กรมศุลฯ ติดอาวุธรับมือการค้า รื้อระบบเสริมอิเล็กทรอนิกส์เต็มขั้น

กรมศุลฯ ติดอาวุธรับมือการค้า รื้อระบบเสริมอิเล็กทรอนิกส์เต็มขั้น

กรมศุลกากรเสริมทัพขับเคลื่อนส่งออกนำเข้า ชูอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ-ไร้เอกสาร เพิ่มความสะดวกรวดเร็วและลดขั้นตอนซ้ำซ้อน ด้านผู้ประกอบการเร่งรัฐเชื่อมระบบเป็นหนึ่งก้าวสู่ Single Window
หลังกรมศุลกากรประกาศยกเครื่องระบบการทำงานทั้งกระบวน เพื่อมุ่งเสริมการนำเข้าส่งออกและช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ ด้วยการเสริมทัพด้วยระบบไฮเทคโนโลยี ที่ช่วยลดขั้นตอนทำให้การดำเนินพิธีการศุลกากรรวดเร็วขึ้น พร้อมบูรณาการการนำเข้าส่งออกทั้งหมดปรับเปลี่ยนการทำงานให้เป็นกระบวนการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ One Stop Service ศูนย์กลางเชื่อมโยงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผู้ส่งออกนำเข้า นอกจากนี้ยังวางเป้าหมายภายในปีหน้าจะพัฒนาไปสู่ระบบ Single Window เชื่อมโยงกระบวนการ ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้มาตรฐานเดียวกันให้มาอยู่ในหน้าต่างเดียว เป็นกระบวนการนำเข้า-ส่งออกที่สมบูรณ์แบบ

ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรไทยนับว่าเป็นหน่วยงานที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในการนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ ที่ช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น สามารถดำเนินพิธีการศุลกากรโดยผ่านสื่อที่เรียกว่าอิเล็กทรอนิกส์ ภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที จากอดีตที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเกือบ 1 วัน

เมื่ออุตสาหกรรมมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ทำให้เรื่องเวลา เรื่องโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ ซึ่งกรมศุลกากรเป็นประตูแรกที่สินค้าจากต่างประเทศจะเข้ามา และเป็นด่านแรกของสินค้าที่จะส่งออกโดยที่ช่วยเสริมให้การส่งออกมีความคล่องตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ประกาศเปลี่ยนแปลง 3 ส่วนหลัก สู่ E-Customs อันประกอบด้วย ด้านมาตรฐาน หรือด้านเทคนิค ในการส่งข้อมูลจาก EDI เป็น ebXML เปลี่ยนกระบวนการนำเข้าและส่งออกนำมาบูรณาการรวมกัน และสุดท้ายคือการพัฒนาสู่ระบบศุลกากรไร้เอกสาร
นักวิชาการชี้รัฐต้องปรับปรุงกฎระเบียบการนำเข้า-ส่งออก
จากการสำรวจของ World Bank and The International Final Corporation 2006 ระบุว่าประเทศเดนมาร์กติดอับดับ 1 ประเทศที่มีประสิทธิภาพการนำเข้าส่งออกดีที่สุดในโลก ส่วนประเทศไทยติดอับที่ 88 ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ขึ้นอันดับ 1 ของเอเชีย เรื่องนี้ ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ให้ความเห็นว่า จากการสำรวจดังกล่าวทางของ World Bank and The International Final Corporation ได้สำรวจวัดประสิทธิภาพการนำเข้าส่งออกจากจำนวนลายเซ็นที่เซ็นในเอกสาร ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งหมด และวัดประสิทธิภาพจากเอกสารที่ใช้แนบในการนำเข้าส่งออก

ทั้งนี้ ประเทศไทยติดอับดับที่ 88 ของโลก โดยใช้เวลาในการส่งออกทั้งสิ้น 23 วัน ใช้ลายเซ็น 10 ลายเซ็น และใช้เอกสารโดยเฉลี่ย 9 ใบ สำหรับการนำเข้านั้นประเทศไทยใช้เวลาทั้งหมด 25 วัน ใช้ลายเซ็น10 ลายเซ็น และใช้เอกสารทั้งหมดประมาณ 14 ใบ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของทุกสินค้า โดยเวลานั้นรวมทุกขั้นตอนตั้งแต่ก่อนที่ของจะมาถึงท่าเรือ เวลาในการติดต่อประสานงาน เวลาที่ดำเนินการในท่าเรือการปฏิบัติการในท่าเรือ เวลาในการดำเนินพิธีการศุลกากรรวมถึงการตรวจสอบเอกสาร และเวลาทั้งหมดที่ใช้ในการเดินทางในประเทศ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ใช้ลายเซ็นเพียง 2 ลายเซ็น ใช้เอกสาร 6 ใบ และใช้เวลาในการดำเนินการทั้งหมด 6 วันเท่านั้น สำหรับค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียในการดำเนินการนำเข้าส่งออกเรื่องลายเซ็นประเทศเอเชียมีค่าเฉลี่ยที่ 7 ลายเซ็น ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วจะอยู่ที่ 3 ลายเซ็น

“หากประเทศไทยจะพัฒนาการนำเข้าส่งออก ที่สำคัญที่สุดคือภาครัฐต้องพัฒนาคือเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบขั้นตอน ให้เอกชนทำงานง่ายขึ้น โดยเน้นที่การพัฒนาพิธีการส่งออกนำเข้าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดภาระในการแนบเอกสารและการกรอกเอกสารต่างๆ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและเอกชน ซึ่งการทำให้ทุกอย่างผ่านอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น และผู้ประกอบการสามารถทำงานนอกเวลาทำการของรัฐได้ นอกจากนี้ภาครัฐต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคือเรื่องเวลาในการตรวจสอบเอกสารและเวลาในการตรวจสอบสินค้า ที่ปัจจุบันใช้เวลานานมาก ทำให้กระบวนการเกิดความล่าช้า ถึงแม้ว่าในวันนี้การกรอกเอกสารจะเร็วขึ้น แต่หากยังใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารนาน ก็ส่งผลให้ขั้นตอนในการดำเนินงานยังล่าช้าเหมือนเดิม” ดร.พงษ์ชัย กล่าว
ผู้ประกอบการระบุกรมศุลฯ พัฒนาก้าวกระโดด
ด้านผู้ประกอบการต่างออกมายอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่าระบบการทำงานของกรมศุลกากรพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ติดอันดับ 1 ใน 3 ของหน่วยงานราชการที่มีการปรับเปลี่ยนเรื่องระบบการบริหาร และระบบให้บริการชั้นแนวหน้า แต่อย่างไรก็ตามการส่งเสริมการส่งออกไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรมศุลกากรเพียงหน่วยงานเดียว ดังนั้นการพัฒนาอย่างถูกจุด คือต้องเชื่อมโยงระบบกับหน่วยงานรัฐด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินการของผู้ส่งออกรวดเร็ว ทั้งช่วยประหยัดต้นทุนในการดำเนินการได้อีกมาก…

ในฐานะของผู้ที่คร่ำหวอดในวงการ ได้ออกมายอมรับว่ากรมศุลกากรของไทยมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ที่ช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการทำงานได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น คุณสมบูรณ์ เจือเสถียรรัตน์ กรรมการบริหาร บริษัท ไทยการ์เมนต์เอ๊กซปอร์ต จำกัด และในฐานะนายกสมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับบัตรทอง ได้แสดงความเห็นว่า ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของกรมศุลกากรกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น E-export, e-import, e-warehouse, e-transfer และระบบไร้เอกสาร ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ นอกจากนี้การนำระบบไอทีดังกล่าวมาใช้ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถลิงค์เพื่อดูระบบของผู้ส่งออกนำเข้าได้อย่างเรียลไทม์ เชื่อว่าเมื่อระบบการทำงานของกรมศุลกากรสามารถใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้การค้าขายระหว่างประเทศมีการพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น

โดยรวมแล้วในฐานะผู้ใช้บริการมองว่าปัจจุบันกรมศุลกากรช่วยส่งเสริมการนำเข้าและส่งออก ทั้งเรื่องภาษีการนำเข้าส่งออก และช่วยผู้ส่งออกในเรื่องการวางเงินค้ำประกันวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิต เพื่อการส่งออกตามมาตรา 19 ทวิ ที่ได้ลดเงินวางประกันลงเหลือเพียง 5 % สำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับบัตรทอง

คุณสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ในฐานะผู้ใช้บริการเห็นว่าการทำงานของกรมศุลกากรพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะดวกรวดเร็ว เรื่องวิสัยทัศน์ในการที่จะปรับองค์กรให้ทันสมัยในการใช้เครื่องมือต่างๆ เรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงมีพึงให้ แต่ยังติดขัดเรื่องขอบเขตที่อาจจะถูกกำหนดหรือถูกจำกัด เนื่องจากกฎหมายกรมศุลกากรยังล้าหลังมาก ซึ่งในฐานะผู้ใช้บริการเห็นว่ารัฐควรจะทบทวนกฎหมายให้ทันต่อการค้ายุคใหม่

“ระบบการทำงานของกรมศุลกากรไทยไม่ได้แพ้ฮ่องกงหรือสิงคโปร์ แต่ในเรื่องความโปร่งใสยังพูดได้ไม่เต็มปาก 100 % เพราะเป็นเรื่องวัฒนธรรมที่เก่าแก่ แต่การทำงานของศุลกากรในปัจจุบันบอกได้ว่าการเรียกร้องลักษณะนี้น้อยลง มีความโปร่งใสขึ้น”คุณสมบูรณ์ กล่าว

นอกจากนี้หากศุลกากรต้องการสนับสนุนส่งเสริมการนำเข้าส่งออก ควรให้เจ้าหน้าที่ทำงาน 24 ชั่วโมงอย่างแท้จริง โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่เจ้าหน้าที่ เชื่อว่าจะสามารถลดต้นทุนผู้ประกอบการได้ แม้ว่าขณะนี้ทางกรมจะประกาศว่าทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แต่ผู้ประกอบการต้องมาจ่ายค่าล่วงเวลาแก่เจ้าหน้าที่ในการใช้บริการนอกเหนือเวลาทำงานปกติ ในขณะที่ศุลกากรในต่างประเทศให้เจ้าหน้าที่ทำงาน 24 ชั่วโมงอย่างแท้จริง โดยผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาไม่ว่าจะใช้บริการช่วงเวลาใด ค่าธรรมเนียมหรือวิธีปฏิบัติก็เสมือนหนึ่งใช้บริการเวลาเดียวกัน

กรมศุลกากรของไทยมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะเรื่องระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความสะดวกมากขึ้น เห็นว่าในการดำเนินพิธีการศุลกากรไม่ใช่เรื่องยากหากผู้ส่งออกนำเข้ามีความรู้เรื่องนี้ และศึกษาเตรียมความพร้อมล่วงหน้าว่ามีเอกสารที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดและเตรียมความพร้อมเสมอ คุณวิเชียร กาญจนวิไล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ้าท์อีสท์ โลจิสติกส์ จำกัด ในฐานะผู้ชำนาญการศุลกากร กล่าว

ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องการดำเนินพิธีการส่งออกไม่ยาก แต่สิ่งที่มีปัญหาคือเรื่องมุมน้ำเงินที่ลูกค้าต้องการใช้สิทธิ์เรื่องการขอเงินชดเชยที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการค่อนข้างนาน เนื่องจากในกระบวนการของศุลกากรนั้น ใบขนจะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการรับบรรทุก ซึ่งหมายความว่าทางศุลกากรรับรองว่าสินค้าได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถให้สิทธิต่างๆ ได้

“การดำเนินพิธีการศุลกากรในปัจจุบันใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที จากที่กรมศุลกากรได้นำระบบอีดีไอเข้ามาใช้การส่งข้อมูล ซึ่งกระบวนการดำเนินพิธีการส่งออกที่ล่าช้าไม่ได้เกิดจากการทำพิธีการ แต่เกิดจากการดำเนินการอื่น เช่น การขอเงินชดเชย การคืนอากรวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิต ฯลฯ เนื่องจากในการนำเข้าส่งออกนั้น ผู้ประกอบการไม่ได้ติดต่อกับกรมศุลกากรเพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้น แต่ยังมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นเหตุให้กระบวนการล่าช้า ดังนั้นรัฐควรเร่งดำเนินการพัฒนาระบบ One Stop Service เพื่อช่วยให้ขั้นตอนการทำงานลดลงและช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และฮ่องกงต่างพัฒนาระบบไปไกลกว่าประเทศไทยมาก” คุณวิเชียร และคุณสุวิทย์ รัตนจินดา นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ต่างแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้คุณสุวิทย์ ยังกล่าวแสดงความเห็นต่อว่า กรมศุลกากรมีการพัฒนาระบบการทำงานมากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากการนำระบบไอทีเข้ามาใช้ในการทำงานตั้งแต่การนำอีดีไอเข้ามาใช้ และขณะนี้ได้เปลี่ยนจากระบบอีดีไอมาใช้ระบบ ebXML ที่จะทำให้สามารถทำงานได้สะดวก เนื่องจากเป็นระบบเปิดสามารถทำงานได้ง่าย ซึ่งระบบนี้จะช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกในการทำงานมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับระบบศุลกากรไร้เอกสาร โดยผู้ประกอบการต้อง เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ให้บุคลากรเรียนรู้ ทำความเข้าใจในระบบ Paperless และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ต้องเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ติดตั้งโปรแกรมรองรับ e-Customs ทั้งต้องเตรียมความพร้อมเรื่องการลงลายมือชื่อดิจิตอล (Digital Signing) สมัครขอใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) จากผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certificate Authority: CA) และเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบจัดเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องมีการสำรองข้อมูล (Backup) ไว้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน

ศุลกากรพลิกโฉมเทียบชั้นสากล
ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรเป็นกรมที่มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องระบบการบริหาร และระบบการให้บริการชั้นแนวหน้า ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้า และให้เป็นไปตามกฎของกรมศุลกากรโลก ทั้งปัจจุบันประเทศไทยเน้นเรื่องการส่งออก เพื่อที่จะให้มีเงินตราในต่างประเทศไหลเข้าสู่ประเทศมากขึ้น ดังนั้นระบบราชการในอนาคตจะถูกกำหนดให้มีรูปแบบที่เล็กลง โดยที่การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดังนั้น กรมศุลกากรจึงได้ปรับโฉมเปลี่ยนรูปลักษณ์องค์กร ตั้งแต่การนำระบบไอทีเข้ามาใช้ อีกทั้งเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อผู้นำเข้าและผู้ส่งออก นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ EPZ โดยเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีการตั้งเขตปลอดภาษี ที่เป็นพื้นที่ๆ อนุญาตให้นำเข้าวัตถุดิบโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ทั้งนี้ อาจเป็นการนำเข้าเพื่อส่งไปยังประเทศที่สาม หรือนำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าสำหรับส่งออกตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าของประเทศนั้น ๆ ให้สามารถส่งออกไปขายแข่งกับตลาดโลกได้มากขึ้น

“แนวคิดของกรมศุลกากรที่เริ่มเปลี่ยนไปและฉีกแนวออกไป นับเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมทั่วโลกมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ดังนั้นเรื่องต้นทุน เรื่องเวลา และเรื่องโลจิสติกส์และซัพพลายเชนจึงเป็นกลไกที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าในระบบการค้าต่างประเทศไม่มีระบบกรมศุลกากรในการกำกับดูแลแล้ว เชื่อว่าธุรกิจไม่สามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้” คุณสมบูรณ์ กล่าว

ปัจจุบันกรมศุลกากรไม่ได้ทำเพียงเรื่องการจัดเก็บภาษี แต่กรมศุลกากรเป็นประตูแรกที่จะให้สินค้าต่างประเทศเข้ามา เพราะฉะนั้นในเรื่องของภาษีเป็นหน้าที่หลัก ส่วนหน้าที่รองคือการที่จะป้องกันและปกป้องสิทธิของคนในประเทศคือ ปกป้องไม่ให้สินค้าที่เข้ามาแล้วจะทำลายเศรษฐกิจหรือสภาพแวดล้อมของประเทศ รวมถึงการนำเข้าสินค้าหนีภาษีหรือสินค้าที่เป็นอันตราย เหล่านี้ล้วนเป็นหน้าที่ของกรมศุลกากรทั้งสิ้น นอกจากนี้กรมศุลกากรยังทำหน้าที่ส่งเสริมให้การส่งออกมีความคล่องตัวภายใต้ต้นทุนต่ำ อย่างเช่นหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าระบบพิธีการตรวจของกรมศุลกากรในเรื่องขาออกจากเดิมที่เคยเปิดตรวจทุกตู้คอนเทนเนอร์ ได้ปรับวิธีการตรวจเป็นแบบสุ่มตรวจ หลังจากนั้นได้เปลี่ยนจากวิธีสุ่มตรวจมาเป็นดูเอกสาร และให้มีการ Random ที่จะไปเช็ค ส่งผลให้การส่งออกคล่องตัวมากขึ้น

นอกจากการพัฒนาของศุลกากรในประเทศไทยแล้ว ขณะนี้ทั่วโลกได้ตื่นตัวเรื่องระบบไร้เอกสารสื่อสารข้อมูลผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง คุณสุวิมล บัวเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมมาตรฐานและพัฒนาการตลาดบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงการดำเนินพิธีการศุลกากรนำเข้าส่งออกในการขนส่งสินค้าทางอากาศว่า ขณะนี้ทาง IATA สมาคมการบินระหว่างประเทศ ได้มีแนวคิดว่าต้องการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ โดยเน้นทางด้านเอกสาร เนื่องจากเรื่องเอกสารมีความสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนได้ เพราะหากเอกสารผิดผู้ประกอบการต้องมีค่าใช้จ่ายที่ปลายทางจำนวนมาก ทำให้ทาง IATA มีความคิดเรื่อง e-logistics คือให้ e-freight ในด้านสายการบิน โดยขอความร่วมมือกับทางศุลกากรโลกให้ทุกประเทศเลิกการใช้กระดาษ ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการส่งออกนำเข้าอย่างมาก นอกจากนี้การที่ทุกประเทศใช้ระบบค้าขายในมาตรฐานเดียวกัน จะส่งผลให้เกิดการถ่ายเทข้อมูลได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

คาดว่าระบบ E-logistics นี้จะสามารถใช้ได้เต็มรูปแบบในปี 2010 ซึ่งจะช่วยให้มีการค้าขายกันได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศล้วนมีข้อจำกัดของตัวเอง ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบดังกล่าวได้ แต่สำหรับประเทศที่สามารถนำระบบนี้มาใช้ได้ก่อน ประเทศเหล่านั้นก็จะรวมตัวค้าขาย ส่วนประเทศที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบดังกล่าวก็อาจจะค้าขายได้เฉพาะกับประเทศที่ไม่เป็นมืออาชีพเหมือนกัน ส่งผลให้ในอนาคตตลาดค้าขายของประเทศที่ยังไม่พัฒนาระบบหดหาย เนื่องจากในระบบการค้าไม่สามารถเทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
“ไอบีเอ็ม”ชูกลยุทธ์มาตรฐานศุลกากรโลก
ไอบีเอ็มได้นำเอากลยุทธ์ระดับโลกเกี่ยวกับการใช้กรอบมาตรฐานขององค์การศุลกากรโลก (WCO) ว่าด้วยความปลอดภัยในการอำนวยความสะดวกสำหรับการค้าของโลกมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางด้านซัพพลายเชนของบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือทำให้การค้าของโลกมีมาตรฐานเดียวกัน และมีความสามารถที่จะคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้าในกระบวนการค้าของโลก ด้วยการสร้างเสริมความปลอดภัยให้กับห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชนจากต้นทางไปสู่ปลายทางและการอำนวยความสะดวกให้กับสินค้าถูกกฎหมายในการผ่านพิธีการศุลกากร

เนื่องจากไอบีเอ็มมีธุรกิจทั่วโลกจึงไม่ต้องการให้มาตรการด้านความปลอดภัยไปสร้างความซับซ้อนให้แก่ซัพพลายเชนกลุ่มการค้าในแต่ละประเทศ ดังนั้นการรับนโยบายและวิธีการบริหารงานทั่วทั้งหน่วยงานศุลกากรด้วยการปฏิบัติที่เป็นแบบเดียวกัน จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและภาครัฐทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับและลดต้นทุนต่างๆ เช่น เมื่อผู้ค้าปฏิบัติตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยให้กับซัพพลายเชนของตัวเอง จะส่งผลให้รัฐไม่ตรวจสินค้าถ้าไม่จำเป็น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเหล่านี้ได้รับประโยชน์เพราะสามารถนำสินค้าผ่านพิธีการทางศุลกากรได้เร็วกว่าเดิม

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ 2 ข้อของกระบวนการซัพพลายเชนคือ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยในระบบซัพพลายเชน และการอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจที่เป็นสิ่งเสริมกันและกัน ซึ่งวิธีหลักวิธีหนึ่งที่รัฐบาลสามารถสร้างความมั่นใจว่าการเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยดังกล่าว จะช่วยเสริมเรื่องการอำนวยความสะดวกในการค้า คือ การจัดตั้งสิ่งที่เป็นข้อกำหนดร่วมกันในภูมิภาคที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน (หรือที่เหมือนกับมาตรฐานของโลก) โดยที่จริงแล้วความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาและการดำเนินการร่วมกัน โดยใช้โครงงานและข้อกำหนดร่วมกัน จะทำให้เกิดโอกาสที่จะเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้าและลดต้นทุน ยกตัวอย่างเช่น การทำให้ข้อกำหนดของบริษัทในการจัดหาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของสินค้าให้กับทางการเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน เพื่อใช้หาจุดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในขบวนการซัพพลายเชนของตน
ไอบีเอ็มเป็นบริษัทหนึ่งที่มีบทบาทในการพัฒนากรอบดังกล่าว และขณะนี้ Mr.Theo Fletcher Vice President, Import Compliance and Supply Chain Security, IBM Corporation ได้เป็นผู้แทนไอบีเอ็มในคณะที่ปรึกษาจากภาคเอกชนขององค์กรศุลกากรโลก ที่เพิ่งจัดตั้งเมื่อไม่นานมานี้ โดยคณะที่ปรึกษาดังกล่าวได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเสนอความเห็นจากมุมมองของธุรกิจ เพื่อช่วยในการพัฒนาและขยายขอบเขตของกรอบดังกล่าวในขณะกำลังเข้าสู่ช่วงการดำเนินการ นอกจากนี้ไอบีเอ็มยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมคุณค่าของกรอบมาตรฐานดังกล่าว โดยผ่านทางเวทีการค้าระดับโลกหลายแห่ง เช่น เอเปค และอาเซียน รวมทั้งในระดับทวิภาคีกับประเทศที่เป็นซัพพลายเชนหลักๆ ของบริษัท อันที่จริงแล้วการที่ไอบีเอ็มดำเนินการทั่วโลก ทำให้บริษัทมีมุมมองที่ไม่เหมือนใครในเรื่องการนำเอากรอบมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางด้านความปลอดภัยของซัพพลายเชนโดยทั่วไป

ความมั่นคงความปลอดภัยของซัพพลายเชนไม่ใช่เป็นแค่ต้นทุนในการทำธุรกิจ แต่ยังเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างในแง่ของความสามารถในการแข่งขัน และบริษัทที่เข้าใจในเรื่องนี้จะกลายเป็นผู้นำในยุคที่การทำธุรกิจเป็นเรื่องของการหาสินค้าให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค ในสภาพธุรกิจปัจจุบันที่การแข่งขันทั่วโลกสูงมาก ทำให้บริษัทต้องวางแผนหากมีเหตุการณ์ที่ทำให้กระบวนการซัพพลายเชนขัดข้อง หรือมีความเสี่ยงในการสูญเสียลูกค้า ซึ่ง C-TPAT และโปรแกรมอื่นๆ ที่มีเป้าหมายในการรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการก่อการร้ายเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการแบบองค์รวมของบริษัทในการลดความเสี่ยงที่หลากหลาย ทั้งนี้เพื่อให้ซัพพลายเชนของตนยังสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในกรณีที่เหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

วิธีการของไอบีเอ็มที่จะทำให้ซัพพลายเชนมีความปลอดภัยมากกว่าเดิมนั้น ไอบีเอ็มเล็งเห็นความสำคัญในการปฏิบัติตามโปรแกรม C-TPAT การจัดทำโครงการนำร่องในการนำเทคโนโลยี RFID มาใช้ในยุโรป เพื่อใช้ติดตามพัสดุภัณฑ์บนเส้นทางรถบรรทุกที่ใช้เวลา 36 ชั่วโมงในการขนไปยังคลังสินค้าของไอบีเอ็ม นอกจากนี้ยังใช้ GPS ในการติดตามสินค้า การวัดขนาดและน้ำหนักของรถบรรทุกขณะออกจากท่าและเมื่อมาถึง

สำหรับกรอบขององค์การศุลกากรโลก (WCO) แบบใหม่ จะมีพื้นฐานมาจากองค์ประกอบหลัก 4ประการคือ กรอบจะนำข้อกำหนดด้านข้อมูลสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ล่วงหน้ามาจัดทำให้มีมาตรฐานเดียวกัน สำหรับการขนสินค้าขาเข้าและขาออกและการถ่ายลำ กรอบมีการกำหนดให้มีการใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับปัญหาการก่อการร้ายและปัญหาด้านความปลอดภัยอื่นๆ สำหรับแต่ละประเทศที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามกรอบ นอกจากนี้กรอบดังกล่าวกำหนดว่า เมื่อประเทศที่ได้รับสินค้ายื่นคำร้องโดยเป็นไปตามวิธีการกำหนดเป้าหมายความเสี่ยง ศุลกากรของประเทศที่ส่งสินค้าจะต้องตรวจสอบคอนเทนเนอร์สินค้าขาออกที่มีความเสี่ยงสูง โดยใช้อุปกรณ์ตรวจจับที่ไม่ทะลุทะลวงตัวสินค้า เช่น เครื่องเอ็กซเรย์ขนาดใหญ่และเครื่องรังสี พร้อมทั้งกรอบดังกล่าวรับทราบว่าความร่วมมือในรูปของหุ้นส่วนระหว่างศุลกากรและธุรกิจตลอดจนรัฐบาล เช่นในกรณี C-TPAT ให้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยของซัพพลายเชนขั้นต่ำสุดและแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง

ประโยชน์สำหรับ IBM คือสามารถที่จะผ่านการตรวจสอบจากศุลกากรได้รวดเร็วกว่าปกติ โดยการใช้ Green Lane/Fast Lane (ช่องหรือเลนสีเขียวผ่านตลอด/ช่องหรือเลนด่วน) นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่สามารถประหยัดเงินเป็นล้านๆ ดอลลาร์ จากการปรับปรุงระบบ เพื่อลดความเสียหายจากการถูกโจรกรรมสินค้า ที่มีมูลค่าประมาณถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี พร้อมได้ร่วมพัฒนาค่าตัววัดต่างๆ ทางด้านซัพพลายเชนจากการทำงานกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ทั้งนี้ หากให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแล้ว ผู้ประกอบการส่งออกในฐานะผู้ใช้บริการโดยตรง ต้องเตรียมตัวรับมือสร้างความเข้าใจและเรียนรู้ เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากระบบใหม่ที่กำลังเข้ามาได้อย่างเต็มที่ …

พิธีการส่งออก
ในการส่งออกสินค้าผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่กรมศุลกากรและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการส่งออกกำหนดไว้ให้ครบถ้วน พร้อมทั้งจัดเตรียมเอกสาร และปฏิบัติตามขั้นตอนพิธีการศุลกากรในการส่งออกสินค้า

1. เอกสารที่ผู้ส่งออกควรจัดเตรียมในการส่งออกสินค้า
(1) ใบขนสินค้าขาออก ประกอบด้วยต้นฉบับและสำเนา 1 ฉบับ
(2) บัญชีราคาสินค้า (Invoice) 2 ฉบับ
(3) แบบธุรกิจต่างประเทศ (Foreign Transaction Form) : ธต. 1 จำนวน 2 ฉบับ กรณีสินค้าส่งออกมีราคา FOB เกิน 500,000 บาท
(4) ใบอนุญาตส่งออกหรือเอกสารอื่นใดสำหรับสินค้าควบคุมการส่งออก
(5) เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี)
2. ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการส่งออกสินค้า
(1) ผู้ส่งออกหรือตัวแทนส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกและบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ทุกรายการจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ส่งออกหรือตัวแทนมายังเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร โดยผ่านบริษัทผู้ให้บริการระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์
(2) เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรตรวจสอบข้อมูลในใบขนสินค้าขาออกส่งมาถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะออกเลขที่ใบขนสินค้าขาออกและตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ เพื่อจัดกลุ่มใบขนสินค้าขาออกเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้และแจ้งกลับไปยังผู้ส่งออกหรือตัวแทน เพื่อจัดพิมพ์ใบขนสินค้า
1 ใบขนสินค้าขาออกที่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Red Line) สำหรับใบขนสินค้าประเภทนี้ ผู้ส่งออกหรือตัวแทนต้องนำใบขนสินค้าไปติดต่อกับหน่วยงานประเมินอากรของท่าที่ผ่านพิธีการ
2 ใบขนสินค้าขาออกที่ไม่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Green Line) สำหรับใบขนสินค้าขาออกประเภทนี้ ผู้ส่งออกสามารถชำระค่าอากร (ถ้ามี) และดำเนินการนำสินค้าไปตรวจปล่อยเพื่อส่งออกได้เลยโดยไม่ต้องไปพบเจ้าหน้าที่ประเมินอากร

3. ข้อควรทราบเพิ่มเติมในการส่งออกสินค้า
(1) ถ้าสินค้าที่ส่งออกเป็นสินค้าที่ผู้ส่งออกประสงค์จะนำกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกภายในหนึ่งปีโดยขอยกเว้นอากรขาเข้า ให้เพิ่มคู่ฉบับใบขนสินค้าขาออกอีกหนึ่งฉบับเพื่อใช้เป็นหลักฐานที่เรียกว่า “ใบสุทธินำกลับ” เพื่อเป็นหลักฐานในการนำสินค้ากลับเข้ามา
(2) การส่งน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ผลิตในราชอาณาจักรไปจำหน่ายยังต่างประเทศและผู้ส่งออกต้องการขอคืนภาษีน้ำมันของกรมสรรพสามิต ให้เพิ่มคู่ฉบับใบขนสินค้าขาออกอีกหนึ่งฉบับและเขียนหรือประทับตรายางมีข้อความว่า “ขอคืนภาษีน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์น้ำมัน” ไว้ตอนบนใบขนสินค้าขาออกและคู่ฉบับ
(3) สำหรับท่ากรุงเทพ การส่งสินค้า Re-Export ไปยังประเทศ สปป.ลาวและประสงค์จะขอคืนอากรขาเข้า ให้เพิ่มคู่ฉบับใบขนสินค้าขาออก อีกหนึ่งฉบับแนบติดกับต้นฉบับใบขนสินค้าขาออกด้วย
(4) การส่งออกที่ผู้ส่งออกประสงค์จะได้เอกสารส่งออกจากกรมศุลกากรเพื่อขอรับเงินชดเชยอากร จะต้องยื่นคู่ฉบับใบขนสินค้าขาออกอีกหนึ่งฉบับ ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีสีน้ำเงินที่มุมทั้ง 4 มุม
(5) สินค้าส่งออกที่ขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ จะต้องยื่นใบแนบใบขนสินค้าขาออก เพื่อขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ

4. แผนผังแสดงขั้นตอนการส่งออกสินค้า

พิธีการนำเข้า
ในการนำเข้าสินค้า ผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่กรมศุลกากรและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการนำเข้า อาทิ กระทรวงพาณิชย์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมปศุสัตว์ ฯลฯ ที่กำหนดไว้ให้ครบถ้วน โดยมีคำแนะนำในการจัดเตรียมเอกสารและปฏิบัติตามขั้นตอนพิธีการศุลกากรในการนำเข้าสินค้า ดังนี้
1 เอกสารที่ควรจัดเตรียมในการนำเข้าสินค้า
(1.1) สำหรับพิธีการชำระอากร พิธีการวางประกัน พิธีการขนถ่ายข้างลำ พิธีการคลังสินค้า ทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร ต้องมีเอกสารประกอบ ได้แก่
(1) ต้นฉบับใบขนสินค้าขาเข้า (กศก. 99/1) พร้อมสำเนา 1 ฉบับ เว้นแต่กรณีที่กรมศุลกากรกำหนดให้มีการจัดทำคู่ฉบับเพิ่ม เช่น สำหรับ การนำเข้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน กรณีดังกล่าวต้องมีสำเนาใบขนสินค้าขาเข้า 2 ฉบับ
(2) ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading or Air Waybill)
(3) บัญชีราคาสินค้า (Invoice)
(4) แบบธุรกิจต่างประเทศ (ธ.ต.2)(Foreign Transaction Form) กรณีมูลค่าของนำเข้าเกินกว่า 500,000 บาท
(5) แบบแสดงรายละเอียดราคาศุลกากร (กศก. 170)
(6) ใบสั่งปล่อยสินค้า (กศก.100/1)
(7) บัญชีรายละเอียดบรรจุหีบห่อ (Packing List)
(8) ใบแจ้งยอดเบี้ยประกัน (Insurance Premium Invoice)
(9) ใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตสำหรับสินค้าควบคุมการนำเข้า
(10) ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) กรณีขอลดอัตราอากร
(11) เอกสารอื่น ๆ เช่น เอกสารแสดงส่วนผสม คุณลักษณะและการใช้งานของสินค้า แค็ดตาล็อก เป็นต้น

(1.2) พิธีการหลายเที่ยวเรือ ต้องเพิ่มพิมพ์เขียว (BLUE PRINT) แบบแปลน แบบพิมพ์ หรือเอกสารประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาให้ทำใบขนสินค้าหลายเที่ยวเรือ
(1.3) พิธีการขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิต้องเพิ่มสำเนาใบขนสินค้าขาเข้า (กศก.99/1) อีก 1 ฉบับ
(1.4) พิธีการส่งเสริมการลงทุนต้องเพิ่มหนังสืออนุมัติให้ยกเว้นหรือลดหย่อนอากรจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(1.5) พิธีการคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ต้องเพิ่มเอกสารดังนี้ คือ
(1) คำขออนุญาตนำของเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป (แบบที่ 369)
(2) คำขออนุญาตนำของเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด
(1.6) พิธีการคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า กรณีนำเข้าโดยผู้อื่นที่มิใช่ผู้รับอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า ต้องเพิ่ม คำขออนุญาตนำของเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า
(1.7) พิธีการสินค้าส่งกลับ (RE-EXPORT)
กรณีอยู่ในอารักขาของศุลกากร ต้องเพิ่มเอกสารดังนี้ คือ
(1) คำร้องขอผ่อนผันทำใบขนสินค้าส่งกลับ (RE-EXPORT) ชำระอากร 1 ใน 10
(2) ใบขนสินค้าขาออก (กศก.101/1) พร้อมเอกสารประกอบ
(1.8) พิธีการนำของออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก (EPZ) ต้องเพิ่มเอกสารดังนี้ คือ
(1) แบบ กนอ.02-1 กรณีสินค้านำเข้าเป็นวัตถุดิบ
(2) แบบ กนอ.02-1 และ กนอ.101 กรณีสินค้านำเข้าเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องมือและ
เครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของสินค้าดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตสินค้าหรือการค้าเพื่อส่งออก
2. ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้า
(1) ผู้นำเข้าหรือตัวแทนบันทึกข้อมูลบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ทุกรายการเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองหรือผ่าน Service Counter โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะแปลงข้อมูลบัญชีราคาสินค้าให้เป็นข้อมูลใบขนสินค้าโดยอัตโนมัติ และให้ผู้นำเข้าหรือตัวแทนส่งเฉพาะข้อมูลใบขนสินค้ามายังเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร
(2) เครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรจะตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในใบขนสินค้าที่ส่งเข้ามา เช่น ชื่อและที่อยู่ผู้นำของเข้า เลขประจำตัวผู้เสียภาษี พิกัดอัตราศุลกากร ราคา เป็นต้น ถ้าพบว่าข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าที่ส่งมาไม่ถูกต้อง เครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรจะแจ้งกลับไปยังผู้นำเข้าหรือตัวแทนเพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง
(3) เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรตรวจสอบข้อมูลในใบขนสินค้าที่ส่งมาถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะออกเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้า พร้อมกับตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ เพื่อจัดกลุ่มใบขนสินค้าขาเข้าในขั้นตอนการตรวจสอบพิธีการเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้ แล้วแจ้งกลับไปยังผู้นำเข้าหรือตัวแทน เพื่อจัดพิมพ์ใบขนสินค้า

* ใบขนสินค้าขาเข้าประเภทที่ไม่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Green Line) สำหรับใบขนสินค้าประเภทนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์จะสั่งการตรวจ หลังจากนั้น ผู้นำเข้าหรือตัวแทนสามารถนำใบขนสินค้าขาเข้าไปชำระค่าภาษีอากรและรับการตรวจปล่อยสินค้าได้
* ใบขนสินค้าขาเข้าประเภทที่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Red Line) สำหรับใบขนสินค้าประเภทนี้ ผู้นำเข้าหรือตัวแทนต้องนำใบขนสินค้าไปติดต่อกับหน่วยงานประเมินอากรของท่าที่นำของเข้า
(4) ผู้นำเข้าหรือตัวแทนต้องจัดเก็บข้อมูลบัญชีราคาสินค้าตามวรรคแรกในรูปของสื่อคอมพิวเตอร์เป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบใบขนสินค้าหลังการตรวจปล่อย โดยให้สามารถจัดพิมพ์เป็นรายงานเมื่อกรมศุลกากรร้องขอ ดังนี้
(4.1) IMPORT/EXPORT INVOICE LIST BY DECLARATION ITEM
(4.2) IMPORT/EXPORT INVOICE LIST BY INVOICE ITEM
(4.3) IMPORT/EXPORT INVOICE LIST
3. แผนผังแสดงขั้นตอนการนำเข้าสินค้า
10 อันดับประเทศที่มีประสิทธิภาพการนำเข้าส่งออกดีที่สุดในโลก
1 เดนมาร์ก
2 สวีเดน
3 เยอรมัน
4 ฟินแลนด์
5 เนเธอแลนด์
6 สิงคโปร์
7 นอร์เวย์
8 ออสเตรเลีย
9 เบลเยี่ยม
10 สเปน
88 ไทย * ไทยติดอันดับที่ 88 ของโลก
ข้อมูล : จากการสำรวจของ World Bank and The International Final Corporation

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *