SMEs กับ “เศรษฐกิจพอเพียง”

SMEs กับ “เศรษฐกิจพอเพียง”

โดย ชมัยพร วิเศษมงคล ที่ปรึกษาSMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) [14-7-2008]

เดิมทีผู้เขียนตั้งใจที่จะหาเรื่องใหม่ๆ ที่มีผลต่อการทำธุรกิจของ SMEs มาเล่าสู่กันฟัง แต่พออ่านและฟังรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ก็อดไม่ได้ที่จะยังคงขอวนเวียนอยู่กับการนำเสนอสิ่งที่น่าจะช่วยบรรเทา หรือคลี่คลายปัญหาให้กับธุรกิจลงได้บ้าง

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวของธุรกิจต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันคือ แนวคิดทฤษฎี “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยขอนำมาทบทวน ทำความเข้าใจ และยกบทความที่น่าสนใจมาช่วยบอกถึงการนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจว่าทำได้ไหม ทำอย่างไร

# “เศรษฐกิจพอเพียง” แนวคิดที่มีมาเกือบ 35 ปี
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฎิบัติตน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 และพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 (ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540) เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ (จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
แนวคิดนี้เชื่อว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมของชุมชนให้ดีขึ้นโดยมีปัจจัย 2 อย่างคือ การผลิตจะต้องมีความสัมพันธ์กันระหว่างปริมาณผลผลิตและการบริโภค และชุมชนจะต้องมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรของตนเอง ซึ่งนับได้ว่าสอดคล้องกับทฤษฎีพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดนั่นเอง
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงปรับปรุงพระราชทานเป็นที่มาของนิยาม “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านช่องทางต่างๆ อยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วยความ “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” บนเงื่อนไข “ความรู้ และคุณธรรม”
# แนวคิดนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถูกใช้เป็นกรอบแนวความคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย ซึ่งบรรจุอยู่ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน ที่เรียกว่า “สังคมสีเขียว”
นอกจากการนำมาใช้ประโยชน์ภายในประเทศแล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังได้รับการเชิดชูสูงสุดจากองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล The Human Development Lifetime Achievement Award แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 และได้มีปาฐกถาถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสามารถเริ่มได้จากการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่หมู่บ้าน และสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้นในที่สุด โดยที่ องค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิก 166 ประเทศยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน
# ธุรกิจ SMEs สามารถดำเนินรอยตามแนวคิดนี้ได้
หลายคนอาจสงสัยว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับการดำเนินธุรกิจที่ส่วนใหญ่จะเน้นการทำกำไรสูงสุดได้มากน้อยเพียงใด ??
มีบทความ 2 บทความที่ผู้เขียนขอนำเสนอเพื่อยืนยันถึงความสามารถในการนำแนวคิดนี้มาใช้ในเชิงธุรกิจได้อย่างจริงจัง
บทความแรก มาจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้ศึกษาการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับธุรกิจเอกชนที่แตกต่างกันใน 4 ลักษณะ รวมทั้งกรณีของธุรกิจ SMEs ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า
O ความพอประมาณ จะสนับสนุนให้ธุรกิจมุ่งผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าระยะสั้น โดยมีลักษณะการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การผลิต ที่เน้นกลุ่มลูกค้าบางกลุ่มมากกว่าการผลิตเพื่อขายทั่วไป รับคำสั่งเฉพาะที่จะทำได้ตามกำลังที่มีอยู่เพื่อรักษาคุณภาพให้อยู่ในระดับสูง การแสวงหากำไร ยึดหลักการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรมระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจ โดยมีเครือข่ายผู้ผลิตที่เล็กกว่าจัดส่งงานบางส่วนให้ ให้ความสำคัญต่อการจ่ายเงินให้แก่พนักงานและซัพพลายเออร์อย่างรวดเร็ว ตลอดจนกันกำไรส่วนหนึ่งสำหรับพัฒนาความรู้และกิจกรรมทางสังคม การก่อหนี้และขยายการลงทุน ขยายการลงทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เน้นการลงทุนจากกำไรที่มีอยู่มากกว่าการกู้ยืมเงิน โดยรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้เหมาะสม
O ความมีเหตุผล ต้องรู้จักลูกค้า รู้จักตลาด รู้จักคู่แข่ง และรู้จักตัวเอง โดยอาศัยการวิจัยตลาด การเข้าใจถึง Core Competency ขององค์กรและเน้นการผลิตที่ตรงกับข้อได้เปรียบที่มีอยู่และความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มในช่วงเวลาต่างๆ โดยใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ สิ้นเปลืองน้อยที่สุด ที่สำคัญคือ ต้องมีการสร้างเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างจากคู่แข่ง และมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการตรวจสอบผลการทำงานของบริษัทเทียบกับคู่แข่งขันตลอดเวลา
O การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสมโดย กระจายผลิตภัณฑ์และตลาดเพื่อลดความเสี่ยง มีการควบคุมกระบวนการจัดหาวัตถุดิบให้มีอยู่อย่างต่อเนื่อง (ลงทุนแหล่งวัตถุดิบเอง รักษาอัตราการหมุนเวียนของพนักงานให้อยู่ในระดับต่ำ ให้ราคาแก่ซัพพลายเออร์ที่ดีอย่างเหมาะสม บริหารจัดการเงินออมสำหรับเป็นเงินปันผลและส่วนหนึ่งสำหรับการลงทุนใหม่) มีการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าอย่างสม่ำเสมอด้วยการสร้างระบบเตือนภัย ใช้ประโยชน์จากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันการแปรปรวนทางด้านราคาและอัตราแลกเปลี่ยน
O การส่งเสริมความรู้และคุณธรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้พนักงานได้รับความรู้อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างสม่ำเสมอ สร้างความตระหนักและยึดมั่นในคุณธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง ลูกค้า โดยการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับที่ระบุไว้บนฉลากสินค้า รัฐบาล ในเรื่องของการมีระบบบัญชีที่โปร่งใส เพื่อการเสียภาษีที่ถูกต้อง และความรับผิดชอบที่มีต่อ สังคมรอบข้าง โดยการป้องกันผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม รวมไปถึงการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสังคม
บทความที่สอง เขียนโดย เกษม พัฒน์เสรีธรรม ในหัวข้อ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับกลยุทธ์การตลาด” ได้ให้ข้อเสนอแนะ (ที่เน้นทางด้านการตลาดเป็นหลัก) ถึงการปรับตัวของธุรกิจ SMEs กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไว้น่าสนใจว่า
O ความพอประมาณ เน้นกลยุทธ์การเลือกส่วนตลาด (Market Segmentation) ให้เหมาะสม อาจจะเป็น “Niche” หรือย่อยส่วนตลาดเดิมที่แข่งขันอยู่ไปสู่ส่วนตลาดใหม่ที่มีการแข่งขันน้อยที่สามารถแข่งขันได้ การทำตลาดให้แคบแต่ลงลึก พอเหมาะกับความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของกิจการ
O ความมีเหตุผล ธุรกิจที่จะอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องรู้ซึ้งว่าอะไรที่ลูกค้าต้องการ และสามารถตอบสนองได้ดีกว่าคู่แข่งอย่างไร ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อรู้จักคิดค้นและใช้ “นวัตกรรม” เป็นตัวขับเคลื่อน
O การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี คือ การมีพันธมิตรหรือเครือข่ายไว้คอยช่วยเหลือ หรือจ้างคนอื่นทำ (Outsource) ทั้งนี้เพราะ ธุรกิจ SMEs ซึ่งมีขนาดเล็กไม่สามารถเก่งได้ในทุกเรื่อง และที่สำคัญ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) ที่เป็นการสร้างเครือข่ายกับลูกค้าไปในตัวด้วย
ที่น่าสนใจคือ การอ้างอิงถึงข้อมูลการสำรวจธุรกิจ SMEs ที่สามารถฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มาได้ว่า ส่วนใหญ่ใช้กลยุทธ์ที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ รู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อนำมาสู่การกำหนดต้นทุนและราคาที่อยู่รอดได้ มีขนาดการผลิตที่พอเหมาะ สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการและตลาด ไม่ตั้งเป้าหมายเกินความสามารถที่จะทำได้ และไม่มุ่งเน้นกำไรระยะสั้น มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความสามารถในการปรับตัวสูง มีสายผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป รู้จักลงทุนแต่พอดี รู้จักกระจายความเสี่ยง ไม่ก่อหนี้ หรือลงทุนเกินตัว เกินความสามารถในการชำระคืน รู้จักเลือกตลาดที่เหมาะสม สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดี และสุดท้ายคือ มีพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้
ผู้เขียนได้นำเสนอแนวทางในการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายฉบับที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหารายได้ที่ง่าย และไม่ต้องลงทุนสูงอย่างแฟรนไชส์ หรือ E-commerce การรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ การใช้ประโยชน์จากตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) และมาฉบับนี้เป็นเรื่องของหลักการเศรษฐกิจพอเพียง หวังว่าคงจะพอช่วยให้ธุรกิจ SMEs “ยืน” (ขาเดียวหรือสองขาก็แล้วแต่) อยู่ได้ โดยไม่ “ล้ม” เหมือนกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *