Small Is Still Beautiful จิ๋วก็ยังแจ๋ว หรือ ชนะก็คือแพ้ (จบ)
|Small Is Still Beautiful จิ๋วก็ยังแจ๋ว หรือ ชนะก็คือแพ้ (จบ)
คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์ โดย ดร.ไสว บุญมา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3984 (3184)
ภาคสุดท้ายพูดถึงมรดกตกทอดเริ่มด้วยเรื่องวิวัฒนาการด้านแนวความคิดของชูมักเกอร์ว่า ในตอนเริ่มต้นเขาเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ก็เสื่อมศรัทธาไปในที่สุด เขาจึงออกค้นคว้าหาหลักฐานความคิดใหม่ และพบในศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะจากคำสอนของพระสันตะปาปา ลีโอที่ 13 (2421-2446) ที่ว่า ความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์โดยเฉพาะที่ดินจะนำไปสู่ความเป็นธรรมและความเป็นปึกแผ่นในสังคม เพราะความแตกต่างระหว่างความร่ำรวยมหาศาลกับความยากจนข้นแค้นแสนสาหัสจะลดลง คำสอนแนวนี้มีมานานแล้วและ มาได้รับการเน้นย้ำอีกครั้งในสมัยของสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ซึ่งพิมพ์ความเห็นทางด้านสังคมของท่านออกมา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2504 ท่านเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนเป็นเจ้าของ ในบริษัทห้างร้านของพนักงาน ด้วยคำสอนแนวนี้ถูกนำไปใช้ได้ผลดีเยี่ยมในภาคพื้นมอนดรากอนในสเปน ซึ่งมีสหกรณ์ผู้ผลิตเป็นพาหะหลักของคนในท้องถิ่น
ชูมักเกอร์มิใช่ผู้เดียวที่เชื่ออย่างแรงกล้าว่าการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของเป็นหัวใจของการพัฒนา นักคิดนักเขียนชาว รัสเซีย เช่น อเล็กซานเดอร์ โซลเชนิตสิน เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2513 ก็มีความเชื่อเช่นเดียวกัน เขาจึงเสนอให้มีการปฏิรูปที่ดินขนานใหญ่ในรัสเซียเพื่อรื้อฟื้นประเทศนั้นให้คืนชีพกลับมาอีกครั้ง ผ่านการมีที่ดินอย่างทั่วถึงของชาวรัสเซีย ผู้เขียนเห็นว่าการปฏิรูปที่ดินในแนวดังกล่าว พร้อมกับการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของทุน ไม่เฉพาะจะใช้ได้ในรัสเซียเท่านั้น หากใช้ได้กับสังคมทั่วโลก โดยผ่านกรรมวิธี 3 ด้านคือ (1) สนับสนุนวิสาหกิจขนาดย่อมด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการปกป้องจากการเอาเปรียบของบริษัทขนาดใหญ่ (2) ใช้หลักการบริหารจัดการด้วยการแยกกิจการขนาดใหญ่ออกเป็นหน่วยอิสระขนาดเล็ก และ (3) ก่อตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตขึ้นอย่างกว้างขวาง เนื่องจากผู้เขียนได้กล่าวถึงกรรมวิธีสองด้านแรกบ้างแล้วในภาคต้นๆ ในภาคนี้เขาจึงพูดถึงเรื่องสหกรณ์เพียงอย่างเดียว
ผู้เขียนเริ่มเล่าเรื่องสหกรณ์ในอังกฤษด้วยการกล่าวถึงสหกรณ์การผลิตชื่อ “สกอตต์ เบเดอร์” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของบริษัทเคมีภัณฑ์ ชื่อเบเดอร์ถ่ายโอนหุ้น 90% ในบริษัทให้แก่คนงานเมื่อปี 2494 ผู้เชี่ยวชาญพากันทำนายว่า การกระทำ เช่นนั้นจะไร้ผล แต่บริษัทซึ่งได้กลายเป็นสหกรณ์กลับประสบความสำเร็จสูงขึ้น และอีก 12 ปีต่อมา เจ้าของก็ถ่ายโอนหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดให้แก่คนงาน สหกรณ์นั้นมีหลักเกณฑ์การบริหารจัดการหลายอย่าง ที่ต่างจากธุรกิจโดยทั่วไป เช่น จะเป็นองค์กรขนาดเล็กต่อไปซึ่งมีหุ้นส่วนหรือสมาชิกไม่เกิน 350 คน หากกิจการขยายออกไปจนจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนเพิ่มขึ้นให้ ก่อตั้งหน่วยอิสระขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีการบริหารจัดการในแนวเดียวกัน สำหรับในด้านค่าตอบแทน สมาชิกที่มีความรับผิดชอบมากสุดจะได้รับค่าตอบแทนไม่เกิน 7 เท่า ของสมาชิกที่มีความรับผิดชอบน้อยสุด นอกจากนั้นสมาชิกจะนำผลกำไรไม่เกิน 40% มาจ่ายเป็นค่าโบนัส กำไรส่วนที่เหลือจะต้องนำไปใช้เพื่อการกุศล และข้อสุดท้ายสหกรณ์จะต้องไม่ขายผลผลิตให้แก่ลูกค้า ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการสงคราม
สหกรณ์เบเดอร์สามารถอยู่ได้แม้กระทั่งในภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนคู่แข่งล้มละลาย หรือถูกบริษัทขนาดใหญ่ฮุบ สหกรณ์นั้นจึงเป็นตัวอย่างของการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างหนึ่งในสหราชอาณาจักร ยังผลให้เกิดสหกรณ์ขึ้นทุกมุมเมือง และครอบคลุมธุรกิจทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นธุรกิจก่อสร้าง บริการคอมพิวเตอร์ หรือจัดอาหาร อย่างไรก็ตามผู้เขียนอ้างว่า แนวคิดเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์ไม่ใช่ของใหม่ในอังกฤษ เพราะสหกรณ์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2429 เมื่อคนงานของบริษัทผลิตรองเท้ารวมตัวกัน ตั้งสหกรณ์ขึ้นเพื่อผลิตรองเท้า อีก 100 ปีต่อมา สหกรณ์นั้นก็ยังอยู่และมีชื่อเสียงโด่งดัง ในการผลิตรองเท้าที่มีคุณภาพสูงพร้อมกับสามารถยืนหยัด ต่อสู้กับรองเท้านำเข้าราคาต่ำได้เป็นอย่างดี สหราชอาณาจักรเป็นเพียงหนึ่งในหลายประเทศในยุโรป ที่สหกรณ์ประสบความสำเร็จสูง สเปนและอิตาลีก็มีสหกรณ์จำนวนมาก โดยทั่วไปสหกรณ์มักมีขนาดเล็ก และประสบความสำเร็จได้ด้วยความศรัทธา วินัยและความทุ่มเทของสมาชิก
จากมุมมองของมรดกตกทอด มรดกของชาวโลกปัจจุบัน ได้แก่ การต่อสู้กันอย่างเข้มข้นระหว่างแนวคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ และแนวคิดทางด้านปรัชญา หรืออาจเรียกว่าการต่อสู้กันของด้านหัวคิดกับด้านหัวใจก็ได้ ด้านวิทยาศาสตร์มองว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จะสามารถตอบสนองความต้องการ พร้อมกับแก้ปัญหาของมนุษยชาติได้ แต่ฝ่ายยึดหลักปรัชญามองว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่สามารถช่วยอะไรได้ถ้าความก้าวหน้านั้น ไม่วางอยู่บนฐานของคุณธรรม และจริยธรรม ตรงข้ามมันจะเป็นอันตรายถึงกับทำลายล้างมนุษยชาติเอง
หลักปรัชญาซึ่งมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมของโลกตะวันออกมองมนุษย์ว่า มีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ ที่จะต้องได้รับการพัฒนา แต่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ ซึ่งก้าวหน้ามาจากการค้นคว้าของสังคมตะวันตกไม่ยอมรับด้านจิตวิญญาณ ฉะนั้นการพัฒนาจากมุมมองของวิทยาศาสตร์คือการแสวงหาวัตถุเพิ่มขึ้น วัตถุคือสิ่งที่จะนำไปสู่ความสุข และสนุกสนานอันเป็นความต้องการของมนุษย์ แนวคิดนี้กำลังแพร่ขยายออกไปครอบคลุมโลก แต่ก็ยังแก้ปัญหาของโลกไม่ได้ ตรงข้ามมันกลับนำไปสู่ปัญหาที่หนักหนาสาหัสเพิ่มขึ้นจากความโลภที่ไม่มีวันสิ้นสุด การบริโภคแบบสุดโต่ง ความฉ้อฉล ความโหดร้าย การเอารัด เอาเปรียบ ความอิจฉาริษยา ความทระนง ฯลฯ ผู้เขียนเชื่อตามชูมักเกอร์และปรัชญาตะวันออกว่า มนุษยชาติแก้ปัญหาไม่ได้เพราะเรายังไม่รู้ต้นตอของปัญหาที่แท้จริง และเราจะไปรู้ต้นตอของปัญหาจนกว่าเราจะรู้ว่าเราเป็นใคร และเกิดมาเพื่ออะไร นั่นหมายความว่าเราจะต้องรู้จักตนเอง เสียก่อน
ในขณะที่การต่อสู้ระหว่างสองแนวคิดดำเนินไปอย่างเข้มข้นนี้ มีฝ่ายที่ 3 ปรากฏตัวขึ้นแล้วนั่นคือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังถูกรังแกอย่างหนักจากแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ ในสภาพเช่นนี้ผู้เขียนมองว่า แนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ ไม่มีทางจะเอาชนะได้ นั่นหมายความว่ามนุษยชาติ กำลังทำลายตัวเอง นอกเสียจากจะเริ่มเปลี่ยนฐานความคิด ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะมาจากหลัก 7 ข้อคือ (1) หยุดรังแกกันเองและรังแกธรรมชาติ (2) หยุดทำอะไรที่มีขนาดใหญ่เกินตัว (3) รู้จักพอเมื่อร่างกายได้สิ่งที่ต้องการครบถ้วน (4) หยุดโอหัง (5) ให้ความร่วมมือกับเพื่อนมนุษย์ (6) ปกปักรักษาสิ่งแวดล้อม และ (7) เดินไปสู่จุดหมายปลายทางบนหลักของคุณธรรม
ข้อคิดเห็น : ในช่วงที่ชูมักเกอร์จุดพลุ ขึ้นด้วยหนังสือเรื่อง Small Is Beautiful เมื่อปี 2516 มีหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างหนักไม่น้อยกว่าคือเรื่อง Limits to Growth เรื่องนี้พูดถึงปัญหาที่จะตามมา หากประชากรโลกยังเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เนื่องจากทรัพยากรของโลกมีจำกัด แนวคิดนี้ถูกนำมาปรับเปลี่ยนเมื่อปี 2547 ในหนังสือชื่อ Limits to Growth : The 30-Year Update ซึ่งคอลัมน์นี้จะนำมาเสนอในโอกาสหน้า ย้อนไปในช่วงปี 2516 มีชาวโลกเพียงหยิบมือเดียวที่ให้ความสนใจแก่สิ่งแวดล้อม ผู้อยู่ในแนวหน้าของการเคลื่อนไหวให้ ชาวโลกปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมมักเป็น นักศึกษาและนักรักอิสระ หรือ Hippies ที่เหนื่อยหน่ายกับลัทธิวัตถุนิยมเพราะ พวกเขามองว่ามันกำลังจะพามนุษยชาติไปสู่ความล่มสลาย ตอนนี้คงเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดแล้วว่า พวกเขาอ่านปัญหา สิ่งแวดล้อมได้ถูกต้อง แต่การแก้ไขก็ยังไม่สามารถป้องกันมิให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมต่อไปยกเว้นในบางกรณีเท่านั้น ในขณะเดียวกันปัญหาใหม่ก็เริ่มผุดขึ้นมาให้เห็น เช่น โรคติดต่อที่ไม่เคยมีมาก่อนและอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามชาวโลกส่วนใหญ่ยังดูจะไม่ตระหนักถึงความหนักหนาสาหัสของปัญหาเหล่านี้ ฉะนั้นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่เคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมกับฝ่ายที่คิดว่า ไม่น่าจะต้องทำอะไร ฝ่ายหลังอาจชนะ ซึ่งหมายความว่ามนุษยชาติกำลังเดินเข้าสู่กระบวนการฆ่าตัวตาย