ภาษี : การลดหย่อนภาษีฉบับลงทุน

ภาษี : การลดหย่อนภาษีฉบับลงทุน

สัปดาห์ที่แล้วเขียนเรื่องสิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษี ฉบับ “รากบุญ” ที่ว่าด้วยการส่งเสริมให้คนทำความดี เพื่อได้รับสิทธิทางภาษี ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะกฎหมายกำหนดให้ทำได้ เพียงแต่ที่เขียน เพราะอยากตั้งเป็นคำถามว่า บางครั้ง ถ้าเราใช้ “ความดี” เป็นตัวตั้ง และปล่อยให้ “ผลตอบแทน” ซึ่งหมายถึงสิทธิทางภาษี เป็นผลพลอยได้ ก็น่าจะมี “ความสุข” กว่าการใช้ “ผลตอบแทน” เป็นตัวตั้ง และ “ความดี” เป็นผลพลอยได้

แต่สัปดาห์นี้ ต้องบอกว่า กลับข้างกัน เพราะเป็นวิธีการลดภาระภาษีด้วยการ “ลงทุน” ที่ใช้ “สิทธิทางภาษี” เป็นตัวตั้งจริงๆ

จะว่าไปแล้ว ก็เคยเขียนถึงเรื่องนี้หลายครั้ง ว่ากฎหมายกำหนดให้ทำอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะบรรเทาภาระภาษีให้ลดลง แต่คิดไปคิดมา ก็คงคล้ายๆ กับเรื่องของเงินกู้นอกระบบ หรือเรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่แม้จะมีข่าวเผยแพร่ออกไปมากมาย หรือแม้ตำรวจจะจับกุมผู้ร่วมขบวนการได้ แต่ก็ยังมีผู้คนที่ไม่รู้อีกมากมาย จนต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพพวกนี้

ดังนั้น จึงเหมือนกับกลายเป็น “หน้าที่” ไปแล้วว่า เมื่อถึงเวลาเขียน ก็ต้องเขียน

คิดว่า เป็นภาคสองต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่ไม่ว่าจะเป็นเงินบริจาค เงินเลี้ยงดูบิดามารดา เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา รวมทั้งการสนับสนุนด้านการศึกษา ที่ล้วนนำมาลดหย่อนภาษีได้ และสัปดาห์นี้ เป็นภาคต่อที่ว่าด้วยเรื่องของการลงทุนและการออมที่นำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

ในเว็บไซต์ของศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ไล่เรียงตามหัวข้อแบบอ่านง่ายเข้าใจง่ายว่า การลงทุนและการออมที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่

การทำประกันชีวิต ที่นอกจากจะได้รับความคุ้มครองในระยะยาว และได้ออมเงินอย่างมีวินัยแล้ว เบี้ยประกันของกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีอายุสัญญา 10 ปีขึ้นไป สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท

การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน สลากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะดอกเบี้ยพันธบัตร สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. หลายรุ่นตามที่รัฐบาลกำหนด จะได้รับยกเว้นภาษี รวมทั้งดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์กับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ด้วย

การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ โดยเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอาร์เอ็มเอฟ จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่เมื่อนับรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี

การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) เป็นกองทุนรวมที่ให้ประโยชน์ด้านภาษีคล้ายกับกองทุนรวมอาร์เอ็มเอฟ คือ เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 15% ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี แต่กองทุนรวมแอลทีเอฟจะเน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้น และสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมแอลทีเอฟจะสิ้นสุดเมื่อครบอายุโครงการในปี 2559

การกู้ยืมเงินซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย ไม่ว่าจะกู้ยืมจากธนาคาร สถาบันการเงินบริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือกองทุนสวัสดิการของนายจ้าง ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย สามารถช่วยประหยัดภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท

การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี รวมทั้งกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนกองทุนรวมด้วย
การใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล เพราะเงินปันผลจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% ซึ่งบริษัทที่จ่ายเงินปันผลให้เราก็ต้องเสียภาษี ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระภาษีซ้ำซ้อน กฎหมายจึงให้เราเลือกว่า จะนำยอดเครดิตภาษีเงินปันผลมาหักเป็นเครดิตภาษี หรือจะเลือกวิธีถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ก็ได้

ทีนี้เมื่อจะเลือกว่า จะออมหรือลงทุนแบบไหน นอกจากจะต้องพิจารณาจากฐานเงินได้และภาษีที่ต้องเสียแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ ต้องคิดให้รอบคอบว่า “เครื่องมือลดหย่อนภาษี” แบบไหนเหมาะกับเรา ยกตัวอย่างเช่น ประกันชีวิต ที่นอกจากคุ้มครองชีวิตแล้ว ยังเป็นเงินออมระยะยาว และยังได้รับสิทธิในการนำค่าเบี้ยประกันชีวิตไปลดหย่อนภาษี ดูเหมือนจะครบถ้วน แต่จริงๆ ต้องไม่ลืมว่า การทำประกันชีวิตเป็นเรื่องที่เป็นภาระผูกพันระยะยาว ที่ผู้ทำประกันต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันทุกปีต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ดังนั้น การทำประกันชีวิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด ก็จะต้องแน่ใจว่า เราสามารถที่จะชำระค่าเบี้ยประกันได้ตลอดอายุกรมธรรม์

หรือแม้แต่การลงทุนในกองทุน ไม่ว่าจะเป็นอาร์เอ็มเอฟ หรือแอลทีเอฟ ก็ต้องเข้าใจว่า เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง ดังนั้น ก่อนจะลงทุนก็ต้องรู้และเข้าใจถึงรูปแบบความเสี่ยงและลักษณะการลงทุน โดยเฉพาะกองทุนแอลทีเอฟที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้น ที่ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ราคาหุ้นสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ซึ่งก็หมายถึงผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นกำไรจากการลงทุน หรืออาจจะขาดทุนได้ เมื่อราคาหุ้นที่กองทุนเข้าไปลงทุนปรับตัวลดลง

หรือแม้แต่กองทุนอาร์เอ็มเอฟเอง ซึ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่ากองทุนแอลทีเอฟ เพราะจะเน้นลงทุนในพันธบัตร หรือตราสารหนี้ แต่ผู้ลงทุนในกองทุนอาร์เอ็มเอฟเอง ก็ต้องรู้ว่า การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนประเภทนี้ ผู้ลงทุนสามารถไถ่ถอนเงินลงทุนได้ก็ต่อเมื่อลงทุนต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี และผู้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปี

ถ้าผู้ลงทุนเริ่มลงทุนตอนอายุ 30 ปี ก็หมายความว่า หากต้องการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็จะต้องถือหน่วยลงทุนของกองทุนอาร์เอ็มเอฟไปอีก 25 ปี ถ้าเริ่มต้นตอนอายุ 25 ปี ก็ต้องถือไปอีก 30 ปี จนกว่าอายุจะครบ 55 ปี จึงสามารถขายคืนกองทุน โดยได้รับสิทธิทางภาษีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

แม้ว่า จะเป็นเครื่องมือในการลดหย่อนภาษี แต่เรื่องของการลงทุนก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องรู้และทำความเข้าใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ปิดท้ายสำหรับคนที่สนใจลดภาษีนาทีสุดท้ายด้วยกองทุนอาร์เอ็มเอฟและแอลทีเอฟ อยากจะหาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถร่วมงาน “มหกรรมลดภาษีนาทีสุดท้ายด้วยกองทุนอาร์เอ็มเอฟและแอลทีเอฟ” ที่เซ็นทรัลเวิลด์ จนถึงวันที่ 23 ธันวาคมนี้

…………………………….

(ลดภาษีฉบับลงทุน : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย…ขวัญชนก วุฒิกุล k_wuttikul@hotmail.com )

ที่มา : คมชัดลึก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *