เรียกข้อตกลงพลาซ่าว่า “การทำกำไรสูงสุดครั้งหนึ่งในชีวิต”
ในปลายเดือนตุลาคม ค่าเงินดอลลาร์ลดลง 13 เปอร์เซ็นต์ เหลือที่ระดับ 205 เยน เดือนกันยายน ปี 1986 ลดลงมาที่ระดับ 153 เยน สรุปแล้วค่าเงินตราต่างประเทศเทียบกับดอลลาร์สูงขึ้นประมาณ 24-28 เปอร์เซ็นต์ โซรอสได้ทุ่มเงินเดิมพันประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ โดยเขาใช้เงินที่กู้ยืมมาเพื่อลงทุนซื้อเงินมาร์กและเยนมากขึ้น นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดเพราะในเวลาต่อมาเขาสามารถทำกำไรถึง 150 ล้านดอลลาร์
ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน กองทุนควันตั้มเติบโตขึ้นเป็น 850 ล้านดอลลาร์ ปี1985 คือปีแห่งความมหัศจรรย์สำหรับโซรอส เมื่อเทียบกับปี 1984 กองทุนควันตั้มเติบโตด้วยอัตราที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งคือ 122.2 เปอร์เซ็นต์ สินทรัพย์ของกองทุนเพิ่มขึ้นจาก 448.9 ล้านดอลลาร์ ตอนสิ้นปี 1984 เป็น 1.003 พันล้านดอลลาร์ตอนสิ้นปี 1985 หรือเกือบสี่เท่าของดัชนีดาวโจนส์
เรียกว่าสถิติโดยรวมของโซรอสโดดเด่นมากทีเดียว เงินหนึ่งดอลลาร์ที่ลงทุนกับกองทุนของเขาในปี 1969 เพิ่มมูลค่าเป็น 164 ดอลลาร์ในตอนสิ้นปี 1985 หลังจากหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแล้ว ในขณะที่เงินดอลลาร์เดียวกันที่ลงทุนในดัชนีหุ้น 500 ของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ภายในช่วงเวลาเดียวกัน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาเป็น 4.57 ดอลลาร์เท่านั้น สรุปแล้วปีนั้นทั้งปีเขามีรายได้ทั้งสิ้น 93.5 ล้านดอลลาร์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *