SMEs กับการก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้(Learning organization) ตอนที่ 1

SMEs กับการก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้(Learning organization) ตอนที่ 1

จากสภาวะปัจจุบัน จะพบว่าการแข่งขันในธุรกิจมีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนทำให้องค์กรแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะ SMEs ที่มีการบริหารงานแบบครอบครัว ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และในทางการบริหารได้เกิดโครงสร้างองค์กรแบบใหม่ๆ ขึ้นมากมาย เช่น โครงสร้างแบบการทำงานเป็นทีม(Team Structures) โครงสร้างแบบแมทริกซ์หรือแบบโครงการ(Matrix and Project Structures) รวมถึงโครงสร้างแบบองค์กรแห่งการเรียนรู้(Learning Organization Structures) เป็นต้น ในจำนวนองค์กรที่กล่าวมาจะพบว่า Learning Organization หรือ องค์กรแห่งการเรียนรู้ได้รับการกล่าวขานถึงมากที่สุด เนื่องจากผู้บริหารยุคใหม่จำนวนมากเชื่อว่าองค์กรแห่งการเรียนรู้เป็นคำตอบหนึ่งที่ทำให้องค์กรอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนในสภาพที่มีการแข่งขันทางธุรกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับ SMEs จะมีความสำคัญมากเนื่องจาก SMEs จะต้องปรับตัวมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการบริหารจัดการที่เป็นรูปแบบและมีระบบมากกว่า
ในการนี้จะขอนำเสนอวิธีการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างละเอียดให้แก่ SMEs เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรของตนเองได้ โดยขอประมวลรายละเอียดเฉพาะที่สำคัญมานำเสนอ โดยสิ่งสำคัญที่องค์กรจะก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ จะต้องพัฒนาบุคลากรทุกคน ทุกระดับ และทุกฝ่ายให้มีวิธีการคิดและวิธีแสวงหาความรู้ต่างๆ หรือเรียนวิธีการเรียนเพื่อหาความรู้(Learn How to Learn) ซึ่งจะพบว่าในโลกยุคโลกาภิวัตน์ วิทยาการ ความรู้ใหม่ๆ จะเพิ่มขึ้นสองเท่าทุกปี ทำให้เราไม่สามารถจดจำความรู้ได้ทั้งหมด
ดังนั้นผู้บริหารหรือบุคลากรในองค์กรจะสามารถทำวิสัยทัศน์ ภารกิจ และวัตถุประสงค์ให้สำเร็จตามที่กำหนดไว้ได้ จำเป็นจะต้องรู้จักคิดและรู้จักแสวงหาความรู้เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาเพื่อให้สามารถบรรลุตามภารกิจและวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
การที่ SMEs จะปรับตัวให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ จะต้องคิดพิจารณาประเด็นปัญหาในการทำงานว่าเป็นอย่างไร และมีแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างไรบ้าง โดยจะต้องใช้ความรู้ในด้านใด คือ บุคลากรจะต้องมีการพัฒนารูปแบบของจิตใจ เจตคติ พฤติกรรมให้เป็นนักคิดนักวิเคราะห์เพื่อจะได้นำความรู้ที่มีอยู่หรือที่จะต้องไปแสวงหามาเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาเหล่านั้น โดยความรู้ใหม่ๆ ผู้บริหารหรือบุคลากรสามารถค้นหาได้จากตำรา วารสาร หนังสือพิมพ์ บทความ หรือการสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ จากแหล่งต่างๆรวมถึง Internet เป็นต้น จากนั้นจึงจับประเด็น สรุป เชื่อมโยง สาระความรู้และเรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบที่เรียกว่าการคิดอย่างเป็นระบบ(Systematic Thinking) ให้เกิดขึ้นกับตนเอง
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการคิดที่เป็นระบบ เช่น สมมุติว่าท่านอยู่ในเครื่องบินที่กำลังจะตกลงกลางมหาสมุทร ให้ท่านสามารถหยิบสิ่งของได้สิบอย่างลงเรือชูชีพที่มีเตรียมไว้ ท่านจะหยิบอะไร ก่อนอื่นท่านต้องจัดระบบความคิดก่อนว่า เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งจะต้องมีหน่วยกู้ภัยมาช่วยเหลือ ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องหยิบ คือ สิ่งที่สามารถส่งสัญญาน เช่น กระจกเงาสะท้อนแสงซึ่งอาจหาได้จากกระจกแต่งหน้าของท่าน พลุส่องสว่าง ไฟฉาย เป็นต้น ต่อมาท่านต้องคิดต่อว่ากว่าที่หน่วยกู้ภัยจะมาช่วยเหลือจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นท่านจำเป็นจะต้องเตรียมอาหารและน้ำจืดให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ อาจจะประมาณ 3-5 วัน ต่อมา อีกปัญหาหนึ่ง คือ อากาศที่จะทั้งร้อนและเย็น ในเวลากลางวันและกลางคืน จึงจะต้องมีผ้าพลาสติกที่สามารถกันน้ำกันแดดและให้ความอบอุ่นในเวลากลางคืน ได้ เป็นต้น ซึ่งท่านสามารถเลือกของที่ท่านคิดว่าจำเป็นจนได้ของสิบอย่างที่จะช่วยชีวิตท่านได้ ซึ่งท่านอาจไม่จำเป็นต้องคิดหรือหยิบสิ่งของตามแบบที่ยกตัวอย่างให้เห็นก็ได้ แต่ถ้าท่านสามารถเรียบเรียงจัดระบบความคิดและดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ได้ แสดงว่าท่านก็มี การคิดอย่างเป็นระบบนั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการองค์การแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้

เมื่อท่านได้ทำการฝึกการคิดอย่างเป็นระบบแล้วจากนั้น จึงทำการวิเคราะห์และ สังเคราะห์ความรู้ที่ได้มาว่ามีวิธีการหรือแนวคิดอื่นได้อีกหรือไม่ นั่นการสร้าง พฤติกรรมในด้านเจตคติ(Mental Model) ในเรื่องของการทำให้เกิดความคิดและจิตใจที่มุ่งในการวิเคราะห์ (Analytical Mind) มุ่งคิดแบบสร้างสรรค์(Creativity Thinking) และคิดเพื่อค้นหานวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ(Innovative Thinking) ให้เกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งการที่ SMEs จะพัฒนาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้นั้นจะต้องรู้ว่าในการทำงานใดๆ ก็ตามจะต้องรู้จักวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ วิธีการทำงานว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนาให้การทำงานนั้นดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้จำเป็นจะต้องทำการศึกษาหรือเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆอย่างทุ่มเท และทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งรู้จริงอย่างถึงแก่นก่อนที่จะนำมาปฏิบัติ เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยระดับของความรู้สามารถจำแนกได้ 3 ระดับ คือ

1. การรับรู้ ถือเป็นความรู้ที่ได้จากการฟังมาอ่านมา จำมา โดยเป็นความรู้ที่ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทดลองปฏิบัติ ซึ่งในความรู้ที่อ่านมา จำมาเหล่านี้อาจมีความรู้ย่อยซ่อนอยู่อีกมากมายก็ได้ ตัวอย่างเช่น เราบอกว่าคนจนลำบากมาก เป็นหนี้ แล้วเราก็เอามาพูด ต่อทำเป็นว่าเป็นผู้รู้เรื่องความลำบากของคนจน แต่แท้จริงแล้วก็เป็นสิ่งที่จำมาหรือรู้มาเท่านั้น เรื่องนี้จึงขอแนะนำให้ SMEs แยกแยะให้ออกว่าความรู้ต่างๆที่ได้จากการฟังสัมมนา การประชุมทางวิชาการ การฝึกอบรม ต้องแยกให้ได้ว่า เรื่องที่วิทยากรกำลังบรรยายนั้นเป็นความรู้ระดับรับรู้เท่านั้นหรือไม่ ซึ่งไม่อาจนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากนัก

ที่มา : http://www.businessthai.co.th/

Tags:

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *