The Pearl King ตอน 4

The Pearl King ตอน 4 การขยายธุรกิจ

จากที่เขาได้ผลิตไข่มุกได้ในปี 1900 เขาก็ได้ตั้งร้านเล็ก ๆ ในย่านกินซ่า ( ย่านที่คนชอบซื้อของ ) ที่โตเกียว และจากการที่เจ้าชายโคมัทสุ เชื้อพระวงศ์ผู้สูงศักดิ์ได้ให้ความเชื่อมั่นแก่โกกิชิว่าจะทำได้ดีต่อไป ประกอบกับความมุ่งหวังอยู่แล้วของเขาทำให้เขามีความกระตือรือร้นที่จะทำมากขึ้น และในปี 1903 เขาได้ทำการย้ายร้านไปอยู่ในแหล่งที่มีผู้คนพลุกพล่านที่สุดของกินซ่าแทนที่จะอยู่ในซอกเล็ก ๆ เหมือนเดิม นอกจากนี้เขายังได้นำไข่มุกของเขาออกแสดงในงานแสดงที่เซนหลุยส์ในปี 1904 และได้รางวัลกลับมาด้วย ทำให้ไข่มุกของโกกิชิโด่งดังไปทั่วอเมริกา เพราะไข่มุกของอเมริกาค่อย ๆหมดลงเนื่องจากการงมหอยกันอย่างบ้าคลั่ง แต่ที่ญี่ปุ่นกลับมีคนที่สามารถเลี้ยงไข่มุกได้แม้ว่าจะเป็นไข่มุกเลี้ยงก็ตามแต่ก็คล้ายกับของจริงที่ได้จากธรรมชาติมากจนแยกไม่ออกเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามโกกิชิก็ยังคงพอใจที่จะติดป้าย “ ไข่มุกเลี้ยง “ ไว้ที่ตัวผลิตภัณฑ์ตลอดเวลาเพื่อเป็นการยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ของเขา แม้ว่าในประเทศบางประเทศไม่จำเป็นต้องมีป้ายบอกเพราะเขาตีว่าไข่มุกเลี้ยงก็คือไข่มุกธรรมชาติอยู่ดี แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ยังพอใจที่จะใช้ป้ายนี้ต่อไป
ตามความต้องการของเขาที่จะผลิตไข่มุกกลมให้ได้ เขาได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงอื่น ๆ ที่แปลกไปจากการเลี้ยงแบบเดิมที่ได้ไข่มุกซีก การลงทุนลงแรงผ่านไปหลายปี ปี 1905 เขาได้พบความลำบากอีกครั้งจากกระแสน้ำแดงที่เกิดจากแพลงตอน เข้ามาทำลายฟาร์มหอยมุกเกือบหมด แต่อย่างไรก็ดีเขาก็ได้พบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เมื่อเขาได้แกะหอยที่ตายและพบไข่มุกกกลมที่เขาพร่ำหามาตลอด ไข่มุกกลมนี้เกิดจากการเลี้ยงแบบฝังแกนใต้เนื้อเยื่อหุ้มซึ่งเป็นจุดเปราะบางที่สุดของหอยมุก เมื่อเขาค้นพบวิธีแล้วเขาได้จดทะเบียนขึ้นสิทธิบัตรในการผลิตทันที เพื่อทำการผลิตแบบอุตสาหกรรมต่อไป
การทำไข่มุกเพื่อเป็นอุตสาหกรรมนั้นต้องการหอยมุกเป็นจำนวนมากถึงปีละ 10 ล้านตัวเลยทีเดียว ต้องการคนเลี้ยงและสาวงมมุกจำนวนมาก แต่ปัจจุบันคนไม่เพียงพอ เขาจึงทำการดึงดูดผู้คนที่เป็นชาวประมงและคนอื่น ๆ โดยการแบ่งกำไรแก่คนงาน การให้ค่าจ้างสูงกว่าคนอื่น การให้เบี้ยเลี้ยงพิเศษสำหรับคนที่มีครอบครัวบนเกาะ ยิ่งไปกว่านั้นคือ การสร้างโรงเรียน ไปรษณีย์ หนังสือพิมพ์ รวมไปถึงองค์กรชุมชนต่าง ๆ บนเกาะตาโกกุนี้ เพื่อให้มีความทันสมัยและเป็นที่น่าดึงดูดไม่แพ้คนนอกเกาะ นอกจากสาวงมมุกและคนงานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมโดยตรงแล้วพวกที่ เหลือยังมีช่างปูน ช่างตีเหล็ก หมอฟันรวมถึงสถาพยาบาลที่ช่วยพยุงอาการก่อนที่หมอจากแผ่นดินใหญ่มาถึงได้
ปี 1908 เมื่อเขาอายุได้ 50 ปี แม้ว่าจะเป็นวัยที่ควรแก่การพักผ่อน แต่โกกิชิหาคิดเช่นนั้นไม่ แต่กลับขยายธุรกิจออกไปอีก โดยการหาทำเลเพื่อเลี้ยงหอยมุกเป็นฟาร์มที่2 คือที่ฟาร์มโกกาโช และสร้างโรงงานผลิตเรือนไข่มุกที่ใจกลางกรุงโตเกียว และส่งคนงานไปฝึกวิธีการทำเรือนทองและแพลทินัมแบบตะวันตก โรงงานของโกกิชิขยายตัวมากขึ้น คนงานในโรงงานได้ขยายตัวขึ้นเป็นเงาตามตัว และเขาได้นำระบบการทำงาน “ แบบ 8 ชั่วโมง “ มาใช้ในการทำงาน ซึ่งตอนนั้นญี่ปุ่นต่อต้านระบบนี้มาก แต่เพื่อป้องกันการต่อต้าน เขาจึงมีการประขุมกับหัวหน้าคนงานและใช้ระบบโบนัสรวมถึงการมีแผนหลังปลดเกษียณ นอกจากด้านโรงงานแล้วทางร้านในกินซ่าสถานที่ขายไข่มุกนั้นได้ทำการกำหนดราคาขายต่อหน่วยในอัตราที่แน่นอนแทนการตั้งราคาให้สูงแล้วค่อยมีการต่อรอง การตั้งราคาตามที่ลูกค้าต้องการนั้นกลับกลายเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา โดยใช้ความสุภาพอ่อนโยนในการบริการและไข่มุกที่ได้มาตรฐานทุกเม็ดมาเป็นจุดขายแทน
ในปี 1939 เป็นการเปิดตัวตลาดไข่มุกสู่สายตาชาวโลกอย่างแท้จริง โดยเขานำสิ่งประดับที่ต้องทำให้ผู้คนในงานต้องตาค้างในงานแสดงสินค้าที่นิวยอร์ก โดยเขามาพร้อมกับระฆังเสรีภาพขนาด 1/3 มีเส้นรอบวงสิบห้านิ้วและสูงสิบสี่นิ้วประดับด้วยไข่มุก 12,250 เม็ดกับเพชร 366 เม็ด พร้อมเครื่องประดับอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากที่นิวยอร์กแล้วเขาก็ยังได้แสดงสินค้าในงานต่าง ๆ ทั่วโลกอีกมากมายและส่วนใหญ่จะได้รางวัลชนะเลิศกลับมาทุกครั้ง และก่อให้เกิดการเปิดร้านไข่มุกในลอนดอน ปารีสและนิวยอร์ก แต่อย่างไรก็ตามมิกิโมโตต้องการที่จะขยายมันต่อไปอีกโดยมีเป้าหมายที่จะเปิดร้านไปทั่วโลกและให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ได้สวมไข่มุกที่ผลิตได้จากฟาร์มของเขา
แม้ว่าเขาจะมีกิจการใหญ่โต มีผลิตผลไข่มุกออกมาปีละหลายล้านเม็ดมีชื่อเสียงไปทั้งญี่ปุ่นและทั่วโลก แต่ความเป็นอยู่ของเขากลับเป็นไปตามลักษณะที่เรียบง่าย บ้านเป็นแบบทรงเก่า เสื้อผ้าที่สวมก็เป็นกิโมโนธรรมดา รวมถึงการพูดจากับผู้คนทั่วไปแบบธรรมดาอย่างไม่ถือตัว ทำให้ผู้คนเรียกเขาว่า “ ราชาไข่มุก “ และได้รู้จักกับ โธมัส แอลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ของอเมริกาเป็นการส่วนตัวอีกด้วยเพราะชีวิตของเขาคล้ายกับโกกิชิมากที่ผิดหวังหลายครั้งก่อนที่จะประสบผลสำเร็จ และในใจของเขายึดถือคติ “ ความซื่อสัตย์ “ ตลอดมาโดยดูได้จากจะไม่ขายไข่มุกที่ไม่สมบูรณ์เพียงเพื่อแค่ให้ลูกค้าซื้อ และติดตรา “ ไข่มุกเลี้ยง “ ไว้ตลอดเวลา และเขาเกลียดการไม่ซื่อสัตย์ที่สุด เมื่อมีการขโมยเกิดขึ้นเขาจะทำการตั้งรางวัลนำจับและจัดการโดยเฉียบขาดโดยทันที

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *