ROI ที่วัดไม่ได้

ROI ที่วัดไม่ได้

โดย แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ [8-5-2007]

ในแง่ “การลงทุน” สำหรับนักธุรกิจ นักการตลาดแล้วคงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าผลตอบแทนที่ได้ โดยเฉพาะ ROI หรือ Return on Investment ที่เราวัดกันในแง่กำไรจากเงินลงทุน แต่โลกทุกวันนี่ทำท่าจะเปลี่ยนขั้วไปสู่การวัด ROI ที่หมายถึง Return on Intangible กันเสียแล้ว
ROI ในความหมายนี้น่าจะดูกันที่ผลตอบแทนที่จับต้องไม่ได้ หรือ Intangible Asset กันมากกว่า ตามแนวโน้มของ Knowledge Based Economy ที่แข่งขันกันด้วยภูมิปัญญา ความรู้ ฯลฯ ผลตอบแทนที่ได้กลับมาจึงไม่ได้อยู่ในรูปของกำไรแต่เพียงอย่างเดียว
อัตราส่วนกำไรต่อพนักงานในวันนี้จึงไม่ได้วัดว่าพนักงานหนึ่งคนมีความสามารถในการทำยอดขายเท่าไหร่เท่านั้น แต่ดูกันที่ Intangible Asset ด้วย เช่น ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา Relationship ชื่อเสียงของบริษัท ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากคน เกิดจากโครงสร้างบริษัท และสร้างคนขึ้นมา
ต่อเนื่องด้วยการค้นคว้าเพื่อไปขอลิขสิทธิ์ สร้างชื่อให้เป็นยี่ห้อ สร้างทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถที่จะทำงานตามกลไกที่ต้องการ และใช้ซอฟต์แวร์มาจดจำและคำนวณให้เรา ฯลฯ
ภายใต้โลก Digital Edge หรือ Knowledge Based Economy คือศตวรรษแห่งภูมิปัญญาที่จะผลักดันให้องค์กรเกิดกำไรอย่างทวีคูณ โดยการสร้างคน เพื่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เกิดสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่เป็นทรัพย์สินที่มีผลคืนให้บริษัทอย่างทวีคูณ
เช่น Google ซึ่งเป็นบริษัท 1 ในบริษัทที่ขึ้นชื่อว่าน่าร่วมงานที่สุดในโลก มีจุดเด่นคือมีทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่อง Search Engine ที่สามารถเข้าไปแล้วหาสิ่งที่อยากรู้ได้ทั้งหมด หรือ Apple เปลี่ยนมิติในการใช้เทคโนโลยี จากอดีตที่เน้นตลาดคอมพิวเตอร์ที่เคยบุกเบิกสำเร็จเมื่อ 30 ปีก่อน แต่ปัจจุบันเป็น Entertainment Company ปฏิวัติเรื่องการบริโภคทั้งเพลงและหนัง
เช่นเดียวกับบริษัท Nintendo ที่ทำเกมส์คอมพิวเตอร์ ปัจจุบันมีเกมส์สำหรับผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งบริษัทเหล่านี้มี Intangible Asset มากมายที่เพิ่มคุณค่าให้บริษัทได้อีกมหาศาล
ผมขอคิดต่อโดยนำ 30 บริษัทที่เป็นบริษัทชั้นนำของโลกในปัจจุบันมาวิเคราะห์ตัวเลข เทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พบว่ามูลค่าของ 30 บริษัทชั้นนำของโลกมีมูลค่าโดยเฉลี่ย 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันมูลค่าโดยเฉลี่ย คือ 168,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เบื้องหลังของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมาเกือบ 5 เท่านั้น มาดูที่เรื่องคน เมื่อ 10 ปีที่แล้วจ้างคน 92,000 คน แต่วันนี้โดยเฉลี่ย คือ 198,000 คน เมื่อวิเคราะห์แล้ว 30 บริษัทนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากว่า 5 เท่า แต่พนักงานเพิ่มขึ้นแค่ 1 เท่า ถ้าคิดเป็นพนักงาน/กำไร/การเพิ่มมูลค่าบริษัท ทุกบริษัทจะเกิน 100% แต่พูดถึงเงินลงทุนที่ได้คืนมาจะเป็น 30% โดยเฉลี่ยของทุกปีเท่านั้น
สำหรับเจ้าของบริษัท ถ้าพนักงานมีความสามารถทำกำไรยิ่งสูงจะยิ่งสะท้อนถึงความสามารถการทำกำไรของบริษัท ยิ่งทำได้มาก คุณค่าของบริษัทก็ยิ่งมาก ซึ่งสาเหตุสุดท้ายก็อยู่ที่คนนั่นเอง
ในสถานการณ์ที่โลกเปลี่ยนไป ปัจจุบันประเทศไทยเป็นอย่างไร? ก็คงต้องมาดูที่การศึกษาและเรื่องการงาน โดยการวิเคราะห์ของผม ก็อาศัยข้อมูลในเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นต้นน้ำ ตามด้วยกระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ เป็นตัวบ่งชี้
ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ มีตัวเลขให้เห็นว่า คนที่อายุ 3-21 ปี อยู่ในวัยศึกษา จากประชากร 66 ล้านคน มีจำนวน 17.4 ล้านคน แต่มีแค่ 12.9 ล้านคนอยู่ในระบบการศึกษาเท่านั้น คือบางคนจบประถมแล้วไม่เรียนต่อ
สำหรับเด็กที่เรียนระดับมัธยม 1-6 มีจำนวน 4.8 ล้านคน ส่วนระดับมหาวิทยาลัย จำนวน 2.2ล้านคน และระดับปริญญาโท มี 146,000 คน ปริญญาเอกมี 9,000 กว่าคน ซึ่งข้อมูลนี้หากโยงมาที่ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีจำนวนคนทำงานประมาณ 36-37 ล้านคนจะพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ
คนทำงานทั้งหมดมี 12 ล้านคนที่อยู่ในภาคเกษตร มี 5 ล้านคนอยู่ในอุตสาหกรรมบริการ และมีผู้เชี่ยวชาญประมาณ 4 ล้านคน และมีคนทำงานในโรงงานประมาณ 3 ล้านคน
ส่วนในเรื่องการศึกษา คนไม่มีการศึกษา มีประมาณ 3.5 ล้านคน คนที่เรียนจบโดยที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนเลย มี 12.14 ล้านคน ระดับประถมศึกษา มี 7.7 ล้านคน และระดับมัธยมศึกษา มี 9.2 ล้านคน
คนที่จบมหาวิทยาลัยและทำงานอยู่มีประมาณ 4.98 ล้านคน ซึ่งในสัดส่วนนี้เป็นพนักงานทั่วไป 13 ล้านคน มีธุรกิจส่วนตัว 17 ล้านคน ทำงานที่บ้าน 7 ล้านคน ข้าราชการ 3 ล้านคน ทำงานเป็นหุ้นส่วน 50,000 คน และเป็นนักธุรกิจ 1 ล้านคน
จากข้อมูลนี้ จะเห็นว่าเรื่องการศึกษากับเรื่องงาน และอุตสาหกรรมที่เป็นที่นิยม จะเห็นว่าระบบการศึกษายังไม่พอต่อการป้อนที่จะสอดคล้องกับสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นสังคม Knowledge Based Society ที่เศรษฐกิจผลักดันด้วยความรู้กับทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งที่จับต้องไม่ได้
แต่โครงสร้างของไทยยังอยู่ที่คนที่ไม่มีการศึกษา หรือคนที่ไม่มีความสามารถจะเข้าสู่การเพิ่มมูลค่าต่อสิ่งที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วจะเห็นภาพที่แตกต่างกันมาก
การปรับทิศให้ประเทศของเรามุ่งไปตามทาง Knowledge Based Society ให้ได้จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งตามลำพัง แต่ต้องอาศัยความเป็นหนึ่งเดียวกันของทั้งภาคการศึกษา นโยบายของรัฐบาล วัฒนธรรม และที่สำคัญที่สุดคือครอบครัวที่ต้องสนับสนุน
เห็นทีจะต้องว่ากันต่อ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องยาวแน่นอนครับ…

Tags:

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *