Warehouse & Distribution Operation

Warehouse & Distribution Operation
Source: ดร.ธนิต โสรัตน์

การลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้ได้ผลและรวดเร็วอย่างเป็นรูปธรรมสามารถทำได้ด้วยการลดจำนวนสินค้าคงคลัง และการปรับเปลี่ยนการส่งมอบเป็นระบบ Just in Time
คลังสินค้า (Warehouse) ความหมายตามพจนานุกรม หมายถึง สถานที่เก็บสินค้า คลังสินค้า โกดังสินค้า โรงพัสดุ คลังสินค้า ยังรวมถึงสถานที่เก็บสินค้าประเภทต่างๆ เช่น คลังพัสดุ (Depot) คลังสินค้าประเภทแช่เย็น (Frozen Warehouse) คลังสำหรับกระจายสินค้า (Distribution Warehouse) คลังพลาธิการ คลังยุทธปัจจัย แท็งค์เก็บสินค้าของเหลว (Liquid Tank) ฉางเก็บสินค้า (Silo) คลังสินค้าท่าเรือ (Wharf) คลังสินค้าประเภท ICD และ Cross-Dock Warehouse ฯลฯ
นอกจากนี้ Warehouse ตามความหมายของโลจิสติกส์ หมายถึง สถานที่ใช้ในการเก็บรักษาสินค้าให้อยู่ในสภาพที่ดี และคุณสมบัติที่พร้อมจะส่งมอบให้กับบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยบรรลุเป้าหมายแบบ Right Time, Right Quantities, Right Place โดยภาระกิจที่สำคัญคลังสินค้าจึงทำหน้าที่เป็นที่พักและเก็บสินค้าหรือวัตถุดิบหรือวัสดุสิ่งของต่างๆ โดยเป็นสถานที่ซึ่งใช้ในการพักสินค้าชั่วคราวจนกว่าจะมีการเคลื่อนย้ายไปสู่ผู้ที่มีความต้องการไม่ว่าจะเพื่อการผลิตหรือเพื่อจำหน่าย จ่ายแจก หรือขาย หรือส่งมอบ
คลังสินค้าจึงต้องมีหน้าที่สำคัญ เกี่ยวข้องกับการควบคุมและรับผิดชอบต่อสินค้าที่จัดเก็บอยู่ในคลัง ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการ ทั้งการใช้เทคนิค เทคโนโลยีในการเก็บและทักษะ เครื่องมือและเครื่องทุ่นแรงประเภทต่างๆ เช่น รถยก ชั้นวางสินค้า การควบคุมบรรยายกาศ อุณหภูมิ และสภาพแวดล้อมในคลังให้เหมาะสมกับสินค้าแต่ละชนิด แต่ละประเภท รวมถึงอาศัยระบบและการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Automated Robot System (ระบบหุ่นยนต์) ระบบ Bar Code หรือ RFID รวมถึงระบบการสื่อสารอิเล็กโทรนิกส์
โดยกิจกรรมในการควบคุมสินค้านี้จะเกี่ยวข้องกับการคัดแยกสินค้า การ packing การแบ่งบรรจุ การคัดเลือก การติดป้าย และที่สำคัญและเป็นหัวใจของ Warehouse คือ การควบคุมทางด้านเอกสาร ทั้งที่เกี่ยวกับรายงาน (Status) การเคลื่อนไหว การรับและการเบิก-จ่าย ที่เรียกว่า Inventory Report และการควบคุมทางบัญชี โดยต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้า จะเป็นจำนวนหนึ่งในสามของต้นทุนโลจิสติกส์
นอกจากนี้ คลังสินค้าในรูปแบบของศูนย์กระจายสินค้า (Cargoes Distribution Center) ยังทำหน้าที่ในการส่งมอบจ่ายแจกสินค้าไม่ว่าจะส่งมอบสินค้าให้กับผู้ผลิต หรือการจัดส่งสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้รับ ทั้งจำนวน สภาพ สถานที่และเวลา (The right thing at the right place in the right time) เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า ซึ่งจะต้องมีกระบวนการคัดเลือกสินค้าและระบบการจัดส่งให้กับลูกค้า
ด้วยหน้าที่นี้ทำให้คลังสินค้า สามารถแยกออกตามลักษณะของการปฏิบัติงาน (Operation) ได้แก่ คลังสินค้าเพื่อการจัดเก็บโดยเฉพาะ (Storage Warehouse) ,คลังสินค้าสำหรับเก็บสินค้าเพื่อการกระจายไปสู่ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า หรือผู้ค้าส่ง ที่เรียกว่า “ศูนย์กระจายสินค้า (DC : Distribution Center) รวมถึง คลังสินค้าตามลักษณะของการใช้งาน เช่น คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded) , ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Cross Dock Warehouse) ฯลฯ จะเห็นได้ว่า คลังสินค้าเป็นกิจกรรมที่สำคัญของการจัดการโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดรองจากกิจกรรมด้านขนส่ง
ทั้งนี้ การลดต้นทุนโลจิสติกส์ที่ได้ผลและทำได้รวดเร็วเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็โดยการลดจำนวนสินค้าคงคลัง โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการส่งมอบ ที่เรียกว่า Just in Time โดยภารกิจของคลังสินค้าและหรือศูนย์กระจายสินค้าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ โดยเน้นประสิทธิภาพทางด้านเวลา โดยลดช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายสินค้าและการใช้ประโยชน์สูงสุดของพื้นที่ (Space Utility) แต่ยุทธศาสตร์สำคัญของการบริหารสินค้าคงคลังยุคใหม่ ก็คือ ไม่มีสินค้าคงคลังให้เก็บหรือให้มีจำนวนน้อยที่สุด ที่เรียกว่า Zero Stock หรือ สต๊อกที่เป็นศูนย์ ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีสิงค้าคงคลังเหลืออยู่เลย
แต่ความหมายของ Zero Stock นั้นได้เอาสต๊อกที่เป็นศูนย์เป็นตัวตั้ง โดยพยายามให้มีกระบวนการต่างๆ ที่จะทำให้สิงค้าคงคลังน้อยที่สุด โดยมีตัวชี้วัดเปรียบเทียบกับ Zero Stock ซึ่งอาจจะมีการนำระบบการบริหารจัดการ ที่เรียกว่า Six Sigma มาใช้และดำเนินการนำระบบโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ หรือที่เรียกว่า Logistics Best Practice โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า ปริมาณของสินค้าคงคลังที่ธุรกิจจะยินยอมให้มีมากที่สุดมีได้เท่าไหร่ ซึ่งจะต้องมีระบบ KPI และระบบ Balance Score Card มาใช้ควบคู่กันก็จะได้ประโยชน์สูงสุด
การบริหารจัดการคลังสินค้าต้องมีองค์ประกอบการสำคัญหลายอย่างเข้ามาร่วมด้วย และด้วยความซับซ้อนที่ต้องการให้การบริหารมีคุณภาพที่ดี จึงต้องอาศัยระบบการทำงานที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นระบบเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย และบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ การมีคลังสินค้าเพื่อสำรองสินค้าคงคลังในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงจากความแปรผันของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองหลักให้บริษัทนั้นๆ สามารถผลิตสินค้าเพียงพอและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ระบบการทำงานของคลังสินค้าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การมีซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพเป็นตัวช่วยเสริมศักยภาพการทำงาน เพื่อช่วยให้ระบบการทำงานผิดพลาดน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าในเชิงปฏิบัติการ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการนำระบบไอทีเข้ามาเป็นตัวหลักสำคัญในการบริหารจัดการ เพราะหากไม่มีระบบไอทีก็จะไม่สามารถสู้ผู้ประกอบการรายอื่นได้ ต้นทุนการบริหารคลังสินค้า เกิดจากการดำเนินกิจกรรมการให้บริการภายในคลังสินค้า การจัดเก็บสินค้า การเลือกสถานที่ตั้งโรงงานและคลังสินค้า ซึ่งมีลักษณะเดียวกับต้นทุนการขนส่งที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินงานเองที่เรียกว่า “In-house Operator” และการจ้างให้ผู้อื่นๆ ดำเนินการให้หรือเช่าที่ผู้อื่น ที่เรียกว่า “Outsource Operator” และต้นทุนในการถือครองสินค้า (Inventory carrying cost) คือต้นทุนในการถือครองสินค้าหรือค่าเสียโอกาสที่เงินทุนไปจมอยู่ในสินค้า รวมถึงต้นทุนค่าดอกเบี้ย ค่าประกันสินค้า
ทั้งนี้ ภายใต้เศรษฐกิจขาลง ทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศและปัจจัยความเชื่อมั่นภายใน ซึ่งจะส่งผลทำให้ตลาดหดตัวในปีหน้า ความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพของการบริหารจัดการคลังสินค้ามักมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับสภาพคล่องทางธุรกิจ โดยสินค้าคงคลังที่มีปริมาณสูงมากเพียงใด ก็จะมีส่วนสำคัญต่อต้นทุนสินค้าและขีดความความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นในการจะมีสินค้าคงคลัง และศูนย์กระจายสินค้า เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ที่จะมีในอนาคต อันเกิดจากความไม่แน่นอนของการส่งมอบสินค้า วัตถุดิบ หรือสินค้ารูปแบบใด
คลังสินค้าจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญของการจัดการโลจิสติกส์ที่เป็นที่รู้จักรองจากกิจกรรมด้านการขนส่ง โดยภารกิจและบทบาทหน้าที่ของคลังสินค้าเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ ภายใต้ข้อจำกัดของสภาพคล่องทางการเงินและต้นทุนที่สูงขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารยุคใหม่ในการฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *