RFID มาแน่

RFID มาแน่

Source: กองบรรณาธิการ
นับตั้งแต่เครื่องจักรไอน้ำถือกำเนิดขึ้น และจุดประกายให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18
เป็นต้นมา เทคโนโลยีไม่เคยหยุดพัฒนา

นับวันเทคโนโลยียิ่งกลายเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตและบริการ และยิ่งเด่นชัดในระบบที่เชื่อมกันด้วย supply chain ข้ามโลกอย่างในยุคปัจจุบัน จะชอบหรือไม่ก็ตาม ผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำต้องทำความรู้จักและรับเทคโนโลยีใหม่ๆ สู่ระบบของตัวเองเสมอหากต้องการเป็นหนึ่งในกิจการนั้นๆ เทคโนโลยีตัวใหม่ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันมากในปัจจุบันนี้คือ RFID ที่มีพัฒนาการในช่วง 10 กว่าปีมานี้
RFID ย่อมาจาก Radio Frequency Identification คือระบบที่ใช้ความถี่วิทยุเพื่อระบุเอกลักษณ์หรือข้อมูลจำเพาะของวัตถุหรือบุคคลที่ติดแผ่นป้าย RFID หลักการทำงานของมันประกอบด้วย 2 ส่วนคือ แผ่นป้ายที่บรรจุข้อมูล (tag) และเครื่องอ่านสัญญาณ (reader) แผ่น tag นั้นบรรจุข้อมูลได้มากมาย ทั้งยี่ห้อ ราคา ชนิด แหล่งที่มา ข้อมูลการผลิตและอื่นๆ ส่วนเครื่องอ่านก็สามารถอ่านได้ในรัศมีตั้งแต่ 1-10 เมตร จึงไม่ต้องเป็นแบบสัมผัสโดยตรงอย่างระบบบาร์โค้ด
RFID ได้นำไปใช้ในงานเช็คคนเข้าออกสำนักงาน ในงานปศุสัตว์ที่ศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ หรือการให้อาหารสัตว์ที่ต้องการความแน่นอน ร้านค้าปลีกก็มีใช้บ้างซึ่งมันจะช่วยงานควบคุมสินค้าคงคลังได้อย่างรวดเร็ว เพราะข้อมูลสินค้าที่ถูกจำหน่ายออกไปจะแสดงทันที ต่อไปการช็อปปิ้งตามห้างก็ไม่ต้องเข้าแถวรอนาน เมื่อเข็นรถใส่สินค้าผ่านเครื่องเซนเซอร์ ราคารวมของสินค้าทั้งหมดก็จะปรากฏบนหน้าจอเลย ไม่ต้องสแกนกันทีละชิ้นอีก แต่ที่ยังไม่นิยมใช้กันแพร่หลายเพราะราคา tag ยังสูงอยู่
แต่อย่างไรเสีย RFID ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในกิจการทุกอย่างในอนาคตอันใกล้แน่ บรรดาร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Wal-Mart หรือ Tesco ได้เริ่มทดลองใช้ระบบใหม่นี้แล้ว วงการอื่นก็คงเริ่มขยับตัวตาม และดูว่าจะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์ในกิจการของตัวเองอย่างไรได้บ้าง ขณะที่การพัฒนาเพื่อลดต้นทุนของเทคโนโลยีก็ดำเนินต่อไป ผู้ประกอบการของไทยเองก็คงต้องทำความรู้จักกับ RFID จริงๆ จังๆ ได้แล้วเช่นกัน
มีหลายหน่วยงานจัดสัมนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ตัวนี้หลายครั้งแล้ว The Asia Business Forum ก็จัดสัมมนาเรื่องนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว ดร. นัยวุฒิ วงษ์โคเมท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไออี เทคโนโลยี จำกัด ได้นำเสนอประเด็นเพื่อช่วยในการพิจารณาเทคโนโลยี RFID ไว้หลายข้อ
ดร. นัยวุฒิ บอกว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจระบบ RFID ให้ถ่องแท้ก่อน และเข้าใจลักษณะงานและปัญหาของตัวเองให้ชัดเจนว่าจำเป็นต้องใช้ระบบนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะบางครั้งปัญหาก็แก้ได้โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยี แต่มีสาเหตุจากคนก็มีบ่อย เพราะฉะนั้นต้องตีโจทก์ปํญหาให้ได้ก่อนว่าคืออะไรแน่ เจ้านายต้องการหรือลูกค้าต้องการ แล้วมาพิจารณาว่า RFID เป็นคำตอบให้ได้หรือเปล่า หากมั่นใจแล้วก็ดูต่อไปว่าต้องการมันใช้ทำอะไร และกำหนดกรอบเวลาและคาดการณ์งบประมาณในขั้นต่อไป
ดร.นัยวุฒิ บอกว่า ปัญหาที่พบบ่อยคือ ลูกค้าคิดว่า RFID เหมือนยาวิเศษที่แก้ได้ทุกโรค ซึ่งไม่ใช่ “บางคนยังเข้าใจว่า เมื่อติด tag ให้ผลิตภัณฑ์แล้วเขา ก็จะสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของผลิตภัณฑ์นั้นได้โดยตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในคลังสินค้า หรือบนรถบรรทุกขณะเดินทางไปทั่ว RFID ไม่ใช่ ระบบ GPS ระยะความถี่ที่ติดตามได้ของ RFID สูงสุดอยู่ที่ 10 เมตร ลักษณะของ RFID นั้นออกแบบมา เพื่องานทางโลจิสติกส์ มันเพียงบอกให้รู้ว่าของได้มาอยู่ใกล้เครื่องอ่านแล้ว และยังไม่ใช่อุปกรณ์ติดตั้ง เพื่อกันขโมยโดยตรง”

นอกจากนี้ RFID แตกต่างจากระบบบาร์โค้ดโดยสิ้นเชิง บาร์โค้ดนั้นอ่านชิ้นต่อชิ้น แต่ RFID เป็นการอ่านเป็นหีบห่อ อุปกรณ์ก็เป็นคนละแบบ บาร์โค้ดต่อกับพีซีได้ แต่ RFID นั้นไม่ได้มีเพียง tag กับ เครื่องอ่านเท่านั้น ยังต้องเชื่อมกับ gateway และ enterprise server ดังนั้นจะต้องหาบริษัทที่มีความรู้ และทักษะทางด้านนี้จริงๆ เพราะต้องรู้ hardware process และ software management

ดร. นัยวุฒิ แนะว่า ควรจะเริ่มด้วยการทดลองใช้งานในขนาดพอเหมาะเสียก่อนแล้วติดตาม ดูผลว่าช่วยแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ และควรเลือกบริษัทที่ชำนาญจริงๆ และรู้หลายระบบ และยังบอกว่า อย่างไรเสีย RFID คงเป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้ ฉะนั้นจึงควรเริ่มได้เลย
“เทคโนโลยีนี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจรอ ต้องเริ่มเลย แต่ควรเริ่มทดลองจากขนาดเล็กก่อน โดยออกแบบเผื่อการขยายตัวไว้ด้วย จากนั้นค่อยเรียนรู้ไป แม้แต่ แคโรลี วอลตัน รองประธานของ Wal-Mart ยังให้คำแนะนำว่า คุณต้องยืดคอออกไปมองข้างนอกว่าเขาทำอะไรกัน ไม่ต้องรีบกระโดดใส่ RFID แต่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย Wal-Mart ขอให้ partners ที่มีความพร้อมมากหน่อยลองใช้งาน RFID ดู แล้วค่อยเพิ่มจำนวนและปริมาณการใช้งาน”

“ต้องเลือกขนาดใช้งานที่เหมาะสม สินค้าประเภทไหน คุ้มค่ากับการลงทุนใช้ RFID ไหม และจะใช้เมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร เช่น กรณีที่ลูกค้าต้องการจะติด tag ทุกชิ้น หากเป็นสินค้าที่มี มูลค่าสูงมากๆ เช่น 2,000 ดอลล่าร์ต่อชิ้น หากเกิดการสูญหายแล้วได้รับความเสียหายมากก็น่าจะใช้ แต่ อย่างบะหมี่สำเร็จรูป 1 กล่อง ประมาณ 5 ดอลลาร์ จะติด tag กล่องละ 10 เซ็นต์ก็ไม่คุ้มเท่าไร ต้องดู มูลค่าของสินค้าและดูด้วยว่าหากสินค้าเกิดสูญหายต้องเสียหายเท่าไรด้วย และต้องดูว่าการติด tag มีผล ต่อ production line หรือผลกระทบต่อลูกค้าไหมด้วย” ดร.นัยวุฒิ กล่าวเสริม

ความสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่างคือ เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายแบบที่พัฒนาขึ้นมาให้เลือก เช่น LF, HF, UHF, MW, passive, active คุณสมบัติที่ต้องดูคือ อ่านได้ไกลแค่ไหน สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ขนาดข้อมูลเก็บได้มาก น้อยขนาดไหน มีความปลอดภัยสูงหรือเปล่า ราคาของ tag กับเครื่องอ่าน tag นั้นมีราคาตั้งแต่ไม่กี่เซ็นต์ถึง 2-3 ดอลลาร์ ส่วนเครื่องอ่านมีตั้งแต่ 15 ดอลลาร์ถึงหลายพันดอลลาร์ การลงทุนอุปกรณ์ถูกแต่ใช้ งานได้ไม่มากและไม่นานจะคุ้มไหม ควรเลือกบริษัทที่มีความรู้และทักษะในเทคโนโลยีด้านนี้หลายตัว บริษัทที่รู้เพียงเทคโนโลยีเดียวจะมีแนวโน้มชักจูงลูกค้าให้เห็นดีเห็นงามว่าระบบของเขาใช้กับงานของ คุณได้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะใช้ได้จริงหรือไม่ถ้าติดไปแล้ว
ดร. นัยวุฒิ ยังแนะว่าการเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ ควรต้องทำแบบค่อยๆ เปลี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยง ความรู้สึกต่อต้านจากพนักงาน และเพื่อไม่ให้กระทบกระเตือนระบบงานเดิมมากนัก ขั้นตอนการเปลี่ยน ถ่ายก็ไม่ควรจะมีมากเกินไป และลดงานที่มีอยู่แล้ว ต้องประเมินผลดูก่อน เพราะถ้าเริ่มใช้ได้ผล พนักงานก็จะรับระบบใหม่ด้วยความเต็มใจ เวลาคิดจะนำระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปใช้งาน ควรหาทีมงานที่เข้าใจปัญหาเพื่อให้เกิด Input ได้มาก หาทีมที่แข็งแรงและรักการทดลองระบบใหม่ พร้อมขอการสนับสนุนจากเจ้านาย เพราะจะ ทำให้การเปลี่ยนแปลงทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น แล้วการเปลี่ยนถ่ายระบบควรให้มีขั้นตอน ควรใช้ระบบ เดิมคู่กับระบบใหม่จนเข้าที่เสียก่อนก่อนเลิกระบบเก่าไป
ผู้เชี่ยวชาญ RFID กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยีทางด้าน RFID ยังไม่สะเด็ดน้ำ การพัฒนาใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะฉะนั้นต้องหมั่นติดตามวิวัฒนาการของมันไว้
ตัวอย่างการนำ RFID ไปใช้งานจริง
ดร. พิเชฐ ชินตระกูลชัย บริษัท IBM Solutions Delivery ได้ยกตัวอย่างบริษัทที่ได้นำ RFID ไปใช้แล้วเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้ภาพว่าเทคโนโลยีตัวนี้นำไปประยุกต์ใช้กับกิจการใดได้บ้าง
โรงเรียนประถมหนานหู ในไต้หวัน เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกที่ติดตั้งระบบ RFID เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพในด้านการรักษาความปลอดภัยภายในโรงเรียน โดยให้นักเรียนติด tag แสดงข้อมูลของนัก เรียนกับชุดนักเรียนที่ใส่ (จะทำรวมไว้กับบัตรนักเรียนก็ได้) เมื่อนักเรียนเดินเข้าหรือออกจากโรงเรียน เครื่องอ่านก็จะอ่านและติดตามได้ว่านักเรียนคนไหนอยู่หรือออกไปจากโรงเรียนแล้ว นอกจากนี้ยังช่วย ติดตามว่านักเรียนเข้าไปในเขตอันตรายที่ไม่มีผู้ใหญ่หรือคุณครูดูแลหรือเปล่า ระบบ RFID ช่วยไม่ให้ ต้องเปลืองแรงงานครูในการดูแลตามจุดต่างๆ ทำให้ครูมีเวลาเตรียมการสอนได้มากขึ้น
โรงงาน Kureha Environmental Engineering ซึ่งเป็นบริษัทกำจัดขยะในญี่ปุ่น ได้ติด RFID บนตู้คอนเทนเนอร์ขนขยะจากโรงพยาบาล ข้อมูลจะถูกส่งไปที่โรงงานที่จะตรวจสอบได้ว่ารถขนขยะไม่ ได้แวะรับขยะเพิ่มจากที่อื่น และส่งไปโรงงานกำจัดขยะหรือเปล่า โรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้าในบางประเทศใช้ระบบ RFID เพื่อการติดตามการผลิตทุกขั้นตอน ทำให้รู้ว่าชิ้นส่วนใดถูกส่งไปที่ใดและได้รับการประกอบถูกจุดหรือไม่ จึงติดตามความคืบหน้าของรถแต่ละคันตั้งแต่ต้นจนจบไลน์การผลิตพร้อมส่งรถได้

บริษัท Yulon Nissan Motor Company นำ RFID ไปใช้กับการบริการซ่อมรถเพื่อเก็บประวัติ รถที่เข้ามาใช้บริการ ทำให้รู้ว่าเคยมาซ่อมอะไรไปบ้าง เมื่อรถผ่านเซ็นเซอร์ของศูนย์ซ่อมเข้ามา เครื่องก็ จะอ่านข้อมูลได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาทำประวัติใหม่ ทำให้การบริการรวดเร็วขึ้น
โรงงานของไอบีเอ็มเองก็ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตทุกขั้นตอน เพราะราคาชิ้นส่วนเซมิคอน ดักเตอร์นั้นมีราคาสูงและมีจำนวนชิ้นมาก ทุกคอนเทนเนอร์ของแต่ละชิ้นจะใช้ RFID Tag ทำให้ติดตาม ได้ว่ามาจากจุดใดและกำลังจะส่งไปที่ใด ชิ้นส่วนไหนต้องส่งไปสายผลิตใด ป้องกันความผิดพลาดในการ ส่งผิดสาย ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของงาน ลดความผิดพลาด และลดการใช้แรงงานคนได้มาก
ผู้ประกอบการไทยคงไม่อาจเมินเฉยต่อ RFID ได้แล้วหากไม่อยากเป็นคนที่ตกขบวนรถไฟ!

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *