การคิดเชิงวิเคราะห์

การคิดเชิงวิเคราะห์
(Analytical Thinking)

บทความโดย : พ.ต.ท.อินทรัตน์ ปัญญา
นทน.หลักสูตรหลักประจำ รร.สธ.ทบ.สบส. ชุดที่ 87
หมายเลข 87231 พวก 4
27 มกราคม พ.ศ.2552

1.ความสำคัญของการคิด

จากความร้อนแรงของการพัฒนาเทคโนโลยี และคอมพิวเตอร์ ในช่วงทศวรรษที่ 80 ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ทางการสื่อสารที่สามารถเชื่อมโยงสังคมต่างๆ ทุกมุมโลกให้เข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และได้ผลักดันทุกสังคมโลกให้เข้าสู่ยุคใหม่ทางวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกตามมาอย่างรวดเร็ว หรือที่รู้จักกันในคำว่า “โลกาภิวัตน์” (Globalization)
การเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคนี้มีผลสำคัญที่ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านทางความคิด (Chaos Thinking) ซึ่งมนุษย์จำต้องเผชิญกับสิ่งเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่รวดเร็ว และรุนแรง อันเป็นการชี้นำความคิดเฉพาะบุคคลจนกลายเป็นการชี้นำทางวัฒนธรรม (Navigate Culture) และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงปทัฏฐานทางสังคม (Social Norm) ในที่สุดสังคมจะมีสภาพไร้กฎเกณฑ์ (Anomie) (Emile Durkheim, 1893) ไปอย่างง่ายดาย ยากต่อการควบคุมผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง
การเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว เป็นอันตราย และคุกคามต่อทุกสังคมในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่ปราศจากภูมิคุ้มกันที่ดีเพียงพอ ซึ่งมักเป็นสังคมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่คิดว่าดีกว่า หรือเป็นความเจริญก้าวหน้าในสังคม อันเกิดจากความต้องการความคาดหวังของผู้คนในสังคมนั้นๆ ตามอย่างสังคมที่เรียกตนเองว่าพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย
ผลของการเปลี่ยนรูปสังคมล่อแหลมต่อการสูญเสีย “อัตลักษณ์” (Identity) หรือ ความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีต่อตนเองว่า “ฉันคือใคร” ด้วยการตระหนัก (awareness) ในตัวเรา และพื้นฐานที่ถูกเลือก (นัทธนัย ประสานนาม, 2550 อ้างใน http://semeion.multiply.com/journal/item/2/2) ทั้งบุคคล และสังคมที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่ ซึ่งมีความสามารถพอจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “อัตลักษณ์” หรือทำให้หายไปได้โดยสิ้นเชิง
เช่นเดียวกับการไหลของวัฒนธรรมตะวันตก และของชนชาติอื่นๆ ในประเทศไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้วยการรับเอาค่านิยมใหม่ๆ มาโดยไม่ระมัดระวัง โดยถูกสอดแทรกและแพร่ จากสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และอื่นๆ หรือแม้แต่ในโลกไซเบอร์ (Cyberworlds) แก่บุคคลโดยทั่วไปอย่างไม่เจาะจง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อทัศนคติของคนไทย โดยเฉพาะต่อระบบคิดที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสถาบันหลัก และความมั่นคงของชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เด็ก และเยาวชน คือ บุคคลที่ล่อแหลมต่อการรับเอาค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ ด้วยความเป็นบุคคลที่อยู่ในวัยเรียนรู้ ซึ่งพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ ประกอบกับความไม่รู้ หรือมีองค์ความรู้ไม่เพียงพอ ย่อมได้รับผลกระทบที่เร็วกว่าในวัยอื่นๆ ตลอดจนปัญหาภายในสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมได้ผลักให้เด็ก และเยาวชนหันไปรับเอาค่านิยมและวัฒนธรรมรอง (Subcultural) โดยปฏิเสธสิ่งดั้งเดิมไปเสีย (Frederic Milton Thrasher, 1927: 46) จนกลายเป็นปัญหาทางสังคมและอาชญากรรม แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบุคคลในวัยอื่นๆ จะไม่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ด้วย
การป้องกันและการแก้ไขใดๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมุ่งไปที่การสร้างภูมิคุ้มกันในกระบวนคิดของมนุษย์ ให้เกิดการคิดอย่างมีระบบ มีวิจารณญาณ ตระหนักได้ว่าสิ่งที่เข้ามากระทบนั้นมีองค์ประกอบอย่างไร และแต่ละองค์ประกอบนั้น เกี่ยวข้องกับเราในด้านใดบ้าง และจะส่งผลกระทบต่อตัวเรา และสังคมอย่างไร
ดังนั้น การสร้างกระบวนการคิด จึงมีความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยปัจจุบัน ซึ่งได้ประกาศใช้มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อ 15 พ.ย.2548 โดย กำหนดตัวบ่งชี้มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในมาตรฐานที่ 4 (มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง และมีวิสัยทัศน์) (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2550 : 34 – 47) ประกอบด้วย
1.สามารถจำแนกประเภทข้อมูล เปรียบเทียบ และมีความคิดรวบยอด
2.สามารถประเมินค่าความน่าเชื่อถือของข้อมูล รู้จักพิจารณา ข้อดี-ข้อเสีย, ความถูก-ผิด, ระบุสาเหตุ-ผล, ค้นหาคำตอบเลือกวิธี และมีปฏิภาณในการแก้ปัญหาและตัดสินใจได้อย่างสันติ และมีความถูกต้องเหมาะสม
3.มีความคิดริเริ่ม มีจินตนาการ สามารถคาดการณ์และกำหนดเป้าหมายได้

โดยมีความมุ่งหมายตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 โดยสรุปกล่าวคือ เพื่อให้คนไทยมีความสุขกาย สุขใจ มีสติปัญญา ความรู้ และมีคุณธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นๆได้อย่างมีความสุข (มาตรา6) โดยต้องปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม และของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง (มาตรา7) (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2550: 3 – 4)
ความสำคัญดังกล่าวไม่ควรปิดกั้นอยู่เพียงแต่ในหน่วยงานราชการ หรือ องค์กรการศึกษา เท่านั้น เพราะมักจะล่าช้าเกินกว่าพลวัตทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีการแข่งขันสูง แต่ควรที่เราทุกคนจะได้มีส่วนรวมในกระบวนการจัดสรรการเรียนรู้ ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และขยายต่อไปยังสังคมแวดล้อม ด้วยความตระหนักรู้ผ่านกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คนไทย และประเทศไทย จะสามารถก้าวพ้นความไม่รู้และความรู้ที่เป็นภัยในโลกยุคโลกาภิวัตน์ไปสู่การตระหนักรู้แห่งโลกยุคสังคมฐานความรู้ (Knowledge based society) ซึ่งจะดำรงอัตลักษณ์ของชาติไทยมิให้สูญหายไปตามกาลเวลา

2.การคิดคืออะไร ?

“การคิด” มักเกิดขึ้นและเกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราจำต้องใช้ “การคิด” เพื่อความมุ่งหมายอย่างต่างๆ ทั้งแสวงหาคำตอบ ตอบคำถาม สนับสนุน ยืนยันหรือแก้ไขปัญหาที่ต้องเผชิญหรือเข้าไปเกี่ยวข้อง อีกทั้ง “การคิด” ยังเป็นส่วนสำคัญที่มนุษย์มีความสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เหนือกว่าสัตว์อื่น (ดร.ไสว ฝักขาว, 2549) แต่มักถูกมองข้ามความสำคัญไปโดยไม่ได้รับความใส่ใจ ในความสำคัญดังกล่าวนี้มีนักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงไว้ดังนี้

ไบเออร์ (Beyer, 1987) (ดร.สุวิทย์ มูลคำ, 2549: 13) ได้กล่าวว่า “การคิด” คือ การค้นหาความหมาย ผู้ที่คิดคือผู้ที่กำลังค้นหาความหมายของอะไรบางอย่าง นั้นคือกำลังใช้สติปัญญาของตนเอง ทำความเข้าใจกับการนำความรู้ใหม่ที่ได้รับรวมเข้ากับความรู้ดั้งเดิมหรือประสบการณ์ที่มีอยู่ เพื่อหาคำตอบว่าคืออะไร หรือการเอาข้อมูลที่เพิ่งรับเข้ามาใหม่ ไปรวมกับข้อมูลเก่าที่รำลึกได้ เพื่อสร้างเป็นความคิดอ่านหรือข้อตัดสิน

ดิวอี้ (Dewey, 1933 อ้างใน http://thinking-nited.blogspot.com) ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับความสำคัญของการคิดว่า เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเพราะการคิดช่วยให้คนได้มองเห็นภาพปัญหาต่าง ๆ ในอนาคตซึ่งจะช่วยให้บุคคลได้คิดหาแนวทางในการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้และการคิดช่วยขยายความหมายของสิ่งต่างๆ ใน โลกได้ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการคิดคือ คนจะมีการปฏิบัติหรือการกระทำตามที่เขาคิดถึงแม้ว่ามันจะถูกหรือผิดก็ตาม เนื่องจากการคิดมีพลังอำนาจ จึงต้องการการควบคุมโดยได้แนะนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการช่วยรักษาความคิดให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยมีการควบคุมเงื่อนไขภายใต้การสังเกต และการสรุปความคิดตามสิ่งที่เกิดขึ้นและได้มีการทบทวนแนวคิด โดยกล่าวว่า สิ่งที่บุคคลรู้จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดครั้งแรกแล้วจึงนำไปสู่การคิดในสิ่งอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความสมบูรณ์ของกระบวนการคิดนั้น
เนื่องจากการคิดมีอิทธิพลอย่างมากจากกิเลสที่อยู่ภายในตัวบุคคล และสังคม การคิดที่ผิดจึงได้กำหนดเงื่อนไขโดยเปิดใจกว้างในการคิด ซึ่งจะช่วยให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมและเป็นจริง และจากการควบคุมเงื่อนไขสามารถช่วยกำหนดกรอบแนวคิดที่ดีสำหรับความจริง ทำให้การคิดมีความสมบูรณ์ขึ้นโดยจะพยายามให้เกิดความชัดเจนในการตรวจสอบโดยปราศจากอคติ

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2547) ผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา นักวิชาการด้านการคิดที่มีชื่อเสียงของประเทศ และยังเป็นที่ปรึกษาอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้ให้ทัศนะไว้ในการบรรยาย เรื่อง “การคิดแบบนักบริหาร” ไว้ตอนหนึ่งว่า (เอกสารการบรรยายหลักสูตรนายอำเภอรุ่นที่ 56, 2547: 1) “การคิดเป็นผลจากการทำงานของสมองในการก่อรูป (Formulate) บางสิ่งบางอย่างขึ้นในมโนคติ (mind) ผ่านการทำงานของระบบการรับรู้ทางจิต (cognitive system) โดยในบางส่วนของความคิดจะทำหน้าที่แยกแยะการกระทำและความรู้สึกผ่านกระบวนการทางความคิดอันนำไปสู่พฤติกรรมที่ตอบสนองสถานการณ์นั้น การคิดเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เหมือนกัน เป็นจินตนาการ หวนรำลึก ใช้เหตุผล และแก้ไขปัญหา” นอกจากนั้นแล้วยังเสริมเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้คนเราคิดพอกล่าวสรุปได้ดังนี้
1) การคิดเกี่ยวข้องกับความอยู่รอด เพราะความอยู่รอดจะทำให้เราคิด และหากไม่มีก็จะเป็นเรื่องยากที่จะอยู่รอด
2) ความต้องการสิ่งแปลกใหม่ กระตุ้นให้คิด เพราะมนุษย์ไม่ได้ยึดติดกับสิ่งเดิม และพยายามหาสิ่งใหม่อยู่เสมอ ทั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
3) ความสงสัย กระตุ้นให้คิด โดยเกิดการเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น เพื่อการคลี่คลายคำถามที่มีอยู่นั้นให้หมดสิ่งไป
4) สภาพปัญหา กระตุ้นให้คิด เพื่อหาทางออกของปัญหา หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่าเดิม จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้

ดร.สุวิทย์ มูลคำ (2549) นักวิชาการและนักบริหารด้านการศึกษา ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาไว้สรุปได้ว่า (ดร.สุวิทย์ มูลคำ, 2549: 1) “ผลลัพธ์สุดท้ายของการบริหารการศึกษาคือคุณภาพของนักเรียน กล่าวคือ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีลักษณะ เก่ง ดี มีความสุข จำเป็นค้นคว้าศึกษาหาวิธีพัฒนาต่างๆ มาใช้ โดยเฉพาะทักษะกระบวนการคิดให้เร็วที่สุด มิฉะนั้นจะไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งปัจจุบันและอนาคต คือ สงครามทางความคิด”

นักวิชาการทั้งสี่ท่านได้กล่าวถึงการความหมายและความสำคัญของการคิด ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งทำให้สรุปได้ว่า “การคิด” เกี่ยวพันกับการทำงานของสมอง ซึ่งมนุษย์รับรู้และตีความผ่านประสบการณ์เชิงมโนคติ การหาความหมายและคำตอบในสิ่งที่ต้องการที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการคิด เพื่อสร้างการคิดอ่านหรือข้อตัดสินที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนความจำเป็นในการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดเพื่อไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้นเอง
อย่างไรก็ตามการทำความเข้าใจกับ “การคิด” ยังสามารถนำหลักวิชาการหลายแขนงมาอธิบายได้อย่างกว้างขวาง และลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เป็นต้นว่า 1) ด้านการแพทย์ และ จิตวิทยา มองว่า “การคิด” เป็นผลมาจากการทำงานของสมอง เนื่องจากมีสิ่งเร้ากระตุ้นให้เกิดการคิด ผลของการคิดแต่ละแบบมีส่วนสัมพันธ์กับการทำงานของสมองแต่ละส่วน ตามที่ สเปอร์รีย์ และ ออร์นสไตล์ (ดร.สุวิทย์ มูลคำ, 2549: 14) ค้นพบว่า สมองมนุษย์แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ซีกที่มีหน้าที่ต่างกัน คือ “สมองซีกซ้าย” จะทำหน้าที่สั่งการเกี่ยวกับ คำ ภาษา ตรรกะ จำนวน ลำดับ ระบบ กรวิเคราะห์ และการแสดงออก ส่วน “สมองซีกขวา” จะทำหน้าที่สั่งการเกี่ยวกับ จังหวะ ดนตรี ศิลปะ จินตนาการ การสร้างภาพ การรับรู้ การสังเคราะห์ การเห็นภาพรวม ความจำ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งความถนัด และพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออก จะแตกต่างกันเนื่องจากการได้รับการพัฒนาของสมองในแต่ละซีกที่แตกตางกันนั้นเอง ดังนั้น หากสมองเสียหายก็จะมีผลรบกวนหรือขัดขวางการใช้ความคิด นอกจากนั้นแล้ว ความสมดุลของสารอาหารและวิตามินก็มีผลกระทบต่อการคิดด้วยเช่นกัน เช่น ความก้าวร้าวรุนแรงเป็นผลมาจากการขาดวิตามิน หรือ การได้รับสารเสพติด เป็นต้น ตลอดจน การอบรมเลี้ยงดูซึ่งทำให้ มีเชาวน์ปัญญา (Intelligence Quotient: IQ), เชาวน์อารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) แตกต่างกันไปด้วย 2) ด้านสังคมศาสตร์ ทางอาชญาวิทยา มองว่า ความคิดในการกระทำผิดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่เป็นเจตจำนงอิสระ (Free Will), ความผิดปกติของสมองทำให้การทำงานของสมองบกพร่อง หรือความผิดปกติทางร่างกายซึ่งทำให้ถูกรังเกลียด หรือแม้แต่ปรัชญาการมองโลกที่เกิดจากการอบรมสั่งสอง, วัฒนธรรม, ประเพณี, ค่านิยม และประสบการณ์ต่างๆ ที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องในบริบทหนึ่งๆ มีส่วนกำหนดพฤติกรรมการกระทำผิด หรือแปลกแยกไปจากสังคมปกติได้

นักวิชาทางด้านการพัฒนากระบวนการคิดได้แบ่งประเภทของการคิด ซึ่งได้รับการยอมรับไว้ 10 กระบวนการคิด (เอกสารการบรรยายหลักสูตรนายอำเภอรุ่นที่ 56, 2547: 2-7) ประกอบด้วย
1.การคิดเชิงกลยุทธ์ คือ คิดเพื่อตัดสินใจชี้ขาดว่าจะทำอย่างไรเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการอย่างเป็นกระบวนการภายใต้เงื่อนไขและทรัพยากรที่มีอยู่
2.การคิดเชิงอนาคต คือ เป็นการคาดการณ์บทพื้นฐานของข้อมูล ความมีเหตุผล และการอุปมา อย่างมีจิตนาการและเป็นภาพรวมของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
3.การคิดเชิงสร้างสรรค์ คือ การคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงการสิ่เดิมไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างไปโดยสิ้นเชิงหรือที่เรียกว่า “นวัตกรรม” (Innovation)
4.การคิดเชิงวิพากษ์ คือ การตั้งข้อสังเกต ข้อสงสัย และคำถาม ด้วยการที่ไม่เชื่อหรือการปฏิเสธในที่สัมผัสทั้งการมองเห็นหรือการได้ยินได้ฟังมา ซึ่งไม่คล้อยตามไปโดยง่าย ด้วยการตั้งคำถามหรือโต้แย้งสมมุติฐานที่ซ่อนอยู่ เพื่อเปิดกว้างทางความคิดที่แตกต่างไป
5.วิเคราะห์เชิงบูรณาการ คือ ต้องคิดเพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม ไม่แยกส่วน เพราะปัญหามักก่อผลกระทบโดยภาพรวม ดังนั้นจึงต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างครบถ้วนเพื่อลดผลกระทบที่จะตามมา
6.การคิดเชิงวิเคราะห์ คือ เพื่อให้เกิดมุมมองที่มองเห็นอย่างเป็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์กันทั้งในความสัมพันธ์ทางเดียวหรือทางตรงข้าม และนำไปสู่การตีความและให้ความหมายในองค์ประกอบนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง อย่างเป็นเหตุเป็นผล และสอดคล้องกัน
7.การคิดเชิงเปรียบเทียบ คือ เทียบกับสิ่งใกล้เคียงกัน เทียบกับค่ามาตรฐาน หรือสิ่งที่เป็นเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความกระจ่างในข้อสงสัย หรือเพื่ออธิบาย หรือเพื่อการนำไปแก้ไขข้อปัญหา
8.การคิดเชิงสังเคราะห์ คือ เป็นความสามารถที่นำเอาองค์ประกอบต่างๆ มาผสมผสานเข้ากันเพื่อให้ได้สิ่งใหม่ตามความประสงค์ที่เราต้องการในคำตอบนั้นๆ หรือเอาของเดิมที่มีอยู่นำมาใช้ใหม่ตามความมุ่งหมายเดิม
9.การคิดเชิงมโนทัศน์ คือ การประสานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเข้าด้วยกันโดยไม่ขัดแย้ง อย่างคมชัดสามารถอธิบายได้ หรือเรียกว่าเป็นความคิดรวบยอดโดยมีกรอบความคิดที่ชัดเจนสามารถถ่ายทอดออกไปได้ ซึ่งจำเป็นต้องเป็นคนช่างสังเกต และตีความ ตลอดจนเปรียบเทียบได้อย่างกระจ่างชัด
10.การคิดเชิงประยุกต์ คือ ความสามารถที่จะนำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้ในบริบทใหม่ โดยหลักการแทนคุณสมบัติหลัก ปรับสิ่งเดิมเข้ากับสถานการณ์ และการหาสิ่งทดแทน

จากที่กล่าวข้างต้นสามารถจัดวางความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบในกระบวนการคิดทั้ง 10 แบบได้ดังนี้

แผนภาพที่1 : ความสัมพันธ์ของกระบวนการคิด 10 แบบ

จากแผนภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่า การคิดที่เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการคิดทั้ง 10 แบบ คือ “การคิดเชิงวิเคราะห์” ที่จะทำให้เกิดมุมมองอย่างถ้วนถี่ในการจำแนก ตีความ และอธิบายความสัมพันธ์ในองค์ประกอบของสิ่งที่ศึกษาหรือหาคำอธิบาย ซึ่งหากสามารถแยกองค์ประกอบของสถานการณ์นั้นได้อย่างเป็นระบบแล้ว ก็สามารถนำไปสู่การพิสูจน์ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเหล่านั้น ด้วยกระบวนการคิดอื่นๆ ทั้งเชิงวิพากษ์ เปรียบเทียบ และสามารถนำไปสู่การมองภาพสถานการณ์หรือปัญหาที่กระจ่างในการคิดเชิงมโนทัศน์ ซึ่งจะทำให้เกิดวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบมีกลยุทธ์ การวางแผนที่ดี ในเชิงบูรณาการ และมองการไกลไปสู่เป้าหมายในอนาคตอย่างมีกระบวนทัศน์ และสามารถสร้างสิ่งแก้ไข เพื่อปรับแต่ง หรือประยุกต์ใช้อย่างเป็นผลสำเร็จ ดังนั้น จึงสามารถกล่าวว่า “กระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์” เป็นส่วนสำคัญที่สุด หรือเป็นพื้นที่ฐานที่สำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการคิดแบบอื่นๆ ต่อไป

3.เทคนิคการคิดเชิงวิเคราะห์

เทคนิคการคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยเหลือผู้กำลังคิด ให้สามารถจำแนก, แยกแยะ, จัดหมวดหมู่, องค์ประกอบที่เกี่ยวพันในเนื้อหาของเรื่องที่กำลังคิดอย่างเป็นระบบ สามารถทำให้ผู้คิดมองเห็นความสัมพันธ์ได้อย่างสอดคล้องและกระจ่างชัด โดยไม่ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งง่ายต่อการนำไปศึกษาหรือพยายามทำความเข้าใจ ตลอดจนสามารถสืบค้นตรวจทานเนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบเหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้คิดสามารถนำไปตีความ หรือให้คุณค่าในเนื้อหาเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ทั้งนี้ มีนักวิชาการหลายท่านที่กล่าวถึงเทคนิคการคิดเชิงวิเคราะห์ไว้ ดังนี้
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้กล่าวโดยสรุปในการบรรยาย เรื่องการคิดเชิงวิเคราะห์ ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับกลางของกระทรวงมหาดไทย ไว้ตอนหนึ่งว่า “การคิดเชิงวิเคราะห์ ช่วยให้เราเข้าใจหลักการวิเคราะห์และนำไปใช้วิเคราะห์ทุกๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต สามารถอ่านสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างทะลุปรุโปร่งช่วยในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี และสามารถนำหลักแนวคิดวิธีการไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ อันจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและองค์กรต่อไปในอนาคต”
นอกจากนี้ ดร.ไสว ฝักขาว (2547) ยังได้ให้ความหมายของ “การคิดเชิงวิเคราะห์” ไว้ว่า “การคิดเชิงวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการจำแนกแจกแจงองค์ประกอบต่างๆของสิ่งใดสิ่งหนึ่งและหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น”
จากความหมายดังกล่าวจะเห็นว่าความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์นั้นมีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราอย่างมาก ในการที่บุคคลใดจะเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ที่ดีหรือไม่นั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการ (ดร.ไสว ฝักขาว, 2547) คือ
1) ความสามารถในการตีความ ซึ่งหมายถึง ความพยายามที่จะทำความเข้าใจและให้เหตุผลแก่สิ่งที่เราต้องการจะวิเคราะห์เพื่อแปลความหมายสิ่งที่ไม่ปรากฏของสิ่งนั้น ซึ่งแต่ละคนอาจใช้เกณฑ์ต่างกัน เช่น จากความรู้เดิม จากประสบการณ์ หรือจากข้อเขียนของคนอื่น
2) ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะวิเคราะห์ ผู้วิเคราะห์จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่จะวิเคราะห์ดีพอเสียก่อนไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการใช้ความรู้สึกส่วนตน
3) ความช่างสังเกต ช่างสงสัยและช่างถาม คุณสมบัติข้อนี้จะช่วยให้ผู้วิเคราะห์ได้ข้อมูลมากเพียงพอก่อนที่จะวิเคราะห์
4) ความสามารถในการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล โดยเริ่มจากการแจกแจงข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพรวมเสียก่อนจากนั้นจึงคิดหาเหตุผลเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อค้นหา ความจริง

นอกจากองค์ประกอบของการคิดเชิงวิเคราะห์ที่กล่าวมาแล้ว การเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ที่ดียังต้องมีคุณสมบัติ (ดร.ไสว ฝักขาว, 2547) ดังนี้
1) เป็นผู้ที่รับข้อมูลแล้วไม่ด่วนสรุป ผู้คิดจะต้องตีความข้อมูลที่ได้ให้กระจ่างเสียก่อนโดยเริ่มจาก การกำหนดนิยามของสิ่งที่จะคิดให้ตรงกัน จากนั้นจึงตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงเหตุผล โดยพิจารณาจาก สิ่งที่สื่อความหมายสัมพันธ์กัน สิ่งที่ละไว้ สิ่งที่ส่อนัย (Implication) และความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ในปัจจุบันคนในสังคมจำนวนไม่น้อยกำลังถูกหลอกให้หลงเชื่อสิ่งที่ไม่มีเหตุผลโดยการอ้างเหตุผลที่ไม่ถูกต้องแต่ดูเหมือนถูกต้องซึ่งในทางปรัชญาเรียกว่า “การใช้เหตุผลวิบัติ” (Fallacy)
2) เป็นผู้ไม่ด่วนแก้ปัญหาแต่มีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าปัญหาที่แท้จริง คืออะไรเสียก่อน อาจใช้เทคนิค Why-Why Analysis คือ การถามว่าทำไมไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 5 คำถาม
3) เป็นนักตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ที่ดี ซึ่งอาจเป็นคำถามในลักษณะต่อไปนี้
(1) คำถามแบบ “5Ws 1 H” คือ What (มันคืออะไร) Who (ใครเกี่ยวข้องบ้าง) Where (มันเกิดที่ไหน) When (มันเกิดเมื่อไร) Why (ทำไมจึงเกิดขึ้น และ How (มันเป็นอย่างไร)
(2) คำถามเชิงเงื่อนไข (Conditions) โดยถามในลักษณะ “ถ้า…….จะเกิด……….” (If…………….Then…………)
(3) คำถามเกี่ยวกับจำนวน (Number) หรือ ความถี่ (frequencies) เช่นเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นกี่ครั้งแล้ว หรือมีความถี่แค่ไหน
(4) คำถามเกี่ยวกับลำดับความสำคัญ (Priority) เช่น เราควรทำอะไรก่อน-หลัง
(5) คำถามเชิงเปรียบเทียบ (Comparative) เช่น สุขภาพกับความสุขอะไรสำคัญกว่ากัน

สำหรับเครื่องมือที่นักคิดเชิงวิเคราะห์นิยมใช้เพื่อช่วยในการคิด (ดร.ไสว ฝักขาว, 2547) ได้แก่
1) แผนผังแบบ Conceptual Map เช่น Concept Map, Web Diagram และ Mind Map
2) แผนภูมิแบบก้างปลา (Fishbone Diagram) ซึ่งนิยมใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุและผลกระทบ
3) แผนภาพแสดงความสัมพันธ์เชิงเหตุผล (Causal relation) ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งนิยมใช้สำหรับการคิดเชิงระบบ (System Thinking)

4.การนำเทคนิคการคิดเชิงวิเคราะห์มาใช้ในชีวิต

การนำเทคนิคการคิดเชิงวิเคราะห์มาปรับใช้ในชีวิตของคนทั่วไป มักดูมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก, ไม่เกี่ยวข้องหรือจำเป็นแต่ประการใดในการดำเนินชีวิต แต่แท้จริงแล้วการคิดลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากกว่าที่เราคาดคิด โดยที่มนุษย์จะถูกบังคับให้คิดและนำการคิดเชิงวิเคราะห์มาใช้อย่างเป็นธรรมชาติอยู่เสมอ ซึ่งวิธีคิดที่เป็นอคติเหล่านี้จะเป็นการปิดกั้นการพัฒนาระบบการคิดเชิงวิเคราะห์ไปโดยปริยาย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการคิดเชิงวิเคราะห์ ตามที่ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2549) ได้กล่าวไว้ในการบรรยายเรื่อง “การคิดเชิงวิเคราะห์” สามารถสรุปได้ว่า สาเหตุที่มนุษย์ต้องคิดเชิงวิเคราะห์ก็เพื่อ
1) ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการวิเคราะห์และประเมินแนวคิดที่คิดขึ้นนั้น และความสามารถในการนำมาแก้ปัญหา และการตัดสินใจ
2) ช่วยให้คำนึงถึงความสมเหตุสมผลของขนาดกลุ่มตัวอย่าง คือ ช่วยในการสำรวจความสมเหตุสมผลของข้อมูลที่ปรากฏและไม่ด่วนสรุปตามอารมณ์ความรู้สึกหรืออคติ แต่สืบค้นตามหลักเหตุผลและข้อมูลที่เป็นจริง
3) ช่วยลดการอ้างประสบการณ์ส่วนตัวเป็นข้อสรุปทั่วไป คือ ช่วยในการไม่ด่วนสรุปสิ่งใดอย่างง่ายๆ แต่สื่อสารตามความเป็นจริง ขณะเดียวกันจะช่วยให้ไม่หลงเชื่อข้ออ้างที่เกิดจากตัวอย่างเพียงตัวอย่างเดียว แต่พิจารณาเหตุผลและปัจจัยเฉพาะในแต่ละกรณีได้
4) ช่วยขุดค้นสาระของความประทับใจครั้งแรกคือ ช่วยในการพิจารณาสาระสำคัญอื่นๆ ที่ถูกบิดเบือนไปจากความประทับใจในครั้งแรก ทำให้เรามองอย่างครบถ้วนใน
แง่มุมอื่นๆ ที่มีอยู่
5) ช่วยตรวจสอบการคาดคะเนบนฐานความรู้เดิม คือ ช่วยในการประมาณการความน่าจะเป็นโดยสามารถใช้ข้อมูลพื้นฐานที่เรามี วิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ของสถานการณ์ ณ เวลานั้น อันจะช่วยเราคาดการณ์ความน่าจะเป็นได้สมเหตุสมผลมากกว่า
6) ช่วยวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ส่วนบุคคล คือ ช่วยในการหาเหตุผลที่สมเหตุสมผลให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ณ เวลานั้น โดยไม่พึ่งพาอคติที่ก่อตัวอยู่ในความทรงจำ ทำให้เราสามารถประเมินสิ่งต่างๆ ได้อย่างสมจริงสมจัง
7) เป็นพื้นฐานการคิดในมิติอื่นๆ คือ ช่วยในการคิดเชิงวิเคราะห์เป็นหลักของการคิดในมิติอื่นๆ เช่นการคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงบูรณาการ การคิดเชิงอนาคต ฯลฯ ซึ่งการคิดเชิงวิเคราะห์จะช่วยเสริมสร้างให้เกิดมุมมองเชิงลึกและครบถ้วนในเรื่องนั้นอันจะนำ ไปสู่การตัดสินใจและการแก้ปัญหาได้บรรลุวัตถุประสงค์
8) ช่วยในการแก้ปัญหา คือ ช่วยในการคิดจำแนกแยกแยะองค์ประกอบต่างๆ และการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นดังนั้นย่อมจะช่วยเราเมื่อพบปัญหาใดๆ ให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าปัญหานั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เพราะสาเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ตรงกับประเด็นปัญหา
9) ช่วยในการประเมินและตัดสินใจ คือ การคิดเชิงวิเคราะห์ช่วยให้รู้ข้อเท็จจริง หรือเหตุผลเบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น ช่วยให้เราเกิดความเข้าใจ และที่สำคัญการวิเคราะห์ช่วยให้เราได้ข้อมูลเป็นฐานความรู้ในการนำไปใช้ประโยชน์ ในการประเมินสถานการณ์และตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้แม่นยำกว่าการมีข้อเท็จที่ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์
10) ช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์สมเหตุสมผลคือ ช่วยให้การคิดต่างๆ อยู่บนฐานของตรรกะและความน่าจะเป็นไปได้ อย่างมีเหตุมีผล มีหลักเกณฑ์ ส่งผลให้เมื่อคิดจินตนาการหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จะได้รับการตรวจสอบว่าความคิดใหม่นั้นใช้ได้จริงหรือไม่ ถ้าจะทำให้ใช้ได้จริงต้องเป็นเช่นไร แล้วเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่จินตนาการขึ้นกับการนำมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง
11) ช่วยให้เข้าใจแจ่มกระจ่าง คือ ช่วยให้เราประเมินและสรุปสิ่งต่างๆ ไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ไม่ใช่สรุปตามอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ การแยกแยะสิ่งต่างๆ ที่คลุมเครืออยู่ ก็จะกระจ่างชัด และเกิดความแจ่มกระจ่างในความเข้าใจ

นอกจากนั้น ยังกล่าวเสริมด้วยว่า “ในความเป็นจริงสมองของคนเรามีศักยภาพด้านการวิเคราะห์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เช่นเดียวกับศักยภาพด้านความคิดเชิงสร้างสรรค์โดยสมองในส่วนของการวิเคราะห์จะเป็นส่วนเดียวกับสมองในส่วนของการใช้เหตุผล ซึ่งเป็นการทำงานของสมองซีกซ้าย เมื่อรับข้อมูลต่างๆ เข้ามาทางประสาทสัมผัสสมองจะทำการตีความข้อมูลที่ได้รับโดยวิเคราะห์เทียบเคียงกับข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นในความทรงจำ จากนั้นสมองจะทำการจำแนกแยกแยะความเหมือนและความแตกต่างของข้อมูลที่ได้รับ พยายามเชื่อมโยงเหตุและผลของเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น”
ดังนั้น การคิดเชิงวิเคราะห์ จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนสามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นประจำ โดยมุมมองด้านการพัฒนานักคิดเชิงวิเคราะห์นั้น ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ (2549) ได้เสนอไว้ว่า “การจะพัฒนาได้นั้นควรพัฒนานิสัยการคิดในชีวิตประจำวันให้เคยชินที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
1) ช่างสังเกต ช่างสงสัย และใคร่คราญ
2) ช่างซักไซ้ ช่างซักถาม ช่างแจกแจง
3) ช่างสืบค้น ช่างสะสม ช่างเรียนรู้
4) ช่างคิด ช่างวิเคราะห์ ไม่อ้างว่าไม่มีเวลาคิด
5) ช่างคิดให้รอบคอบ และคิดให้ทะลุปรุโปร่ง นั้นเอง

อย่างไรก็ตามในความสำคัญของการคิดที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ได้มุ่งไปที่การพัฒนาการด้านกระบวนคิดเชิงวิเคราะห์ ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเยาวชนในวัยเรียนรู้ได้รับการพัฒนาอย่างมีรากฐานที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งยากยิ่งที่จะรักษาไว้คุณค่าทางวัฒนธรรมของประเทศที่มีมาอย่างช้านาน เนื่องจาก ประเทศไทย ประกอบด้วยประชากรที่มีคุณลักษณะทางด้านชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กโดยผ่านกระบวนการจัดการศึกษาในประเทศ หรือในสังคมที่มีความหลากหลาย จึงควรมีรูปแบบที่เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของสังคมนั้นๆ ด้วยเช่นกัน กระบวนการสร้างองค์ความรู้ (The Knowledge Construction Process) ให้เกิดความเข้าใจว่า องค์ประกอบและความแตกต่างทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศ ชนชั้นทางสังคมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยเปลี่ยนจากการเรียนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาที่มีอยู่เดิม เป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้ใช้โอกาสได้ค้นคว้าจากการอ่าน การฟัง การร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ เปรียบเทียบ จนเกิดความเข้าอกเข้าใจในผู้คนที่มาจากวัฒนธรรมที่ต่างจากตน และเข้าใจถึงทรรศนะการมองโลกของพวกเขา (ดร.บัญญัติ ยงย่วน, 2551)

ปรียานุช สถาวรมณี (2548) ได้สนับสนุนแนวคิดของการนำการคิดเชิงวิเคราะห์ไปใช้ให้สอดคล้องกับการพัฒนาการศึกษาในผลงานวิจัยของ เรื่อง “การพัฒนากิจกรรมในหลักสูตรเสริมเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ของนักเรียน” พอสรุปได้ว่า
การคิดเชิงวิเคราะห์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ บุคคลที่มีการคิดแบบวิเคราะห์จะเหนือกว่าบุคคลที่มีการคิดแบบอื่น ทั้งในด้านระดับการพัฒนาการและการใช้สติปัญญา ความคิดเชิงวิเคราะห์เป็นความคิดเชิงลึก เป็นทักษะที่สำคัญ และเป็นทักษะที่สามารถพัฒนาได้ เมื่อนักเรียนมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ นักเรียนสามารถจำแนกและจัดหมวดหมู่หรือประเภทสิ่งต่าง ๆ อย่างมีหลักเกณฑ์ สามารถตัดสินใจอย่างเหมาะสม และใช้ความรู้ประยุกต์แก้ไขปัญหาในสถานการณ์อื่น ตลอดจนสามารถทำนายผลที่ตามมาได้ (Schiever, 1991, pp. 12 – 13) การพัฒนากิจกรรมในหลักสูตรเสริมเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ของนักเรียนจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญยุทธศาสตร์หนึ่งของการบริหารจัดการศึกษาในการปฏิรูปการเรียนรู้เพราะการสอนในชั้นเรียนที่มุ่งเน้นสาระวิชาโดยละเลยการฝึกฝนทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ให้แก่ นักเรียนนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษานักเรียนจะขาด ความสามารถในการนำความรู้
ซึ่งผู้วิจัยพบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยค่อนข้างต่ำ อันมีผลต่อการเรียนวิชาอื่น ๆ เหตุเพราะนักเรียนไทยขาดศักยภาพการฟังอ่านและเขียน ไม่สามารถคิดวิเคราะห์และถ่ายทอดความรู้ออกมาได้ (ชนกณัฐ วังแดง, 2546, หน้า 3) สอดคล้องกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) ที่เปิดเผยว่าผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของนักเรียน – ครูผู้สอน – ผู้บริหาร จาก 218 โรงเรียน พบว่า ไม่มีโรงเรียนไหนจัดการเรียนการสอนแบบเน้นนักเรียนเป็นสำคัญได้ดี โดยนักเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์คิดไตร่ตรอง และมีวิสัยทัศน์อยู่ในระดับ พอใช้ 67.00% แต่มีโรงเรียน 9.60 % ที่ต้องปรับปรุงโดยด่วน
สมศ. เผยผลประเมินไม่มีโรงเรียนไหนจัดได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสังเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพภายนอกของโรงเรียนประมาณ13,000 โรงเรียนทั่วประเทศ พบว่า นักเรียนมีทักษะการคิดอยู่ในระดับดี เพียงประมาณ 12.90 % ซึ่งสื่อถึงคุณภาพของนักเรียนไทยที่ยังคงอ่อนด้อยในด้านการคิดอยู่ (เพชรา พิพัฒน์สันติกุล, 2548, 25 เมษายน, โค้งสุดท้ายประเมินเพื่อพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน, บ่ายนี้มีคำตอบ สถานีโทรทัศน์สีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. 13.00 – 13.30 น.) ซึ่งตรงกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่พบว่า เด็กไทยทำข้อสอบที่เป็นอัตนัยและข้อสอบที่เป็นการอธิบายความไม่ค่อยได้ เพราะปัญหาการเรียนการสอนของไทยที่ส่วนใหญ่ยังเน้นการสอนเนื้อหาวิชาและการท่องจำมากกว่าการพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ เรียบเรียงและสื่อสารความคิด (รุ่ง แก้วแดง, 2541, หน้า42) สอดคล้องกับข้อมูลจากโครงการ TIMSS(Third International Mathematics and Science Study) ที่พบว่านักเรียนไทยทำข้อสอบที่ต้องใช้ความ สามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ ยกเหตุผลประกอบ หรือเขียนข้อความยาวๆไม่ได้ เพราะการเรียนการสอนยังอยู่ในกรอบของตารางสอนและห้องเรียน ไม่เน้นกระบวนการให้นักเรียนได้ฝึกคิด ฝึกทำ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2545, หน้า 34-37) ส่งผลให้คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนในด้านการคิดเชิงวิเคราะห์ไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ข้อเสนอแนะการวิจัยครั้งต่อไป
1) การพัฒนากิจกรรมในหลักสูตรเสริมเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ของนักเรียนให้เหมาะสมกับช่วงชั้นอื่นๆ
2) การพัฒนากิจกรรมในหลักสูตรเสริมเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ของนักเรียนในบริบทอื่นนอกจากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
3) การพัฒนากิจกรรมอื่นๆที่สามารถพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ของนักเรียน

จากงานวิจัยดังกล่าว ผู้วิจัยได้เล็งเห็นความสำคัญการเรียนการสอนในเด็กเยาวชนในวัยเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ ทั้งนี้ โดยมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่ต้องการให้ คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า นอกจากการนำกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์มาใช้โดยตนเองแล้วยังสามารถถ่ายทอดการเรียนรู้ และสามรถนำไปฝึกฝนได้ทั้งในครอบครัวของตนเอง, ผู้ใต้บังคับบัญชาการในที่ทำงาน และนักเรียนนักศึกษา เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการคิด และนำไปสู่ความเป็นเหตุเป็นผล ความสนใจใคร่เรียนรู้ เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ทั้งนี้การคิดเชิงวิเคราะห์จะสามารถวางรากฐานของการคิดได้อย่างยั้งยืนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ซึ่งเป็นกำลังของชาติในยุคใหม่ซึ่งจำต้องเผชิญกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วรุนแรง จนสามารถนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคใหม่ได้อย่างมั่นคง รอดพ้นจากภัยคุกคาม จากการตระหนักรู้ การใคร่คราญ อย่างมีวิจารณญาณ รู้ว่าสิ่งใครเหมาะสมดีงามตามจารีตประเพณี ตลอดจนธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ในความเป็นชาติไทยอยู่ได้สืบไป

5.บรรณานุกรม

ภาษาไทย
ดร.บัญญัติ ยงย่วน. (2551). การส่งเสริมพัฒนาการเด็กในบริบทความหลากหลายทางวัฒนธรรม. สถาบัน
แห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว : มหาวิทยาลัยมหิดล.
จักรวัฒน์ ตันตินราศักดิ์. (2549). ถอดคำบรรยาย เรื่อง “การคิดเชิงวิเคราะห์ Analytical Thinking” โดย ดร.
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. สรุปความการบรรยาย. หลักสูตรผู้บริหารระดับกลาง :
กระทรวงมหาดไทย.
แนวทางการนำมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่การปฏิบัติ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน :
กระทรวงมหาดไทย.
พรรณธิภา ธนสันติ. (2547). ถอดคำบรรยาย เรื่อง “การคิดแบบนักบริหาร” โดย ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงษ์
ศักดิ์. โรงเรียนนายอำเภอ วิทยาลัยการปกครอง : กระทรวงมหาดไทย.
ดร.สุวิทย์ มูลคำ. (2549). ครบเครื่องเรื่องความคิด. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์.
ดร.สุวิทย์ มูลคำ. กลยุทธ์การพัฒนากระบวนการคิด. บันทึกการเรียนรู้การอบรมเชิงปฏิบัติการ. ชมรมนักคิด
EK BOOKS. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์.

ภาษาอังกฤษ
Thrasher, F.M. (1927). The Gang. Chicago: University of Chicago Press
Durkheim, Émile. (1893). The Division of Labour in Society

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ปรียานุช สถาวรมณี. (2548). การพัฒนากิจกรรมในหลักสูตรเสริมเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ของ
นักเรียน. ปริญญานิพนธ์ กศ.ด. (การบริหารการศึกษา). กรุงเทพ ฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรี
นครินทรวิโรฒ.

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *