ศูนย์กระจายสินค้าสุราษฎร์ธานี ฐานที่มั่นในภาคใต้ของอินทรีโลจิสติกส์

ศูนย์กระจายสินค้าสุราษฎร์ธานี ฐานที่มั่นในภาคใต้ของอินทรีโลจิสติกส์

 

การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน มุ่งสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและหลากหลาย ดังนั้นบริษัท ต่างๆ จึงมุ่งที่จะพัฒนาคุณภาพของการบริการให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา บางบริษัทปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เป็น การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (Solution Provider) เพื่อมุ่งสร้างคุณค่าเพิ่มทางธุรกิจให้แก่ลูกค้า นอกเหนือจากขายสินค้าและบริการของบริษัท การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ดังกล่าวนี้บริษัทจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนขบวนการทำงานทางธุรกิจ (Business Model & Business Process) ใหม่ เพราะขบวนการทำงานทางธุรกิจแบบเดิมๆ ส่วนใหญ่จะเน้นการส่งมอบสินค้า ซึ่งไม่สามารถนำเสนอบริการแบบเบ็ดเสร็จได้ ขบวนการทำงานทางธุรกิจที่สำคัญที่บริษัทจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ได้แก่ ระบบการบริหารจัดการ     โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน 

บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจมุ่งสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน ปูนซีเมนต์ ที่พร้อมเสนอคำตอบให้กับทุกๆ ความต้องการของลูกค้า และได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการ โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์ดังกล่าว ภายใต้โครงการที่เรียกว่า “อินทรีโลจิสติกส์”   แผนงานสำคัญแผนงานหนึ่งของอินทรีโลจิสติกส์ คือ การมุ่งยกระดับความพึงพอให้ของลูกค้าในภาคใต้ ซึ่งบริษัทฯ ไม่มีโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ตั้งอยู่ โดยการปรับระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานใหม่ ใช้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจุดศูนย์กลางในการให้บริการลูกค้าในภาคใต้ตอนล่างทั้งหมด (Southern Hub) บริษัทฯ ได้ปรับปรุงคลังสินค้าเดิมเป็นศูนย์กระจายสินค้า จากเดิมบริษัทฯ ขนส่งปูนซีเมนต์ถุงทาง เรืออย่างเดียว ก็ได้เพิ่มการขนส่งสินค้าปูนซีเมนต์ผงทางเรือ เพื่อนำไปจ่ายเป็นปูนผงและบรรจุเป็นปูน ซีเมนต์ถุง ที่โรงบรรจุในศูนย์กระจายสินค้าสุราษฎร์ธานี ซึ่งวิธีการนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ที่เรียกว่าเทคนิคการเคลื่อนย้ายจุดสุดท้ายของการผลิตไปอยู่ใกล้กับตลาด(Postponement) เป็นเทคนิคที่ช่วยลดการเก็บสต็อกสินค้าหลากหลาย และทำให้สินค้าใหม่อยู่เสมอ ดังนั้น การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของศูนย์กระจายสินค้าสุราษฎร์ธานี จึงถือเป็นกลยุทธ์หลักกลยุทธ์หนึ่งที่จะทำให้ปูนซีเมนต์นครหลวงและคู่ค้าสามารถปักหลักได้อย่างมั่นคงและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดภาคใต้

          กุญแจที่สำคัญดอกหนึ่งในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ของศูนย์กระจายสินค้าสุราษฎร์ธานี คือการ วางแผนจัดส่งปูนซีเมนต์ผงและถุงจากโรงงานสระบุรีไปภาคใต้ การวางแผนเตรียมความพร้อมของเครื่องจักร การวางแผนการบรรจุปูนซีเมนต์ถุง การการวางแผนเก็บสต็อกสินค้า การวางแผนการจ่ายสินค้า และการวางแผนการจัดส่งสินค้า ซึ่งรวมเรียกว่าการวางแผนด้านอุปทาน (Supply Planning) ให้สอดคล้องกับการวางแผนประมาณการความต้องการของลูกค้า หรือการวางแผนด้านอุปสงค์ (Demand Planning)โดยจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ได้แก่สภาพการแข่งขันในตลาด เหตุการณ์ด้านสังคมและการเมืองและสภาพดินฟ้าอากาศ เครื่องมือที่บริษัทฯนำมาใช้ในการวางแผนดังกล่าวเรียกว่า Stock Model

          นอกจากความสอดคล้องกลมกลืน (Synchronization) ระหว่างการวางแผนด้านอุปทานและการวางแผนด้านอุปสงค์แล้ว การบริหารการขนส่ง (Transportation Management) ก็ถือเป็นกุญแจที่สำคัญอีกดอกหนึ่ง เพราะเป็นตัวจักรสำคัญที่มีผลต่อต้นทุนของสินค้า โดยเฉพาะต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนการสต็อกสินค้า บริษัทฯ ได้เลือกจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นที่ตั้งของศูนย์กระจายสินค้า ด้วยความเหมาะสมด้าน ภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ราบปากแม่น้ำที่มีน้ำลึกพอสมควร ทำให้สามารถสร้างท่าเรือ และเชื่อมต่อทางถนนไป ยังจังหวัดอื่นๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีต้นทุนที่เหมาะสม โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดที่มี การเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูง นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อทางทะเลกับท่าเรือขนาดใหญ่อื่นๆ ได้อีก เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด

 

            บริษัทฯ เลือกการขนส่งทางน้ำด้วยเรือลำเลียงเป็นวิธีการขนส่งหลักเนื่องจากมีต้นทุนต่ำสุด และสอด คล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตามแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์แห่งชาติปี พ.ศ.2548 ที่มุ่งส่งเสริมให้มีการ เปลี่ยนวิธีการขนส่งทางถนนเป็นทางน้ำและทางรถไฟ โดยบริษัทฯ ขนส่งปูนซีเมนต์ทางรถยนต์จากโรงงานสระบุรีมาขนถ่ายลงเรือลำเลียงที่ท่าเรือบริเวณอำเภอนครหลวง จังหวัดอยุธยา เพื่อขนส่งทางเรือเลียบชายฝั่งทะเลไปยังศูนย์กระจายสินค้าสุราษฎร์ธานี สินค้าส่วนหนึ่งจ่ายให้ลูกค้าที่ศูนย์กระจายสินค้า สุราษฎร์ธานี อีกส่วนหนึ่งก็จะขนถ่ายขึ้นรถยนต์บรรทุกส่งไปยังจุดหมายปลายทางที่ลูกค้าระบุ เรียกว่า เป็นวิธีขนส่งหลายรูปแบบ (Multi-model Transportation) หัวใจของการขนส่งรูปแบบนี้ คือการขนถ่าย ที่รวดเร็วและเสียหายน้อย โดยการนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาใช้เพื่อลดเวลาและแรงงาน บริษัทฯ ใช้แผ่นรองสินค้า (Pallet) และสายรัดสินค้า (Pre-sling) มาใช้ร่วมกับรถยกและเครน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนถ่าย

          เป็นที่ทราบกันดีว่าการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างภาคใต้กับภาคบน แม้จะมีต้นทุนต่ำสุดแต่ก็มีอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ควบคุมเวลาในการขนส่งได้ลำบากประมาณ 6-8 เดือน ใน 1 ปี ซึ่งเป็นช่วงมรสุม สภาวะคลื่นลมในทะเลที่แรงจัด ทำให้ต้องจอดขบวนเรือลำเลียง รอให้คลื่นลมสงบก่อนจึงเดินทางต่อได้บางครั้งต้องเสียเวลารอ 5 -7 วัน และฝนตกเกือบทุกวันที่สุราษฎร์ธานี ทำให้เสียเวลาในการขนถ่าย ในช่วงนี้บริษัทฯ ต้องปรับสต็อกให้มากกว่าปกติ นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการขนส่ง (Flexibility) และหลีกเลี่ยงปัญหาสินค้าหมดสต็อก (Stock out) บริษัทฯ ยังใช้วิธีการขนส่งรูปแบบอื่นอีก 4 วิธี ได้แก่ การขนส่งทางเรือด้วยตู้คอนเทนเนอร์ การขนส่งทางเรือโดยใช้เรือลำเลียงติดเครื่องยนต์ (Motor Barge) การขนส่งทางรถไฟ และการขนส่งทางรถยนต์แบบ 2 ขา ซึ่งแต่ละวิธีการขนส่งมีต้นทุนที่แตกต่างกัน บริษัทฯ ต้องบริหารให้สมดุลย์ระหว่างต้นทุน และความพร้อมของสินค้า (Availability) เพื่อให้บรรลุเป้า หมายที่กำหนด

            อีกกลยุทธ์ที่สำคัญอีกกลยุทธ์หนึ่ง ที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมๆ กับกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน คือการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Networking) เพื่อช่วยกันลดจุดอ่อนและสร้างจุดแข็ง แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล และใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Resource Sharing) ในระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Alliance) ปัจจุบันบริษัทฯ มีพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญในภาคใต้ได้แก่ บริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งมีศักยภาพสูงในการบริหารท่าเทียบเรือและคลังสินค้าในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและ บริษัท SC Carrier จำกัด ซึ่งมีศักยภาพสูงในการขนส่งสินค้าทางเรือด้วยตู้คอนเทนเนอร์ และให้บริการส่งสินค้าแบบประตูถึงประตู (Door to Door Service) ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรมทางธุรกิจแล้ว บริษัทฯ และพันธมิตร ยังร่วมกันดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาระบบจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และความ ปลอดภัยในการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ชุมชนและธุรกิจสามารถเดินคู่ไปด้วยกันได้ อย่างยั่งยืน

            มาถึงวันนี้ บริษัทฯ มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ศูนย์กระจายสินค้าสุราษฎร์ธานี เป็นฐานที่มั่นสำคัญในภาคใต้ ของอินทรีโลจิสติกส์ ที่พร้อมตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าให้ “ได้ดั่งใจ” (As I Wish) ภายใต้ นโยบาย การมุ่งสร้างคุณค่า ด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือร่วมใจอย่างมีประสิทธิภาพของทุกหน่วย ธุรกิจภายในบริษัทฯ และพันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดทั้งสายโซ่ธุรกิจจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ที่มา รภัทร ธนโชติกีรติ 

นักวิเคราะห์โซ่อุปทาน ศูนย์กระจายสินค้าสุราษฎร์ธานี 

บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *