ทักษะการคิดกับผู้นำ

ทักษะการคิดกับผู้นำ
“ผู้นำ” (Leader) กับ “ทักษะการคิด” (Thinking Skill) เกี่ยวเนื่องกันอย่างน่าสนใจ ทักษะการคิดได้ชื่อว่าเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่ช่วยให้คนได้รับความสำเร็จในชีวิต เพราะทักษะการคิดเป็นตัวดึงเอาทักษะด้านความรู้ (Technical Skill) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด และทักษะการคิดเป็น “ต้นทาง” ของทักษะด้านคน (Human Skill)
ถ้าผู้บริหารมีทักษะการคิดไปในแนวทางใด การพูดและการกระทำก็จะเป็นไปในแนวนั้น ถ้าการคิดเป็นไปในทางลบ เขาก็จะพูดและตัดสินใจทำอะไรไปในทางลบและบั่นทอน ถ้าคิดไปในทางบวก เขาก็จะพูดและตัดสินใจทำอะไรไปในทางทางบวกและสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งดีงามให้แก่บริษัทและประเทศชาติ ทักษะการคิดจึงสำคัญต่อผู้นำเป็นอย่างมาก
“ผู้บริหาร” สู่ “ผู้นำ”
ผู้บริหาร กับ ผู้นำ มีความแตกต่างกัน
“ผู้บริหาร” คือตำแหน่งหน้าที่ แต่ “ผู้นำ” คือคุณสมบัติและความสามารถของคน
ผู้บริหารบางคนมีความเป็นผู้นำอยู่ด้วย ขณะที่ผู้บริหารบางคนมีความเป็นผู้นำอยู่เล็กน้อย บางคนไม่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหาร แต่มีความเป็นผู้นำและสามารถนำพาผู้คนให้คิดและทำจนงานสำเร็จได้อย่างมีความสุข ถ้าผู้บริหารคนใดมีความเป็นผู้นำอยู่ด้วย ก็จะสามารถทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่คนรอบข้างและผู้ใต้บังคับบัญชามีความสุขและความสบายใจที่ได้ทำงานร่วมด้วย
การเป็นผู้นำมีความสำคัญมากต่อการเป็นผู้บริหาร คนที่มีตำแหน่งบริหารแต่ยังไม่ถนัดในการเป็นผู้นำก็มีอยู่บ้าง สมัยนี้ความเป็นผู้นำสามารถเรียนกันได้และฝึกฝนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีข่าวดีสำหรับเรา คือ ขณะนี้มีผู้บริหารระดับสูงซึ่งมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในหลายองค์กร มองเห็นทะลุปรุโปร่งว่า การที่จะฝึกความเป็นผู้นำให้ผู้บริหารทุกระดับในองค์กรนั้น แก่นแท้ที่เป็นหัวใจสำคัญที่ควรเริ่มต้นก่อน คือการฝึกให้ผู้บริหารสามารถคิดอย่างเป็นระบบและคิดแบบ “องค์รวม” อย่างสร้างสรรค์ (Creative Conceptual Thinking) ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะการคิดเป็นที่มาของการกระทำทุกอย่างในทุกขั้นตอนของการบริหาร การทำงาน และการดำเนินชีวิตส่วนตัว
การคิดแบบองค์รวมอย่างสร้างสรรค์ (Creative Conceptual Thinking) ทำให้ผู้บริหารมีความสามารถในการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะเขาจะมีทักษะการคิดที่ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ความคิดเช่นนี้จะทำให้เขาเป็นผู้นำ
คนทุกคนสามารถเรียนรู้และฝึกฝนที่จะคิดแบบองค์รวมอย่างสร้างสรรค์ และคิดอย่างผู้นำได้ ผู้นำที่มีประสิทธิภาพสูงจะสามารถคิดแบบองค์รวมคนเดียวก็ได้ และสามารถเป็นผู้นำให้คนอื่นๆ คิดแบบองค์รวมด้วยกันในการประชุมได้
ผู้บริหารที่มีความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพนี้จะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายปลายทางได้อย่างสำเร็จและคนรอบข้างมีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับเขา
คุณสมบัติ “ผู้นำ” ที่คิดแบบองค์รวมอย่างสร้างสรรค์ได้
1.โฟกัสถูกจุด “ผู้นำ” รู้ชัดเจนว่าจะทำอะไร ต้องการอะไร จึงไม่เสียเวลากับเรื่องที่ไม่ใช่ประเด็น สนใจแก่น ไม่ใช่เปลือก เขาจะคิดอะไรอยู่ ทำอะไรอยู่ก็ตาม มักไม่หลงประเด็น งานจึงสำเร็จได้ในเวลาอันสั้น
2.มองออก จับแก่นได้ “ผู้นำ” มีความพยายามที่จะสรุปเรื่องราวที่ได้รู้ด้วยตนเองว่าแก่นแท้คืออะไร โดยไม่ต้องรอให้มีคนมาสรุปให้ตนจึงจะรู้ นำสิ่งที่ได้รู้ไปคิดเองได้ว่าเจตนารมณ์ของเรื่องราวเหล่านั้นคืออะไร สามารถเชื่อมโยงได้ว่าตนน่าจะนำสิ่งที่รู้ไปใช้ประโยชน์ในงานและในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง
3.มองกว้าง มองครบ และมองภาพใหญ่ได้ “ผู้นำ” สามารถคิดแบบองค์รวมได้เหมือนคนที่สามารถปีนขึ้นไปบนยอดเขาได้แล้วมองลงมาด้านล่าง จึงสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ครบ และเห็นสิ่งที่คนที่ยืนอยู่ด้านล่างมองไม่เห็น เมื่อมองกว้างได้ ใจของเขาจะพลอยกว้างขึ้นด้วย เวลาเขาคิดกว้างแล้วคนบางคนมองไม่ออกและแสดงปฏิกิริยาโต้แย้งและไม่พอใจ เขาจึงเข้าใจและไม่โกรธเพราะรู้ว่าเห็นภาพต่างกัน
4.เปิดใจ เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ ใจของ “ผู้นำ” มีความพร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆ ตั้งใจอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น พร้อมปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ๆ จึงปรับตัวได้ง่าย เรียนรู้ได้ง่าย เข้ากับคนอื่นๆ ได้ง่าย ไม่มีข้อจำกัดในชีวิตมาก
5.อดทนต่อสิ่งคลุมเครือ สิ่งที่ไม่รู้มักเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนส่วนใหญ่ “ผู้นำ” จะสามารถอดทนต่อสิ่งที่ไม่รู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ได้มากกว่าคนทั่วๆ ไป เขาจะกล้าอดทนและเดินหน้าลงมือทำเพื่อให้รู้ เมื่อรู้แล้วก็ไม่มีอะไรน่ากลัว
6.กล้าคิดกล้าทำเรื่องจริงของตนเอง “ผู้นำ” จะสนุกกับการกล้าคิดกล้าทดลองทำเรื่องจริงเหตุการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นในองค์กรของตนเอง ผู้นำจึงเป็นผู้สร้างกรณีตัวอย่าง ส่วน “ผู้ตาม” สนุกกับการศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์กรณีตัวอย่างของผู้อื่น แต่ไม่กล้าลงมือทำกรณีของตนเอง
7.เล่นบทบาทได้ถูกสถานการณ์ และถูกกาลเทศะ “ผู้นำ” ที่แท้สามารถนำได้ และตามเป็น เพราะเขาแยกแยะออกชัดเจนว่ายามไหนควรนำ และยามไหนควรเปิดทางให้คนอื่นนำ สามารถเล่นบทบาทได้ถูกต้องกลมกลืนกับกาลเทศะ เช่น ถ้ากำลังเล่นบทบาทของครูที่กำลังฝึกคนให้ขี่จักรยาน เขาก็เข้มแข็งและจดจ่อกับการฝึกให้คนทำให้ได้ แต่ถ้าเขากำลังเข้าเรียนวิธีนั่งสมาธิและเดินจงกลมซึ่งตนทำไม่เป็น เขาก็ยอมเป็นผู้เรียนที่ทำตามครูสอนตามขั้นตอนที่ครูกำหนด เขาจะรู้กาลเทศะมากพอที่จะไม่สับสนในบทบาทจนคิดวิจารณ์การสอนของครูที่สอนสมาธิว่าไม่เหมาะไม่ควรอย่างไร ทั้งที่ตนไม่รู้เรื่องนั้น
8.คิดเป็น ผู้นำชอบคิดหาคำตอบให้กับคำถาม มากกว่าชอบตั้งคำถามเพื่อให้คนอื่นหาคำตอบให้ เพราะผู้นำเป็นคนที่คิดเป็น ผู้นำจึงเป็นคนตอบเก่ง ส่วนผู้ตามเป็นคนถามเก่งแต่ไม่เคยคิดหาคำตอบ
ที่มา : รัศมี ธันยธร ผู้อำนวยการศูนย์ความคิดสร้างสรรค์ www.creativitycenter.co.th

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *