Rich Brother Rich Sister

Rich Brother Rich Sister
Book on Top : นิติธร สุวรรณศาสน์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2552
เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงเคยอ่าน “Rich Dad Poor Dad” หนังสือดังที่หอบเอาทั้งภาคแปลและภาคต่อเนื่องในตระกูล Rich Dad ออกตามมาอีกมากหลังจากนั้น สำหรับผมแล้วยอมรับว่าไม่เคยสนใจจะอ่านหนังสือในตระกูลนี้เลย นั่นเป็นเพราะได้ยินคนใกล้ชิดหลายๆ คนเล่าเนื้อหาย่อๆ ให้ฟังแล้วผมก็พบว่าไม่สนใจแนวหนังสือข้างต้น
ต่อเมื่อได้เห็นหนังสือเล่มใหม่ในตระกูลนี้ออกมา ผมรู้สึกสะดุดที่หน้าปกที่มีแม่ชีมหายานยืนคู่กับชายเอเชียใส่สูท เมื่อได้อ่านบทย่อจึงทราบว่า Robert Kiyosaki เจ้าพ่อแห่ง Rich Dad ได้เขียนหนังสือ “Rich Brother Rich Sister” คู่กับน้องสาวตนเอง พี่ชายกับน้องสาวและนักธุรกิจที่มุ่งสู่การพัฒนาในเชิงการธุรกิจ กับแม่ชีในพุทธศาสนาแบบทิเบต รวมถึงชื่อรองของหนังสือที่ว่า
“…Two Different Paths to God, Money and Happiness” ทำให้ผมเลือกหนังสือเล่มนี้มาอ่านโดยมีคำถามในใจว่า นักเขียนที่ถนัดเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่าง Robert จะเขียนเรื่องพระเจ้าอย่างไร และน้องสาวผู้ที่เป็นแม่ชีจะอธิบายเรื่องเงินอย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่ผมตั้งคำถามก่อนอ่านเนื้อหาโดยละเอียดใน 350 หน้าและ 13 บท
Robert ผู้พี่บอกว่า จุดประสงค์ที่ทำหนังสือเล่มนี้ออกมา คือเพื่อสอนให้น้องสาว Emi หรือในชื่อแม่ชีว่า Tenzin Kacho ได้เรียนรู้วิธีการหาทุนทรัพย์เพื่อการรักษาการเจ็บป่วย ซึ่ง Emi ประสบปัญหาทางการเงิน ในการจ่ายค่ารักษามะเร็งของเธอ
ส่วนอีกจุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้คือเพื่อความรัก ซึ่ง Robert อธิบายไว้ได้อย่างคลุมเครือสำหรับผมเหลือเกินว่า รักอะไรและอย่างไร ใน 13 บทในเล่มนี้จะไล่เรียงเหตุการณ์ตั้งแต่เด็กจนโตของสองพี่น้องและครอบครัว Kiyosaki ซึ่งเป็นอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ที่อพยพมาฝังรากในฮาวายหลายชั่วคนแล้ว
ตอนต้นของทุกบทจะมีบทนำสั้นๆ ถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ตามด้วยบทเขียนของ Robert และ Emi ที่แยกกันเขียนส่วนใครส่วนมัน ตอนต้นของหนังสือที่อธิบายวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นของทั้งคู่นั้นน่าอ่าน และทำให้ผมเห็นภาพของ Robert ผู้ชอบความท้าทายกับ Emi เด็กหญิงที่ดูกลางๆ ไม่แก่นแก้ว แต่ก็ไม่ถึงกลับเงียบหงิม ต่อเมื่อทั้งคู่เป็นวัยรุ่นจึงเริ่มมีแนวทางต่างกันอย่างสุดขั้ว
Robert อธิบายไว้ว่า สงครามเวียดนามได้ส่งผลต่อครอบครัว Kiyosaki ลูกชายสองคนเป็นทหาร น้องสาวสองคนรณรงค์ต่อต้านสงคราม ส่วนพ่อแม่เข้าช่วยในกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ยามสงครามอย่างเต็มตัว
Robert สรุปว่า แม้แนวทางสมาชิกครอบครัวจะแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็ทำเพื่อสันติภาพ ช่างเป็นมุมมองที่คมคาย สมกับการเป็นนักพูดนักเขียนซึ่งตลอดทั้งเล่มนี้ Robert ได้แสดงความสามารถพูดถึงเรื่องที่น่าจะฟังดูเรื่อยๆ ให้น่าสนใจได้ ด้วยความฉลาดในการทั้งหักมุมและเลือกปมเด่นของเรื่องมาเล่า
ซึ่งทำให้ผมไม่แปลกใจว่า ทำไมบุรุษผู้นี้จึงเรียกพ่อผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูว่า Poor Dad และ Biological Dad ได้ ถ้าไม่เป็นเพราะมันทำให้เรื่องราวและหนังสือของเขาน่าสนใจ ก็คงเป็นเพราะความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งสามารถรู้สึกผ่านตัวหนังสือแม้กระทั่งของ Emi ได้ว่ามีช่องว่างระหว่างพ่อแม่กับลูก และระหว่างลูกด้วยกันเองอยู่มากทีเดียว
ชีวิตโลดโผนในกองทัพของ Robert และการมีลูกตั้งแต่วัยรุ่นของ Emi สะท้อนรูปแบบชีวิตแบบอเมริกันอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับวิถีชีวิตและวิธีคิด และการค้นหาสิ่งที่ตัวเองต้องการของทั้งคู่นั้น ยิ่งสะท้อนถึงการหย่าขาดจากวัฒนธรรมเอเชียของครอบครัว Kiyosaki อย่างเด็ดขาด
Robert ทุ่มเวลาค้นหาการพัฒนาตัวเอง และความมั่งคั่งตามคำสอนของ Rich Dad หรือ Spiritual Dad ของเขาห่างจากบ้านเกิดที่ Hawaii ไกลโขถึง New York ส่วน Emi เดินทางไปไกลถึงอินเดียและทิเบต เพื่อหาสิ่งที่ตนเองต้องการทั้งที่ลูกยังเล็ก (เธอแยกทางกับสามีขณะเป็นวัยรุ่น) และไม่สามารถตามไปได้ทุกที่
ความสุดโต่งเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คนตะวันตกต่างจากตะวันออกเสียทีเดียว แต่เป็นความเฉพาะตัว ซึ่งอธิบายได้ด้วยนิยามของการค้นหาอันปราศจากครอบครัวและพี่น้อง ที่ทำให้เห็นถึงความโดดเดี่ยว ที่บางคนอาจพยายามอธิบายว่าเด็ดเดี่ยวนี้
ในแง่ของหลักคิดในหนังสือนี้ ผมถือว่า Robert ทำได้ดีในสิ่งที่เขาถนัด การพูดเรื่องการพัฒนาศักยภาพตนเอง และเรื่องการเงินนั้นเขาเขียนได้น่าอ่าน (ไม่คำนึงว่าจะเห็นด้วยกับหลักนั้นๆ หรือไม่) แต่การพูดเรื่องพระเจ้าและศาสนานั้นผมว่า Robert สอบตกแบบไม่ได้ลุ้น ผมไม่ถ่องแท้ในเรื่องศาสนาและจริยธรรมพอที่จะตัดสินว่า Robert เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือคริสต์ดีแค่ไหน แต่ที่ผมบอกได้คือ ความพยายามที่จะยกระดับหลักการของตนเองโดยอิงศาสนานั้น Robert ไม่สามารถทำได้
ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า เขาไม่ได้สนใจศาสนาและจริยธรรมอย่างจริงจัง หรือหลักการของเขาอยู่ห่างจากสิ่งเหล่านี้เกินไปก็เป็นได้ เขาเอาแต่โยงให้หลักตัวเองเข้ากับเรื่องศาสนา แต่มันขาดการยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและน่าเชื่อถือ
ส่วน Emi นั้นใช้โอกาสในการอธิบายหลักพุทธให้ผู้อ่านฟัง ซึ่งเป็นหลักที่ง่ายๆ เหมาะกับฝรั่งที่ไม่คุ้นกับเรื่องเหล่านี้ แต่ความมือใหม่ทางงานขีดเขียนทำให้ฟังดูเรื่อยๆ เกินไป และนั่นทำให้ความน่าสนใจของเรื่องที่ Emi เขียนจบลงตรงช่วงวัยรุ่นและการค้นหาความสงบ ทั้งที่ความจริงความพยายามในการมองโลกของคนธรรมดา ผ่านมุมมองนักบวชที่เป็นศิษย์ ทะไล ลามะ ของ Emi นั้นน่าสนใจกว่า ความพยายามในทิศทางตรงข้ามของพี่ชายเสียอีก
Emi ยอมรับว่า ตนเองมุ่งการเผยแผ่ศาสนา จนลืมดูแลชีวิตด้านอื่นๆ เช่นการรักษาสุขภาพและการเงินที่จำเป็น วิถีชีวิตแบบนักบวชพุทธกับสวัสดิการสุขภาพของสหรัฐฯ คงได้ให้บทเรียนการปรับหลักการเข้ากับชีวิตจริงแก่แม่ชีเป็นอย่างดี แม่ชีมิได้โวยวายเรียกร้องหรือสาปส่งอะไรนัก มีแต่มุมมองของการยอมรับ และพยายามปรับตัว ซึ่งไม่แน่ใจว่ามาจากนิสัยส่วนตัว หรือเป็นผลมาจากบุคลิกจากศาสนาที่นับถือกันแน่
ผมทึกทักเอาว่า หนังสือเล่มนี้คงไม่เป็นเล่มแรก และสุดท้ายที่พี่น้องคู่นี้เขียน ผมหวังว่า Emi จะพัฒนาการเขียนได้ดีและน่าสนใจขึ้น ในขณะเดียวกัน Robert น่าจะเรียนรู้และน้อมรับหลักธรรมบางอย่าง เพื่อให้เขาได้เขียนถึงศาสนาและจริยธรรมได้อย่างน่าเชื่อถือกว่านี้
แต่ถ้าเล่มนี้กลายเป็นงานเฉพาะกิจพี่ช่วยน้องแล้วละก็ ผมก็ขออย่าให้ Robert เขียนเกี่ยวกับศาสนาอีก และก็เอาใจช่วยให้แม่ชีมีสุขภาพที่ดีขึ้นก็แล้วกันครับ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *