องค์กรการเงินระดับฐานราก

องค์กรการเงินระดับฐานราก
ดร. สมชัย สัจจพงษ์ กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2551
ในบทความนี้ ผมขอให้คำจำกัดความขององค์กรการเงินระดับฐานรากว่าหมายถึง องค์กรหรือกลุ่มใดๆ ไม่ว่าจะรวมตัวกันเป็นหน่วยงานอย่างเป็นทางการ หรือการรวมกลุ่มกันกึ่งทางการหรือไม่เป็นทางการ ระหว่างประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือคนยากจนในหมู่บ้าน ชุมชนหรือพื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ของการได้รับโอกาส ในการใช้บริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ
จริงๆ แล้วผมจะใช้คำว่า รากหญ้า (grass root) แทนฐานราก แต่เนื่องจากองค์กรเอกชน และผู้รู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนได้กล่าวไว้ในหลายที่และหลายโอกาสว่า คนยากจนและคนรายได้น้อย รู้สึกไม่ค่อยสบายใจนักกับคำว่า รากหญ้า เนื่องจากการเป็นรากหญ้านั้นเปรียบเสมือนการถูกเหยียบย่ำ ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้คำว่า ฐานราก แทนน่าจะเหมาะสมกว่า ซึ่งผมก็เห็นด้วย
จากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง พบว่า เราสามารถแบ่งองค์กรการเงินสำหรับประชาชน ในระดับฐานรากได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่อยู่ในระบบ กลุ่มที่เป็นกึ่งในระบบ และกลุ่มที่พึ่งพิงตนเอง
กลุ่มที่อยู่ในระบบ ได้แก่ กลุ่มที่มีการกำกับดูแลจากกระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ยากจน หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
กลุ่มที่เป็นกึ่งในระบบ ได้แก่ กลุ่มที่มีการกำกับดูแลจากหน่วยงานราชการอื่น ที่ไม่ใช่กระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองภายใต้การดูแลของ สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย สหกรณ์ออมทรัพย์ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โรงรับจำนำและองค์กรทางการเงินรูปแบบต่างๆ ภายใต้การดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นต้น
กลุ่มที่พึ่งพิงตนเอง ได้แก่ กลุ่มที่มีการกำกับดูแลกันเองระหว่างสมาชิกโดยมิได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง หรือได้รับการสนับสนุนก็เป็นเพียงส่วนน้อย ความคงอยู่ของกลุ่มเกิดจากการมีผู้นำท้องถิ่นที่เป็นที่นับถือของชาวบ้าน ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการชี้นำกลุ่ม เช่น กลุ่มออมทรัพย์คลองเปียะ ศูนย์รวมน้ำใจธนาคารหมู่บ้านอำเภอดอกคำใต้ ธนาคารหมู่บ้าน และกลุ่มสัจจะออมทรัพย์จังหวัดตราด เป็นต้น
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยกับผมว่า รัฐบาลชุดนี้นับว่ามีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการแพร่กระจาย ขององค์กรการเงินระดับฐานราก โดยตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองประมาณกว่า 74,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โอกาสกลุ่มคนด้อยโอกาสทางสังคม คนยากคนจนได้เข้าถึงบริการทางการเงินและแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ
นอกจากนี้ ปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังกำลังมีโครงการ และมาตรการในการส่งเสริมความแข็งแกร่ง ให้แก่บริการทางการเงินระดับฐานราก โดยจะส่งเสริมให้มีการรวมตัวจัดตั้งองค์กรการเงินระดับฐานราก ในหมู่ของชาวบ้านขึ้นเองมากขึ้น ในทำนองเดียวกับกลุ่มที่พึ่งพิงตนเอง และทางการจะพยายามเข้าไปช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และการบริหารจัดการที่ดีให้ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล ระบบบัญชี ระบบการรายงาน และระบบบริหารความเสี่ยงเป็นต้น
อีกทั้งทางการจะวางระบบกลไก ในการเชื่อมโยงธุรกรรมขององค์กรทางการเงินระดับฐานรากเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อสามารถช่วยจัดสรรเงินทุนที่มีเหลือในองค์กรใดองค์กรหนึ่งไปยังองค์กรที่ขาดเงินทุน ซึ่งจะเป็นการช่วยในการจัดสรรเงินทุนขององค์กรเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผมมีความเชื่อว่าองค์กรการเงินระดับฐานรากส่วนใหญ่เกิดขึ้น และจัดตั้งมาก่อนที่รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญ และกำหนดเป็นนโยบายเสียอีก และองค์กรเหล่านี้ได้พิสูจน์ตนเองมาระดับหนึ่งแล้วว่า สามารถอยู่รอด และเป็นที่พึ่งทางการเงินอย่างแข็งแกร่งให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นของตนเองได้ สิ่งที่กระทรวงการคลังจะทำก็คือ การนำตัวอย่างความสำเร็จขององค์กรเหล่านี้เผยแพร่ในชุมชนอื่นอย่างทั่วถึง เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรการเงินดังกล่าว และรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะสร้างกลไกการเชื่อมโยงเงินทุนระหว่างองค์กรตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ท่านผู้อ่านจะได้เห็นองค์กรการเงินระดับฐานรากเหล่านี้เกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด เนื่องจากทางการมีนโยบายสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ แต่อย่างไรก็ตามหากองค์กรดังกล่าวเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ดจริง สิ่งที่รัฐบาลจะต้องรับประกันและต้องดำเนินการ ได้แก่ การไม่ปล่อยให้ดอกเห็ดเหล่านี้ติดไวรัส และแพร่โรคร้ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทย และต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ดอกเห็ดนี้เป็นดอกเห็ดแห่งความเจริญ
หากว่ารัฐบาลสามารถทำได้ ผมมั่นใจครับว่าองค์กรการเงินเหล่านี้จะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น และแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ อีกทั้งจะเป็นกลไกในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากดอกเห็ดเล่านี้กลับกลายมาเป็นไวรัสแห่งโรคร้ายทางเศรษฐกิจ (การล้มละลายขององค์กร) ภัยพิบัติทางเศรษฐกิจภาคครัวเรือนอาจจะเป็นบ่อเกิดของวิกฤติเศรษฐกิจรอบต่อไปก็ได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ที่กระทรวงการคลังได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำร่วมกับองค์กรชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในการส่งเสริมบริการทางการเงินระดับฐานรากให้มีความแข็งแกร่ง มีระบบการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ที่ดี และมีการเชื่อมโยงธุรกรรมทางการเงินเข้าด้วยกัน
ดังนั้น ต่อไปนี้ท่านผู้อ่านก็คงต้องคอยลุ้นและเป็นกำลังใจให้ทางการสามารถดำเนินการตามที่ผมได้อธิบายไว้ได้อย่างสัมฤทธิผล และประสบผลสำเร็จตามที่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้เทอญ สาธุ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *