Park and Ride บรรเทาปัญหารถติด

Park and Ride บรรเทาปัญหารถติด

ปัญหาการจราจรที่คับคั่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีต้นเหตุที่สำคัญคือปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ปริมาณพื้นที่บนท้องถนนขยายตัวไม่ทันกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถ จะทำอย่างไรเพื่อลดปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลไม่ให้มาใช้พื้นที่ผิวจราจรในช่วงเวลาเดียวกันโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน เช่นในเวลาเช้าและเวลาเลิกงาน เป็นต้น วิธีแก้ประการหนึ่งก็คือ การจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะของระบบขนส่งมวลชน ตั้งแต่รถไฟฟ้า BTS จนถึงรถไฟฟ้าใต้ดิน

 
           ปัญหาที่พบเห็นในปัจจุบันคือ ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่แถบชานเมือง เขตรอบนอก หรือแม้กระทั่งเขตชั้นในที่ใช้รถยนต์ในการเดินทางอยู่แล้ว แม้ว่ามีความต้องการที่จะจอดรถยนต์ของตนไว้ และใช้บริการของระบบขนส่งมวลชนเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง แต่กลับไม่มีสถานที่สำหรับพักรถหรือจอดรถยนต์อย่างเพียงพอ การเพิ่มจำนวนสถานที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางด้วยรถสาธารณะจึงน่าจะเป็นหนทางในการลดปัญหาจำนวนรถยนต์ในท้องถนนได้ทางหนึ่ง นั่นคือแนวคิดของระบบ Park and Ride
 
           Park and Ride คือระบบอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานหรือทำธุระอื่นๆ ในเมือง คือการขับรถมาจอดที่สถานที่จอดรถที่จัดไว้ให้ แล้วใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเข้ามาทำงานหรือทำกิจธุระใดใดก็แล้วแต่ในเมือง เมื่อถึงเวลาเย็นหรือหลังเสร็จธุระก็นั่งระบบขนส่งสาธารณะกลับมาเอารถที่อาคารจอดรถ เพื่อขับรถกลับบ้าน
 
           ระบบ Park and Ride เริ่มขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1960s ที่เมือง Oxford ประเทศอังกฤษ โดยเป็นบริการรถรับส่งระหว่างจุดจอดกับโรงแรมบนถนนสาย A34 โดยให้บริการเพียงแค่บางช่วงเวลา และเปิดบริการเต็มเวลาในปี 1973
 
           อาคารจอดรถ Park and Ride นี้สำหรับต่างประเทศจะเป็นสถานีของระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ด้วย ซึ่งมักจะตั้งอยู่บริเวณชานเมืองหรือรอบๆ เมืองที่เป็นเมืองใหญ่ เนื่องจากความหนาแน่นของผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าเมือง ที่อาคารนี้จึงให้บริการรถด่วนพิเศษ ที่เรียกว่า Park and Ride Bus เป็นรถขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนป้ายจอดที่จำกัดและใช้ช่องทางที่ทำให้สามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว เช่น ช่องทางสำหรับรถบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก (High-occupancy Vehicle Lane) โดยปกติแล้วบริการรถด่วนนี้จะวิ่งมุ่งหน้าในทิศทางเดียวไปสู่ศูนย์ธุรกิจใจกลางเมืองในช่วงเช้า และวิ่งในเส้นทางตรงกันข้ามในช่วงเย็น ส่วนในช่วงกลางวันจะให้บริการจำกัด สำหรับการจอดรถจะไม่อนุญาติให้จอดข้ามคืน หากเกิดกรณีที่จอดรถไม่พอ อาจใช้วิธีร่วมโดยสาร (Carpool) เพื่อนำรถเพียงคันเดียวไปจอดก็ได้
 
           ระบบ Park and Ride ยังเป็นระบบทางเลือกสำหรับการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ผู้ให้บริการขนส่งบางรายได้ใช้ระบบนี้ในการส่งเสริมให้คนใช้หลักปฏิบัติในการขับรถอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficient driving practices) เช่น การสำรองที่จอดรถให้กับรถที่ออกแบบมาให้ปล่อยควันดำในปริมาณน้อย (Low emission designs) รถที่บรรจุผู้โดยสารได้มาก (High occupancy vehicles) หรือรถที่มีการโดยสารร่วมกัน (Car sharing)
 
           สำหรับประเทศไทย ระบบ Park and Ride เป็นการให้ความสะดวกในด้านสถานที่จอดรถ โดยจะตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับสถานีรถไฟฟ้า ทั้งระบบรถไฟฟ้า BTS และรถไฟใต้ดิน ส่วนในต่างประเทศนั้นสถานที่จอดรถนี้จะตั้งอยู่ที่สถานีขนส่งสาธารณะ/ขนส่งสาธารณะด่วนระบบอื่นด้วย ส่วน Park and Ride Bus หรือที่รู้จักกันในชื่อ Shuttle bus ได้ยกเลิกการให้บริการไปแล้วในประเทศไทย
 
           ในโครงการระบบขนส่งมวลชนส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ารับสัมปทาน นั่นคือให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดหาพื้นที่จอดรถ (Park and Ride) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถไฟฟ้า
 
           ปัจจุบันจุดจอดรถ Park and Ride สำหรับรถไฟฟ้า BTS มีอยู่ที่เดียวคือที่สถานีรถไฟฟ้าจตุจักร ซึ่งเป็นลานจอดรถ มีการร้องเรียนถึงปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ ต้องจอดซ้อนคัน หากโดนชนโดนเฉี่ยวไม่มีคนเหลียวแล ที่จอดไม่มีหลังคา หากฝนตกก็ต้องลุยฝนไปที่รถ สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายคนเมินการใช้บริการขนส่งที่มีความรวดเร็วอย่างรถไฟฟ้า สำหรับรถไฟใต้ดินมีอาคารจอดรถ 2 แห่งและลานจอดรถที่มีพื้นที่ไม่มากอีก 8 แห่ง
 
           สำหรับจุดหลักที่ควรมีการสร้างอาคารจอดรถเพื่อรองรับผู้ใช้รถไฟฟ้าที่อยู่ชานเมืองหรือนอกเมือง ที่ต้องเดินทางเข้ามาในเมืองชั้นในคือ
 
           ·       สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต เนื่องจากเป็นสถานีต้นทางที่มีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งมีลานจอดรถอยู่แล้ว แต่ไม่เพียงพอ และต้องเสียเวลาในการหาที่จอด และเสี่ยงต่อการเฉี่ยวชน
 
           ·       สถานีรถไฟฟ้าตากสิน เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคมทั้งโดยรถ เรือ และรถไฟฟ้า
 
 
           ·       สถานีรถไฟฟ้าบางนา เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมโครงข่ายทางเดินรถจังหวัดภาคตะวันออกและอยู่ใกล้ศูนย์ไบเทค
 
           ·       สถานีรถไฟฟ้าอโศก เนื่องจากเป็นชุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS และรถไฟใต้ดิน ทำให้คนที่อาศัยอยู่ย่านใจกลางเมืองไม่ต้องใช้รถส่วนบุคคล
 
           นอกจากนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองให้สามารถใช้รถไฟฟ้า ควรมีจุด Park and Ride ตามสถานีย่อยที่เหมาะสมด้วย ตัวอย่างเช่น อาคารเวฟเพลส (Home Pro Plus) บริเวณหัวมุมถนนเพลินจิตและถนนวิทยุที่เปิดให้บริการแล้ว โดยให้บริการที่จอดรถฟรีแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ในวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 06.00-22.00 น.
 
           เมื่อพิจารณามาถึงจุดนี้ การสร้างอาคารจอดรถเพิ่มอาจมีความจำกัดในด้านของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ ที่ต้องมีการเจรจากับเจ้าของกรรมสิทธิ์ก่อน สิ่งที่น่าจะมีความเป็นไปได้คือ การขอความร่วมมือหรือประสานกับภาคเอกชนที่มีพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นที่รกร้างหรือไม่ได้ทำประโยชน์ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานีขนส่งเพื่อขอเช่าเป็นสถานที่จอดรถ โดยให้เงื่อนไขในด้านผลประโยชน์ที่จะตอบแทนให้หรือประกาศเกียรติคุณที่ให้กับเอกชน สิ่งที่น่าจะดำเนินการมีดังนี้ 
 
           1.      สร้างที่จอดรถบริเวณถนนสายหลักที่จะเข้ากรุงเทพมหานคร
 
           กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้หาพื้นที่ว่างตามบริเวณหน้าด่านของถนนสายหลักทุกทิศทางที่เข้ากรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นอาจเข้าไปเจรจากับเจ้าของพื้นที่นั้นเพื่อขอเช่าหรือซื้อ แล้วสร้างเป็นที่จอดรถหรืออาคารจอดรถขนาดใหญ่แล้วแต่ขนาดของพื้นที่หรือปริมาณความต้องการของประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการ โดยกรุงเทพมหานครอาจเรียกเก็บค่าบริการจอดรถในราคาถูกที่ไม่ทำให้ผู้ใช้รถรู้สึกเป็นภาระมากเกินไป วิธีดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณจำนวนรถยนต์ที่จะเข้าสู่กรุงเทพมหานครในทุกหัวเมืองได้จำนวนมาก
 
           2.      ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่แล้ว
 
เราสามารถที่จะหาพื้นที่ในการจอดรถระหว่างเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะได้เนื่องจากมีห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ มากมายที่อยู่ระหว่างเส้นทางนั้น ซึ่งในระหว่างสัปดาห์หรือจันทร์-ศุกร์ ปริมาณของผู้มาใช้บริการมีจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่จอดรถที่ว่างและไม่เกิดประโยชน์สูงสุดในเวลาดังกล่าว ดังนั้น กรุงเทพมหานครจะเข้าไปเจรจาขอความร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า เพื่อขอใช้พื้นที่จอดรถโดยอาจลดภาระภาษีให้กับห้างที่ให้ความร่วมมือ หรือยอมให้เก็บค่าจอดในราคาต่ำแต่กรุงเทพมหานครรับภาระบางส่วน ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหันมาจอดรถที่ห้างและห้างก็ได้รับประโยชน์อีกทางหนึ่งจากการมีผู้เข้าห้างเพิ่มขึ้น
 
           3.      เช่าพื้นที่เอกชนทำพื้นที่จอดรถสำหรับกรุงเทพมหานครรอบใน
 
           กรุงเทพมหานครควรสำรวจพื้นที่ว่างของเอกชนที่อยู่ไกล้กับบริเวณสถานีขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะเห็นว่ายังมีพื้นที่อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ทำประโยชน์ และหลังจากนั้นกรุงเทพมหานครจะเข้าไปติดต่อเพื่อขอเช่าหรือซื้อพื้นที่ดังกล่าวสำหรับเป็นที่จอดรถ หรือหากพื้นที่นั้นอยู่ห่างออกไปมากก็อาจจัดให้มีบริการรถรับส่ง (Shuttle bus) จากที่จอดไปยังสถานีฯ
 
           ต้นให้ประชาชนและผู้ประกอบในแต่ละพื้นที่มีส่วนร่วมแก้ปัญหาจราจร ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นอันดีในการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทุกคนต่างมีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่า ทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระของกรุงเทพมหานครในการบริหารจัดการระบบจราจรภายใต้ความจำกัดในหลาย ๆ เรื่อง ผลพลอยได้จากแนวทางดังกล่าวคือ การสร้างจิตสำนึกของการมีส่วนร่วมแก่คนในสังคมได้อีกทางหนึ่ง 
 
 
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่  15 พฤษภาคม 2551

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *