ความสำเร็จอยู่ที่ใจ

ความสำเร็จอยู่ที่ใจ
ดิฉันเพิ่งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับท่านผู้บริหารผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่แสดงความผิดหวังเรื่องลูกสาวที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแม้จะอายุมากขึ้นๆ ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับลูกชาวบ้านชาวเมืองแล้วยิ่งเห็นชัดว่าคนอื่นเขาไปถึงไหนๆ แซงไปไกลโข

ยามที่คุยเรื่องดินฟ้าอากาศดิฉันก็พยักพเยิดเห็นดีเห็นงามตามท่านไม่ว่าท่านจะว่าอย่างไร แต่เมื่อเริ่มคุยเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงานและความผิดหวังของบุพการีเรื่องความก้าวหน้าอาชีพของลูกๆ ต่อมอยากรู้อยากเห็นของดิฉันเริ่มพองฟูด้วยความใคร่รู้

“ท่านคะ ในความเห็นของท่าน คนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เขาต้องทำอะไรนะคะ” ดิฉันถามอย่างจริงใจไม่ได้กวนหรือป่วนท่านแต่อย่างใด

ท่านผู้บริหารมองหน้าดิฉันแล้วตอบอย่างไม่เข้าใจว่าทำไมดิฉันไม่เข้าใจว่า “ความสำเร็จ” แปลว่าอะไร

“อ้าว! ก็เป็นผู้บริหารไง!”

ดิฉันเพิ่งเป็นวิทยากรสอนหนังสือเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลงในองค์กร โดยเฉพาะเรื่องการบริหารความต้องการที่หลากหลายของคนทำงานยุคปัจจุบัน โดยเน้นว่าหัวหน้างานต้องเข้าใจ “ลูกค้าภายใน” หรืออีกนัยหนึ่งลูกน้องตาดำๆ ของตน ต้องทั้งเข้าใจและทำใจว่าเขามีสิทธิที่จะมองคนละมุม คนละทาง คนละขั้วกับหัวหน้างาน แถมไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูกโดยเฉพาะเมื่อพูดถึงสิ่งที่เขาต้องการจากการทำงาน

ดิฉันพึมพำตามไปด้วยว่า “การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแปลว่าเป็นผู้บริหาร”

ท่านพยักหน้าอย่างดีใจว่าดิฉันเข้าใจในที่สุด

“ใช่ เป็นผู้บริหาร วันๆ ไม่ต้องวิ่งไล่ลูกค้า ผู้บริหารต้องนั่งโต๊ะสั่งการ ต้องตัดสินใจ มีลูกน้องเป็นผู้บริหาร- เป็นเจ้านาย จึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ”

ท่านผู้อ่านละคะ เห็นด้วยกับท่านผู้บริหารท่านนี้หรือไม่

ในมุมมองของดิฉัน การเป็น “เจ้านาย” เป็น “หัวหน้างาน” เป็น “ผู้บริหาร” มีลูกน้อง เป็นเพียงวิถีหนึ่งของความสำเร็จ “ความสำเร็จ” ในมุมมองของคนหนึ่งอาจเป็น “ความล้มเหลว” ในสายตาคนทั่วไปก็มีให้เห็น การตัดสินใจโดยใช้กรอบ ใช้มุมมองของเราเป็นที่ตั้งว่าอะไร “ใช่” อะไร “ไม่” อะไร “ถูก” อะไร “ผิด” จึงมีสิทธิเสี่ยงสูง

ในฐานะที่ปรึกษาและวิทยากร ดิฉันโชคดีที่ได้มีโอกาสพบปะบุคคลคนทำงานมากมาย ดิฉันจึงไม่แปลกใจที่ได้ยินหลายท่านบ่นเอือมระอา บ่นเหนื่อย บ่นท้อกับการต้องบริหารจัดการคน เพราะให้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือทำบัญชีกำไรขาดทุนไม่เคยวุ่นวายเท่ากับดูแลลูกน้อง หลายท่านถ้าเลือกได้ ขอไม่เป็นผู้บริหารเด็ดขาด

ดังนั้นในเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน องค์กรต้องตระหนักถึงมุมมองที่แตกต่างนี้ มิใช่คนทำงานทุกคนอยาก หรือเหมาะที่จะเป็นผู้บริหาร เป็นคนนำคน ด้วยเหตุนี้ เมื่อหน่วยงานจะวางแผนเรื่องความก้าวหน้าในสายอาชีพหรือ Career Path จึงสามารถวางได้อย่างน้อย 5 รูปแบบคือ

การเลื่อนตำแหน่งงานตามแนวตั้ง (Vertical Movement)

คือการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในสายงานเดิม เช่นจากการเป็นพนักงานบัญชี เป็นพนักงานบัญชีอาวุโส ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องทำงานในสายงานเดิม แต่งานอาจมากขึ้นหรือมีลักษณะซับซ้อนสูงขึ้น ทำให้ต้องมีความรู้และทักษะสูงขึ้นกว่าเดิม

การเลื่อนตำแหน่งตามแนวนอน (Horizontal Movement)

การเลื่อนขยับตำแหน่งลักษณะนี้เป็นการขยับตำแหน่งโดยเปลี่ยนไปสายงานใหม่ แต่ยังอยู่ในระดับเดิม เพื่อขยายขอบเขตของการเรียนรู้ลักษณะงานรูปแบบใหม่ๆ เช่นการขยับจากการเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานบุคคล

การเลื่อนตำแหน่งตามแนวทะแยงมุม (Diagonal Movement)

การเลื่อนตำแหน่งงานสูงขึ้นในสายงานใหม่ ซึ่งมีความท้าทายทั้งเรื่องการทำงานในสายงานใหม่และความซับซ้อนของงานที่มีระดับสูงขึ้น เช่นการเลื่อนตำแหน่งจากการเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานบุคคล เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายจัดซื้อ

การเลื่อนตำแหน่งสู่ระดับบริหาร (Management Movement)

อาจเป็นการเลื่อนตำแหน่งในแนวตั้งหรือแนวทะแยงมุม สู่ตำแหน่งที่ต้องบริหารจัดการงานและคน

เช่นเลื่อนเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายจัดซื้อ เป็นผู้จัดการฝ่ายเดิม หรือฝ่ายใหม่ (ในมุมมองของท่านผู้บริหารผู้ใหญ่ที่ดิฉันกล่าวถึง การเลื่อนตำแหน่งเช่นนี้จึงถือว่า “ประสบความสำเร็จ”)

การเลื่อนตำแหน่งสู่งานผู้เชี่ยวชาญ (Specialist Movement)

นอกจากการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปสู่ผู้บริหารแล้ว องค์กรสามารถวางแนวทางให้คนทำงานสามารถเติบโตในสายผู้เชี่ยวชาญงานเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำวิจัย การพัฒนาคุณภาพ การจัดระบบเทคโนโลยี เป็นต้น

การมีแนวทางในการเติบโตในหน้าที่การงานที่มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ที่แตกต่างของแต่ละคนที่มีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ถือเป็นวิถีหนึ่งในการดูแลพนักงาน สร้างขวัญกำลังใจ ทั้งยังเป็นการเก็บคนเก่งคนดีไว้ในองค์กร ซึ่งถือเป็นการดูแลองค์กรพร้อมๆ กับการดูแลคนไปด้วยกันนั่นเอง

คุณพ่อคุณแม่ต้องลองถอดแว่น และมองจากมุมของคุณลูกอย่างเปิดใจ อาจจะเห็นว่าจากมุมของเขา สิ่งที่เขาทำเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เพราะให้ความสุขในการทำงาน แม้จะเป็นการขยับที่ไม่ได้โต๊ะที่ใหญ่ขึ้นไม่ได้มีลูกน้อง ไม่มีอำนาจตัดสินใจที่มากขึ้นก็ตามที

ความสำเร็จบางทีอยู่ที่ใจค่ะ

เรื่อง : พอใจ พุกกะคุปต์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *