ปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ มูลค่าเพิ่มของสินค้า

ปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ มูลค่าเพิ่มของสินค้า

นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทยแนะผู้ประกอบการ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ดึงราคาสินค้า ชี้บรรจุภัณฑ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
“บรรจุภัณฑ์เป็นพนักงานขายไร้เสียงที่ดึงดูดความสนใจแรก สร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดให้กับสินค้า ถ้าบรรจุภัณฑ์สวยใครก็อยากซื้อหา ในทางกลับกันต่อให้สินค้าดีแค่ไหน แต่บรรจุภัณฑ์ไม่เตะตาก็เรียกลูกค้าไม่ได้” คุณวิเทียน นิลดำ นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย (The Thai Packaging Association) กล่าว

เพราะบรรจุภัณฑ์มีบทบาทชี้ขาดการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เลยพบว่าสินค้าบางอย่างขายไม่ได้ ขณะที่สินค้าไม่น้อยขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทั้งที่คุณภาพสินค้าอาจไม่แตกต่างกันนัก หรือสินค้าเดิมแต่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้น่าหยิบจับก็เพิ่มมูลค่าสินค้าได้หลายเท่าตัว นั่นเป็นเพราะหลักในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่ดี

บรรจุภัณฑ์ที่ดีต้องทำหน้าที่ปกป้องสินค้าให้ถึงปลายทางอย่างปลอดภัย ขณะที่ต้องรักษาคุณภาพสินค้า ยืดอายุการเก็บสินค้าเช่น อาหารสด ต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้รักษาความสดได้นาน สินค้าเสียหายง่าย บรรจุภัณฑ์ต้องสามารถกันกระแทก ขนมขบเคี้ยวที่ต้องรักษาความกรอบ บรรจุภัณฑ์ควรมีคุณสมบัติช่วยดูดความชื้น-กันความชื้น ส่วนสินค้าส่งออกต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะระยะทางขนส่งไกล ระยะเวลาในการเก็บสินค้านาน เป็นต้น ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าแต่ละประเภท ต้องคำนึงถึงการปกป้องสินค้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์จนกว่าถึงมือผู้บริโภคด้วย

รูปทรงแปลกใหม่ สวยงาม ของบรรจุภัณฑ์ เป็นประเด็นทางการตลาดที่วัดปริมาณการขายสินค้า บรรจุภัณฑ์ดึงดูดความสนใจ มีรายละเอียดสินค้าครบถ้วน ถือเป็นพนักงานขายไร้เสียง (Silent Salesman) ที่สามารถแนะนำตัวเองได้เสร็จสรรพในตัว รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องสำอางที่เห็นได้ชัดว่าบรรจุภัณฑ์ดูดี ตรายี่ห้อเป็นที่ยอมรับในตลาด มักมีราคาสูง ทั้งที่พื้นฐานคุณภาพภายในแต่ละยี่ห้ออาจไม่แตกต่างกันนัก

นอกจากนี้ขนาดของบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมต่อรูปแบบการขนส่ง และประหยัดพื้นที่การจัดเก็บในคลังสินค้า เกี่ยวโยงถึงต้นทุนด้านโลจิสติกส์ด้วย เพราะหากบริหารพื้นที่ตู้คอนเทนเนอร์และคลังสินค้าได้คุ้มค่ามากเท่าไหร่ ย่อมหมายถึงปริมาณการขนส่งและการประหยัดต่อเที่ยวที่มากขึ้น
ขาดนักออกแบบรู้ลึก ผลิตตามออเดอร์
การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับสินค้า ต้องเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เป็นต้นว่า สินค้าวางขายที่ไหน เช่นขายบนห้างสรรพสินค้า การออกแบบต้องปราณีตกว่าสินค้าที่วางขายข้างถนน เพราะราคาขายสูงกว่า วัยของกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันจะสนใจรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ต่างกัน บรรจุภัณฑ์ต้องปกป้องสินค้าให้เหมาะสมกับวิธีการและระยะทางขนส่ง และต้องศึกษาแนวโน้มตลาดขณะนั้น เพราะสินค้าบางอย่างต้องตามกระแส ออกสินค้าให้ทันกับความนิยม

นอกจากนี้นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดีควรมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีการอาหารด้วย เพื่อใช้ในการเลือกวัตถุดิบผลิตบรรจุภัณฑ์ เช่น สินค้าที่ใช้อุณภูมิสูงในการฆ่าเชื้อ ควรใช้วัตถุดิบประเภทใด ถ้าเป็นพลาสติกต้องใช้ประเภทที่มีความหนาเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันนักออกแบบไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ความรู้ในส่วนนี้ เพราะนักออกแบบหรือผู้ผลิตจากต่างประเทศเป็นผู้กำหนดมาให้ นักออกแบบไทยจึงไม่ได้ใช้ความรู้ในหลักสูตรอย่างลึกซึ้ง เน้นเฉพาะการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกให้มีความสวยงาม เตะตาลูกค้าเท่านั้น

ทั้งนี้ปัญหาขาดบุคลากรดังกล่าว ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของประเทศยังไม่ครบวงจร ถึงแม้มีการพัฒนาเองในประเทศบ้างแต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขาดการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง เพราะการคิดค้นเห็นผลช้ากว่าการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หรือใช้ตามผู้คิดค้นไว้ก่อนแล้ว สำหรับแนวทางแก้ไขคุณวิเทียน เห็นว่า ควรมีศูนย์กลางให้การสนับสนุน ทั้งในแง่เงินทุนและสถานที่ในการทำวิจัย เพื่อสนับสนุนให้นักออกแบบมีโอกาสได้ใช้ความรู้เรื่องจากหลักสูตรที่เรียนมาอย่างเต็มที่

เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ภายในประเทศ สมาคมฯได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน จัดการประกวดและเป็นกรรมการตัดสินการออกแบบบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนา ออกแบบบรรจุภัณฑ์ จัดสัมมนาถ่ายทอดความรู้ และเผยแพร่เทคโนโลยีใหม่ๆ จากต่างประเทศ ให้กับสมาชิก ผ่านวารสารบรรจุภัณฑ์ไทย ราย 3 เดือน และเว็ปไซต์ของสมาคมฯ(www.thaipack.com)

บรรจุภัณฑ์ตลาดโต ไทยตามติดผู้นำเทคโนโลยี
ตลาดบรรจุภัณฑ์ในประเทศเป็นตลาดใหญ่ที่เติบโต และแข่งขันสูง ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลจากธุรกิจค้าปลีกที่แข่งขันรุนแรง ผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าส่งออก ที่ในปัจจุบันผู้ประกอบการสนใจศึกษา และเข้าใจกฎระเบียบด้านบรรจุภัณฑ์ของแต่ละประเทศมากขึ้น ทำให้ลดปัญหาด้านบรรจุภัณฑ์ส่งออกที่เคยมีในอดีต

คุณวิเทียน กล่าวว่า “การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในประเทศดีขึ้นเยอะ เพราะมีงานสัมมนา แนะนำว่าบรรจุภัณฑ์ส่งออกต้องทำยังไงบ้าง ผู้ประกอบการเข้าใจมากขึ้น ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องบรรจุภัณฑ์ส่งออกเลย อย่างสินค้าโอท๊อป เดิมขายได้ปีละไม่กี่ล้าน พอได้รับการส่งเสริมเรื่องบรรจุภัณฑ์ยอดขายเพิ่มเรื่อยๆ สิ้นปี 48 ยอดขายสินค้าไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท”

ด้านเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์ แม้ไทยไม่ได้เป็นประเทศต้นคิด และต้องนำเข้าเทคโนโลยีบางประเภทจากประเทศชั้นนำอย่าง ญี่ปุ่น อเมริกา แต่ในละแวกประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น ลาว พม่า เวียดนาม ถือว่าไทยก้าวนำกว่ามาก และพัฒนาตามประเทศชั้นนำติดๆ

สำหรับแนโน้มการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในอนาคต เน้นที่การยืดอายุสินค้าให้เก็บได้นานขึ้น เพื่อสอดรับกับกระแสการค้าระหว่างประเทศ เช่น ทุเรียน เดิมเก็บได้ประมาณ 7 วัน แต่ปัจจุบันเก็บได้นานถึง 21 วัน รวมถึงเน้นด้านความปลอดภัยผู้บริโภค เช่น พัฒนาชั้นพลาสติกให้มีคุณสมบัติดูดความชื้นแทนแบบเดิมที่ใช้เป็นซองใส่ในซองขนม เพื่อขจัดปัญหาเด็กนำสารดังกล่าวมารับประทานอย่างที่เคยมีข่าวมาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มเกี่ยวกับการรณรงค์ให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการลดใช้พลังงาน ใช้วัตถุดิบรีไซเคิลได้ หรือพลาสติกบางกว่าเดิม ฯลฯ โดยแต่ละประเทศมีระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เช่น ประเทศในสหภาพยุโรป มีข้อบังคับว่าบรรจุภัณฑ์สินค้านำเข้า ต้องรีไซเคิลได้ มีเครื่องหมายแยกประเภทพลาสติก-เครื่องหมายรีไซเคิลที่ใช้กำกับบนบรรจุภัณฑ์ และจำกัดการใช้สารต้องห้ามในบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้พบว่าสินค้าส่งออกของไทยส่วนมากเป็นไปตามข้อกำหนดแต่ละประเทศ แต่สินค้าในประเทศยังติดปัญหาเรื่องราคาว่าบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าบรรจุภัณฑ์เดิมไม่น้อยกว่า 100% ต่อชิ้น

อุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์นับวันพัฒนารุดหน้า คงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในวงการ ทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้จำหน่ายเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ในบ้านเรา ที่ต้องตามติดให้ทันความเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าภาพลักษณ์แรกของสินค้าดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *