Settlement risk

Settlement risk
คือความเสี่ยงในช่วงเวลาระหว่างที่รอผลการชำระเงินให้เสร็จสิ้น หลังจากธนาคารผู้จ่ายได้ส่งคำสั่งโอนเงินไปแล้ว ซึ่งมีมากในระบบชำระดุลสุทธิสิ้นวัน ความเสียหายจะเกิดเมื่อธนาคารไม่สามารถชำระหนี้ตามภาระผูกพันได้ ซึ่งสาเหตุอาจเพราะฐานะการเงินขัดข้องชั่วคราว (Liquidity Risk) หรือฐานะการเงินมีปัญหา (Credit Risk)
Liquidity Risk หมายถึง ธนาคารหนึ่งไม่สามารถชำระดุลเมื่อถึงกำหนด แต่อาจจะชำระได้ในอนาคต
Credit Risk หมายถึง ธนาคารผู้รับไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจากธนาคารคู่กรณี แต่อาจให้ลูกค้าใช้เงินก่อน ธนาคารผู้รับไม่ได้รับโอนเงินตามจำนวนที่พึงได้ และยังอาจเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินที่จ่ายลูกค้าไปแล้ว
การแก้ไข Settlement Risk ในระบบ Net Settlement
1. นำเงินเข้า ให้ลูกค้าภายหลังการชำระดุลระหว่างธนาคารเสร็จสิ้น
2. มีระบบคัดเลือกการเข้าร่วมสมาชิกของระบบการชำระเงินให้มีความน่าเชื่อถือ
โดยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ ขนาดของเงินทุน ฐานะ สภาพคล่อง หลักเกณฑ์ ดังกล่าวต้องโปร่งใส และไม่เลือกปฎิบัติ อย่างไรก็ตาม การกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกจะสามารถป้องกันปัญหาด้านการชำระดุลได้ในระดับหนึ่ง
3. การกำหนดเพดานหรือวงเงินรับทำธุรกรรมระหว่างวัน
เป็นการนำเทคนิคป้องกันความเสี่ยงในตลาดเงินหรือตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรามาใช้ กล่าวคือเมื่อธนาคารใดส่งคำสั่งชำระเงินเกินกว่าวงเงินสำหรับธนาคารนั้น คำสั่งจะถูกยกเลิกหรือเข้าลำดับรอในคิว เมื่อมีเงินเข้ามาลดยอดคงค้างต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ จึงทำรายการชำระเงินต่อไปได้
4. ข้อตกลงในการกระจายความเสี่ยง ( liquidity-sharing and loss-sharing agreement)
เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะมีจำนวนเงินเพียงพอให้การชำระดุลผ่านพ้นไปได้ ข้อตกลงมี 3 รูปแบบ คือ
4.1 ธนาคารที่เหลืออยู่จะร่วมรับผิดชอบในอัตราส่วนที่เท่ากัน วิธีนี้มีข้อเสียคือ ไม่ได้พิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารที่มีปัญหากับธนาคารที่รับภาระ
4.2 ธนาคารที่เหลืออยู่รับผิดชอบเป็นสัดส่วนตาม Bilateral exposure วิธีนี้ดูจะสมเหตุสมผลมากกว่าวิธีแรก แต่ยังไม่ได้คำนึงถึง ว่าเป็นผลจากคำสั่งโอนเงินของลูกค้า ซึ่งอยู่ นอกเหนือการควบคุมของแต่ละธนาคาร
4.3 ธนาคารที่เหลืออยู่ จะรับผิดชอบเป็นสัดส่วนตาม Bilateral net receiver limit เป็นการรับภาระตามการประเมินฐานะความน่าเชื่อถือของธนาคารที่มีปัญหา ซึ่งพิจารณา กำหนดวงเงินที่จะทำธุรกิจด้วยไว้ล่วงหน้า จึงรับผิดชอบตามวงเงินนั้น อย่างไรก็ตาม วิธีการกระจายความเสี่ยงข้างต้นก็ยังคงมีความเสี่ยงในตัวเอง คือ
– ไม่สามารถแก้ปัญหา Settlement risk ได้อย่างสมบูรณ์
– ภาระการจัดหาเงินเพื่อแก้ปัญหา Settlement risk ในบางกรณี อาจนำไปสู่ปัญหาต่อเนื่องแก่สมาชิกอื่น ๆ ในระบบ หรือวงชำระเงินอื่น ๆ ได้
5. การ Unwind และ การคำนวณดุลสุทธิที่ต้องชำระแก่กันใหม่
การ Unwind คือ การนำรายการสั่งโอนและรับโอนที่เกี่ยวกับธนาคารที่มีปัญหาออก แล้วคำนวณดุลใหม่ ได้ดุลใหม่เป็นของกลุ่มธนาคารที่เหลือ
ผลการคำนวณดุลใหม่อาจเปลี่ยนภาระผูกพัน และ อาจสร้างปัญหาการขาดสภาพคล่อง ให้แก่ธนาคารอื่นหากเกิดต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ก็จะแปรเป็นความเสี่ยงแบบลูกโซ่ (Systemic risk)
วิธีแก้ปัญหาดังกล่าว ที่ธนาคารส่วนใหญ่เน้นพัฒนาให้เกิดและใช้แพร่หลายคือระบบชำระเงินที่สำเร็จเสร็จสิ้นทันทีทีละรายการ Real time gross settlement (RTGS) โดยเฉพาะเพื่อรองรับรายการชำระเงินมูลค่าสูง ซึ่งไม่มีความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนในระหว่างรอผลการโอนหรือผลการชำระดุล
ระบบการชำระเงินแบบ Real Time Gross Settlement (RTGS)
ระบบ RTGS จะเป็นการชำระแต่ละรายการผ่านบัญชีของธนาคารพาณิชย์ที่เปิดอยู่กับธนาคารกลาง โดยจะตัดเงินจากบัญชีของธนาคารผู้ส่งไปยังธนาคารผู้รับทันที
ประเทศที่ใช้ระบบ RTGS แล้ว ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา (ระบบ Fedwire) ประเทศ สวิสเซอร์แลนด์ (ระบบ SIC – Swiss Interbank Clearing) ประเทศไทย (ระบบ BAHTNET – Bank of Thailand Automated High-value Transfer NETwork) ประเทศสิงคโปร์ (ระบบ MEPS – MAS Electronic Payment System) ประเทศมาเลเซีย (RENTAS – Realtime Electronic Network Transfer and Securities) ประเทศออสเตรเลีย (ระบบ RITS – Reserve Bank of Information and Transfer System) และนอกจากนี้ประเทศ ในกลุ่มยุโรปกำหนดให้สมาชิกแต่ละประเทศพัฒนาระบบ RTGS และมี เป้าหมายให้สมาชิกของ European Monetary Union (EMU) เชื่อมระบบ RTGS ให้โอนเงินระหว่างประเทศในกลุ่มเป็น RTGS ด้วย คือ ระบบ TARGETS
การจัดหาสภาพคล่องที่เพียงพอในระบบ RTGS เป็นสิ่งที่สำคัญ วิธีจัดการเกี่ยวกับสภาพคล่องดำเนินการใน 3 รูปแบบ ดังนี้
1. การอนุญาตให้เบิกเงินเกินบัญชี
เป็นการให้สินเชื่อระหว่างวัน ธนาคารกลางให้สินเชื่อโดยอาจกำหนดเงื่อนไขไว้ เช่น กำหนดวงเงินสูงสุดสำหรับแต่ละธนาคาร คิดอัตราดอกเบี้ยจากการใช้วงเงินในระหว่างวัน และกำหนดให้ต้องมีหลักทรัพย์วางเป็นประกัน
2. การจัดให้มีกลไกบริหารสภาพคล่อง
วิธีนี้ธนาคารกลางใช้หลักการซื้อสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงจากธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารนั้นจะซื้อคืนและจะถูกหักเงินจากบัญชี ในตอนสิ้นวัน
แต่ละธนาคารจึงต้องประเมินฐานะการเงินและจำนวนสภาพคล่องที่ต้องการ และดำรงหลักทรัพย์ให้เพียงพอต่อการชำระเงิน
3. การจัดลำดับคำสั่ง
วิธีนี้เป็นระบบจัดการให้คำสั่งการโอนเงินเข้าและออกไหลลื่นขึ้น โดยนำ รายการโอนเงินที่เงินในบัญชีไม่เพียงพอเข้าคิวรอไว้ โดยอาจสลับลำดับก่อนหลังได้เพื่อมิให้ต้อง ยกเลิกรายการ เมื่อได้รับโอนเงินเข้ามาในบัญชีเพียงพอ ระบบจะดำเนินการโอนเงินที่อยู่ในคิวให้ ซึ่งหากมีระบบการจัดการแบบ Gridlock Resolution ด้วย จะช่วยลดความต้องการสภาพคล่องลงได้มากยิ่งขึ้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *