5 เคล็ดวิธีหนีสมองแก่

5 เคล็ดวิธีหนีสมองแก่
เรื่องโดย… นพ.กฤษดา ศิรามพุช, พบ. (จุฬาฯ)

โรคภัยหลายต่อหลายโรคหาใช่แค่มีผลกับเจ้าตัวเองเท่านั้นหากแต่ส่งผลต่อคนรอบข้างด้วย โดยอัลไซเมอร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น ท่านทั้งหลายอาจสังเกตได้ว่าบางคราเราก็ลืมโน่นนี่ทั้งที่ได้เตือนตัวเองก่อนออกจากบ้านแล้ว พอไปถึงที่ทำงานเผชิญกับภารกิจเยอะเข้ามากวนความสนใจเราทำให้ต้องกลับมานั่งถามตัวเองว่าลืมอะไรไปหนา ซึ่งถ้าว่าไปการลืมประเภทนี้หาใช่การลืมที่เกิดจากสมองเสื่อมไม่หากแต่ลืมจากการที่สติเราหายไม่อยู่กับเนื้อตัวมัวแต่นึกถึงเรื่องรอบข้าง
ดังที่เป็นแฟชั่นกันในหมู่นักการเมืองที่แต่ละท่านต้องค้างคดีหนึ่งคดีใดในศาลให้ต้องถูกอัปเปหิซ้ำซากกันอยู่ หรือบางท่านก็มีฝีมือการลืมได้ระดับพระกาฬอย่างกรณีที่เห็นเป็นข่าวกันไปไม่นานว่าลืมได้แม้กระทั่งเด็กในรถยนต์ ซึ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นอาการลืมชั่วคราวที่เกิดได้ในคนทั่วไปเวลาต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multitasking) ถือเป็นเรื่องธรรมดา
แต่สำหรับอีกหลายท่านกลับไม่เป็นเช่นว่านั้น กล่าวคือ เริ่มมีอาการลืมง่ายแม้กระทั่งสิ่งที่เพิ่งทำไปไม่นาน ไม่ว่าจะกินอาหารไปแล้วหรือยังหรือว่านั่งกินยาไปแหม็บๆ ก็มานั่งตั้งคำถามว่ากินไปแล้วแน่หรือ เดือดร้อนคนรอบข้างต้องมาเป็นประจักษ์พยานให้ถามไถ่ว่าข้าเจ้ากินไปแล้วหรือยัง? เหมือนความจำของตัวเองหดหายไปไม่มีใช้

ถ้าจะว่าไปความคิดของเราเอาเข้าจริงๆ ก็ต้องถือเป็นสิ่งที่ไวสุดในโลก มีแรงม้ายิ่งกว่าอนุภาคที่ถูกเร่งให้ชนกันที่เซิร์นเสียอีก หรือแม้แต่แสงก็ยังพ่ายกระแสความคิดที่อยู่ในสมอง ถ้าลองคิดดีมีกุศลจิตก็จะให้สารสุขออกมาพาให้อายุยืนขึ้นได้อีกหลายปี แต่ถ้ามีจิตตกหมกมุ่นเครียด มีความเกลียดโกรธเป็นเจ้าเรือนก็จะส่งผลให้แก่ไวได้ในพริบตาทั้งกายาแถมพาเนื้อสมองต้องรับกรรมไปด้วย

รู้ทันอาการ “สมองเสื่อม”
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจร่วมกันสักหน่อยว่าโรคสมองเสื่อมนี้มีอยู่ได้หลายแบบเหมือนกันโดยไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์เสมอไป พูดง่ายๆ ว่า อัลไซเมอร์เป็นสมาชิกของโรคสมองเสื่อม แต่โรคสมองเสื่อมไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์เสมอไป อาจเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ, โรคพันธุกรรม หรือแม้แต่จากยาบางชนิดก็ได้ แต่ถ้าฟังแล้วยังงงก็ขอแบ่งง่ายๆ ว่า สมองเสื่อมนี้อาจแบ่งได้เป็นแบบที่มีสาเหตุกับแบบที่สาเหตุยังไม่แน่ชัดก็ได้
มีการทดลองที่น่าสนใจอยู่ชิ้นหนึ่ง พบว่า หนูที่ถูกกระตุ้นให้เครียดเสียดแทงใจด้วยไฟช็อตอยู่ตลอดเวลาจะพาให้เนื้อสมองต้องฝ่อเปื่อยไปด้วยโดยเฉพาะในส่วนของความจำ ซึ่งเชื่อว่าไม่ต่างจากในคนที่เป็นโรคสมองเสื่อม เป็นข้อพิสูจน์ว่าว่าความเครียดเกลียดโกรธนั้นเป็นเหตุให้สมองเสื่อมได้จริง แต่ทีนี้ว่าเสื่อมลงเร็วได้แค่ไหนในมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่ยากจะรู้ แต่ก็ไม่สู้จะยากนักสำหรับนักวิทยาศาสตร์ช่างสังเกต โดยดูจากนักโทษในค่ายกักกันของนาซีที่มีความเป็นอยู่สุดรันทดถูกกดดันว่าจะตายวันตายพรุ่ง ด้วยวิถีชีวิตสุดโหดเช่นนี้ทำให้นักโทษที่ยังหนุ่มมีอายุเพียง 30 ปีเกิดภาวะสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ขึ้นมาได้ ซึ่งนับว่าเป็นหลักฐานที่ช่วยไขปริศนาให้รู้ว่าความเครียดนั้นทำร้ายทำลายสมองได้โดยตรงและเร่งให้สมองคนหนุ่มแน่นเสื่อมลงได้จนกลายเป็นเนื้อสมองฝ่อๆของคนแก่ได้ในเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น

สำหรับท่านที่เป็นผู้บริหารระดับสูงหรือต้องใช้สมองมากรับผิดชอบสูงก็อาจต้องลองนั่งคิดดูใหม่ว่าจะยังใช้วิธีบริหารแบบเดิมเติมทุกข์เข้าใส่ร่างกายหรือให้รู้จัก “ปล่อยวาง” บ้างไม่สร้างสารเครียดให้ไปแช่อิ่มสมองล่วงหน้าไม่ต้องรอความชราเข้ามาหา โดยอาการเริ่มต้นของสมองแก่หรือสมองเสื่อมที่เตือนมาให้เราสังเกตได้มีดังนี้ครับ

1. มีการเดินผิดปกติไป เช่นเดินขากางมากขึ้น กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้
2. ความทรงจำเสียไป เริ่มจากความจำในปัจจุบันก่อน แล้วค่อยกลายเป็นลืมความจำสมัยก่อน (อดีต) คนแก่จึงชอบเล่าความหลังอย่างที่กล่าวกัน
3. ความเฉลียวฉลาดเสื่อมไป
4. มีพฤติกรรม อารมณ์เปลี่ยนไปก้าวร้าว ฉุนเฉียว จนในที่สุดซึมเศร้าได้เมื่อเป็นมากขึ้น
5. เมื่ออาการคืบหน้าไปมากขึ้น จะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่สามารถออกจากบ้านไปไหนคนเดียวได้ จำเป็นต้องมีผู้อยู่ดูแล ช่วยเหลือใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา
อัลไซเมอร์ ถ้าเผลออาจ “ตาย” ได้
โรคสมองเสื่อมนั้นฟังดูเหมือนว่าไม่น่าจะทำอันตรายได้ถึงตาย แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ใกล้ชิดอยู่จะรู้ได้เลยว่าชีวิตของคนเป็นอัลไซเมอร์นั้นเสมือนอยู่บนเส้นด้ายที่บางสุด ชีวิตอาจหยุดลงได้ในชั่วขณะใดขณะหนึ่ง ด้วยว่าเมื่อปราศจากสมองส่วนที่คอยคิดตัดสินใจแล้วหลายทีที่มีการตัดสินใจพลาด อาจเกิดอุบัติเหตุกับตัวหรือกับผู้อื่นได้ เช่นการขับรถเองหรือการล้มศีรษะฟาดพื้นถึงแก่ความตาย รวมถึงการเผลอหยิบยารับประทานเกินขนาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่มักมียาประจำตัวถุงขนาดร่วมยากลางบ้าน

ดังนั้นถ้าอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะ “เผลอ” ไม่ได้ทีเดียว แม้ว่าจะดูเหมือนว่าเขาเป็นคนปกติน่าจะไว้ใจให้ดูแลตัวเองได้ แต่ใครจะรู้ว่าอาการของสมองเสื่อมนั้นอาจเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ในชั่วขณะยังกับราคาทองในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงนั้นส่วนใหญ่มักเป็นไปในทางแย่ลง ยิ่งถ้าไม่มีใครคอยดูแลปล่อยให้มีการ “กำเริบ” เช่นว่านี้ได้บ่อย ก็จะค่อยๆทำลายสมองให้ย่ำแย่ลงไปอย่างที่ไม่น่าจะเกิดทีเดียวครับ
ป้องกันสมองเสื่อมได้ใช้ “ใจ” คุณเอง
การจะป้องกันโรคสมองเสื่อมไม่ให้มาแผ้วพานนั้นหาใช่การเอาเครื่องดื่มอาหารเสริมมากินแต่เพียงอย่างเดียวไม่ หากต้องเข้าใจในหลักว่าสมองจะมีความสุขอยู่ได้ก็ด้วยปัจจัย 2 ประการคือ
1) มีอาหารดีมาเลี้ยง
2) เปี่ยมไปด้วยหวังและกำลังใจ

โดยทั้งสองประการนี้สำคัญพอกัน แต่ข้อหลังค่อนข้างจะยากอยู่สักเล็กน้อย เพราะโดยมากคนเรามักจะมีความสุขสดชื่นอยู่ได้ก็เฉพาะเมื่อวัยหนุ่มสาวหรือเวลามีความรัก มีความสมหวัง ถูกจิต พอใจ แต่เมื่อความรักหรือความหนุ่มสาวนั้นหมดไปก็ทำให้ไม่มีสิ่งให้ใจยึดเหนี่ยว ทำให้กลายเป็นคนกราดเกรี้ยว หงุดหงิดง่าย มองโลกในแง่ร้ายไปเสียหมด ดังนั้นถ้าเราไม่อยากเป็นเช่นว่าก็ต้องรู้ทันไม่ให้ใจไปผูกติดอยู่กับสิ่งใดเลยนอกจาก “สติ” ของเราเอง ด้วยสิ่งรอบตัวนี่หามีอะไรที่พอจะยึดได้ยากยิ่ง เปรียบไปก็เหมือนยืนอยู่ใกล้ไม้หลักที่ปักอยู่บนพื้นเลน ดังนั้นสิ่งที่จะพอเป็นหลักให้ใจของท่านยึดได้ ก็คือ “สติ” ที่รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะนี่เองครับ
5 เคล็ดวิธีหนีสมองฝ่อด้วยสูตร “ออกกำลังใจ” และ “ให้อาหารสมอง”
โดยทั้งสองหัวข้อนี้มีความสำคัญพอกัน โดยถ้าเป็นในส่วนของของอาหารสมองนั้นท่านไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดื่มอะไรให้เปลืองไปเลย ด้วยว่าหลักการของสมองก็คือจะทำงานดีมีชีวิตชีวาได้ต้องมี “สารสื่อประสาท” ไปหล่อเลี้ยงให้กระแสประสาทวิ่งไปได้คล่องขึ้นไม่ติดขัดตะกุกตะกัก อุปมาไปก็เหมือนกับเครื่องยนต์ที่ได้หยอดน้ำมันหล่อลื่นเข้าไป ลูกสูบกลไกต่างๆก็จะไม่สำลักสะดุดหยุดเอาดื้อๆ ซึ่งน้ำมันหล่อลื่นของสมองนี้มีอยู่ 5 ส่วนสำคัญได้แก่

1) น้ำมันปลา จากปลาทะเลหรือปลาน้ำจืดก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้สมองไม่ร้อนลุกเป็นไฟ ไม่มีตะกรันแก่มาเกาะ
2) น้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 1 ออนซ์ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
3) ผักผลไม้บำบัด โดยเฉพาะผักใบเขียวจัด, ผลไม้หลายสีและถั่วต่างๆ
4) หัดมองโลกในแง่บวก ถ้ารู้สึกขุ่นใจสิ่งใดขึ้นมาก็หาไดอารี่มาเขียนบันทึกจะช่วยได้มากทีเดียวครับ
5) ครองสติอยู่กับปัจจุบัน
บัญญัติหัดสมองให้ไม่ต้องฝ่อนั้นช่วยได้มากทีเดียวครับโดยเฉพาะข้อสุดท้ายคือการมี “สติอยู่กับปัจจุบัน” นั้นถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ที่จะช่วยหยุดทุกข์ได้ เพราะเมื่อทุกข์หายไป ก็ทำให้ไม่มีสารเครียดมากัดกินเนื้อสมองให้ต้องฝ่อ และเมื่อเนื้อสมองที่เป็นส่วนสำคัญในการรู้ผิดชอบชั่วดีหายไปแล้ว ก็อาจทำให้จิตท่านยิ่งดิ่งลงไปสู่สัญชาตญาณฝ่ายต่ำ นำไปสู่อบายได้ง่ายเข้า แม้เราจะเกิดมาดีมีชาติตระกูลสูงเรียกว่าเกิดมาสว่าง แต่ถ้าสมองฝ่อไปเสียแล้วก็อาจทำให้เสียศูนย์จูนชีวิตเข้าสู่ความมืดมนได้ โดยเรื่องเกิดมาสว่างแต่ไปมืดนี้มีให้เห็นอยู่เป็นเนืองนิตย์ บางทีไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ก็เกิดได้

ดังนั้น จะเห็นว่า ในขณะที่ทุกอย่าง “ไม่นิ่ง” วิ่งแปรไปตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ล้มครืน โรคตื่นทอง หรือรัฐบาลที่น่าข้องใจ แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปรเลยก็คือคือ ชรา พยาธิและมรณะ ซึ่งยังคงทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างสัตย์ซื่อมาตลอดกาลนับแต่เริ่มมีตัวตนมนุษย์เกิดขึ้นมา ถ้าเพียงแค่เรารู้จักมีความสุขอยู่ให้ได้ในทุกปัจจุบันขณะก็จะทำให้สมองไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงกับโรคเสื่อมแล้ว

อย่าลืมว่าความคิดของคนเรานั้นเร็วเสียยิ่งกว่าอนุภาคจากเรื่องเร่งใดๆในโลก ถ้าเราเก็บเอาความโกรธไว้เป็นเจ้าเรือนแล้วมันจะฉุดร่างกายของเราลงเหวได้เร็วกว่าหลุมดำหล่มไหนๆเสียอีก แต่ถ้าเรารู้จัก “เล่น” กับมันโดยเปลี่ยนให้เป็นแบบทดสอบที่แสนสนุก ฝึกรู้เท่าทันจิตได้ ท่านก็จะได้สมองที่ดีและจิตที่เป็นสุขอยู่เสมอไม่ว่ารอบข้างจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม
อ้างอิง:
http://alzheimers.about.com/od/diagnosisofalzheimers/tp/Types-of-Dementia.htm
http://www.mayoclinic.com/health/dementia/AZ00003
http://www.mayoclinic.com/health/mild-cognitive-impairment/DS00553
http://news.bbc.co.uk/2/hi/health/1668932.stm
จาก บทความการศึกษา วันที่ 6 ตุลาคม 2551 อักษรเจริญทัศน์ (อจท)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *