ปรัชญา ดร.เทียม โชควัฒนา 'คนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในโลก'

ปรัชญา ดร.เทียม โชควัฒนา “คนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในโลก”

คอลัมน์ คมคนคมคิด โดย จรัญ ยั่งยืน ประชาชาติธุรกิจ หน้า 8 วันที่ 05 สิงหาคม 2547 ปีที่ 28 ฉบับที่ 3607 (2807)
เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่หยิบติดมือมาจากร้าน เซเว่นฯ
หนังสือชื่อว่า “ปรัชญาการทำงานและการดำเนินชีวิต” ดร.เทียม โชควัฒนา ขนาด 50 กว่าหน้า ราคา 30 บาท
แต่อุดมไปด้วยคมคิดที่ง่ายและงาม โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องคน
ซึ่ง “ดร.เทียม โชควัฒนา” มองได้ทะลุปรุโปร่ง
และเป็นมุมคิดที่สามารถนำมาปรับใช้กับตัวเองได้ทันที
ดร.เทียมเห็นว่า คนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในโลก
“คนเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งของโลก แต่คนจะมีคุณค่ายิ่งหากรู้จักประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”
ความรู้เหมือนดาบ ยิ่งใช้ยิ่งคม
“ผู้ใดมีความรู้แล้วนำความรู้ของตนมาใช้ และถ่ายทอดให้ผู้อื่น ผู้นั้นจะยิ่งเกิดความชำนาญและเป็นการเพิ่มคุณค่าแห่งความรู้นั้นด้วย เปรียบเสมือนดาบที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ และได้รับการเอาใจใส่ดูแลให้คงไว้ซึ่งความคมตลอดเวลา”
ทบทวนอดีต ศึกษาปัจจุบัน เพื่อวางอนาคต
“การทบทวนประสบการณ์จากอดีตทั้งของตน เองและผู้อื่น และการศึกษาเรื่องราวจากคนและสิ่งรอบข้างในปัจจุบัน เป็นแนวทางให้เราวางอนาคตได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น”
ความสำเร็จของงาน อยู่ที่คุณภาพของคน
“หัวใจในการทำงานให้สำเร็จ มิใช่อยู่ที่การสร้างคนให้มีความเชี่ยวชาญในการทำงานเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการสร้างเสริมให้ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความรัก และสามัคคีด้วย”
ความรู้ต้องมองสูง ความเป็นอยู่ต้องมองต่ำ
“ความรู้เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ คนที่อยากก้าวหน้าต้องใฝ่รู้ เรียนรู้ให้มากขึ้นอยู่เสมอ แต่ความเป็นอยู่นั้นต้องเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ”
อยากขยายใหญ่ใจต้องกว้างในการถ่าย ทอดความรู้ให้ลูกน้อง
“การขยายกิจการให้ใหญ่โต ต้องอาศัยพลังความสามารถ ความรู้และความคิดจากทุกคน ฉะนั้น หัวหน้างานต้องใจกว้าง หมั่นสอนและฝึกฝนความชำนาญให้ลูกน้องเสมอ”
ศึกษาคนเพื่อมอบงานให้เหมาะกับความสามารถ
“หัวหน้างานที่ดีต้องเป็นคนช่างสังเกตและใกล้ชิดลูกน้อง สามารถวิเคราะห์งานได้ว่า งานใดเหมาะกับความสามารถของลูกน้องคนใดเพื่อมอบหมายงานให้ตรงกับความสามารถของเขา”
เข็มเล่มหนึ่งไม่มีปลายแหลมสองด้าน
“ทุกคนมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย คนเราจึงไม่มีใครเก่งทุกอย่าง เปรียบเสมือนเข็มที่มีปลายแหลมสำหรับเย็บ ปะ ชุน ได้เพียงด้านเดียว ฉะนั้นคนเราควรรู้และทบทวนจุดเด่นและจุดด้อยของตนอยู่เสมอ”
เมื่อจะแหงนมองฟ้า ก็อย่าลืมว่าเท้าตัวเองสัมผัสดินอยู่
“คนเราต้องเตือนตนไม่ให้ลืมตัว อย่าทระนงตนนั้นว่าเลิศเลอไปกว่าคนอื่น จงคิดเสมอว่าในโลกนี้มีคนที่ดีกว่าเราอีกมาก”
หมั่นเล่าสร้างความจำ หมั่นซักถามสร้างความรู้
“เมื่อได้เรียนรู้สิ่งใดแล้ว หมั่นถ่ายทอดให้ผู้อื่นรับรู้ จะช่วยให้เราจำได้ดีขึ้น และเมื่อไม่รู้สิ่งใดก็อย่าอายที่จะถาม เพราะจะช่วยให้เรารู้มากขึ้น ในขณะที่คนโอ้อวดว่ารู้หมดแล้ว แท้จริงคือคนที่ไม่รู้อะไรเลย”
ความคิดสร้างสรรค์ คือพื้นฐานสำคัญของผู้ประกอบการค้า
“ในการทำธุรกิจ ต้องพัฒนาความคิดสร้าง สรรค์อยู่เสมอ เพราะการผูกติดกับความคิดเก่าๆ ในขณะที่เวลาเปลี่ยนไปนั้น เป็นการปิดกั้นความเจริญก้าวหน้าของธุรกิจ”
กินข้าวอย่างมังกร ทำงานอย่างเสือ
“คนจีนมองมังกรเป็นสัตว์ที่สง่างาม ฉะนั้นถ้าจะทำอะไรรวดเร็วก็ต้องเร็วแบบสง่างาม ส่วนเสือนั้นคนจีนมองว่าปราดเปรียวในการล่าเหยื่อและไม่กินลูกตัวเอง หมายถึงให้ทำงานอย่างคล่องตัว ทำ งานเป็นทีม และไม่รังแกพวกเดียวกัน”
ตักน้ำเต็มได้แค่ภาชนะบรรจุเท่านั้น
“ในการดำเนินธุรกิจ ถ้ารู้จักเสียสละแบ่งปันผลประโยชน์ให้ผู้อื่นหรือสังคม รวมทั้งจ่ายภาษีให้รัฐได้พัฒนาประเทศอย่างเต็มที่ ธุรกิจก็จะเจริญรุ่ง เรืองขยายกิจการใหญ่โตขึ้นได้ อุปมาเหมือนภาชนะที่มีน้ำเต็มแล้ว ตักน้ำออกไปทำประโยชน์ที่อื่นบ้าง ก็จะมีโอกาสจะตักน้ำเติมเข้ามาได้อีกและมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนภาชนะ หรือขยายขนาดภาชนะให้ใหญ่ขึ้นได้”
อยากจะเจริญก้าวหน้า ต้องทำตัวเหมือนคนกำลังขึ้นเขา
“คนเดินขึ้นภูเขา จะต้องโน้มตัวไปข้างหน้าเสมอ เปรียบเสมือนคนอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งจะมีแต่คนรัก แต่คนเดินลงจากภูเขาต้องเอนตัวไปข้างหลัง เปรียบเสมือนคนเย่อหยิ่งจองหอง ซึ่งไม่มีใครชอบ ดังนั้น ถ้าต้องการให้มีคนรัก และช่วยสนับสนุนให้เจริญก้าวหน้า ควรประพฤติตนเสมือนคนที่กำลังเดินขึ้นเขา”
เป็น “คมคิด” ที่หาก “ขบคิด” ตาม สามารถเติม “ปัญญา” ให้เราได้ไม่น้อยทีเดียว
ประชาชาติธุรกิจ หน้า 8

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *