Outsourcing เทรนใหม่ ยุคธุรกิจลดต้นทุน

Outsourcing เทรนใหม่ ยุคธุรกิจลดต้นทุน

Written by Administrator
Friday, 20 June 2008 04:07
Sample image
Outsourcing เทรนใหม่ ยุคธุรกิจลดต้นทุน
Dr.Sitichai Farlangthong
วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก
ปัจจุบันธุรกิจกำลังเผชิญกับภาวะเสี่ยงที่มาจากสภาพแวดล้อมภายนอกรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย วิกฤติทางด้านพลังงาน วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น จึงทำให้หลายธุรกิจหันมาลดความเสี่ยง ลดต้นทุน ลดขั้นตอน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจให้เกิดความได้เปรียบเชิงการแข่งขันด้านคุณภาพของสินค้า การบริการ รวมทั้งความรวดเร็วในการตอบสนองกับลูกค้า ด้วยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจสมัยใหม่คือ การใช้บริการด้านโลจิสติกส์จากผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก (Logistics Outsourcing) เพิ่มมากขึ้น
ในเรื่องนี้ ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก กล่าวว่า สำหรับแนวคิดเรื่อง Outsourcing นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ซึ่งในอดีตมักจะใช้กับงานทำความสะอาดสำนักงาน งานรักษาความปลอดภัย แต่ปัจจุบันธุรกิจนิยมนำ Outsourcing มาใช้กับงานต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดห้องอาหารสำหรับพนักงาน หรืองานเลี้ยง งาน Call Center งานป้อนข้อมูล งานธุรการ บัญชี กฎหมาย การวิจัย งานขนส่ง รวมถึงงานทางด้าน IT เป็นต้น
ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การจัดการสมัยใหม่ (Modern Management) มีแนวคิดว่า แหล่งวัตถุดิบและแหล่งแรงงานที่ใดถูก ต้องรู้จักระดมนำมาใช้ อะไรที่ตนเองไม่มีความถนัด คนอื่นทำได้ดีกว่า เร็วกว่า ให้ใช้วิธีการจ้างแรงงานจากภายนอก (Outsourcing) เนื่องมาจากภาวะทางการแข่งขันของธุรกิจยุคการเปิดเสรีเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การตั้งราคาขายตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถทำได้ จึงจำเป็นจะต้องหาทางวิธีการที่จะลดต้นทุน สำหรับประเทศที่นิยมใช้การ Outsourcing กับการจัดการโลจิสติกส์ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง ยังได้กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษาวิจัยของบริษัท Bain & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านวิจัยและบริหารธุรกิจของอเมริกา ที่ก่อตั้งมานานกว่า 35 ปี ได้ทำการสำรวจเครื่องมือการจัดการ (Management Tools) ที่บรรดาผู้บริหารองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกนำมาใช้ ซึ่งปี 2007 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เครื่องมือการจัดการ Outsourcing ได้รับความนิยมร้อยละ 77 เป็นอันดับที่ 7 โดยผู้บริหารพึงพอใจด้วยค่าเฉลี่ย 3.68 จากเครื่องมือการจัดการ 25 ชนิด แสดงให้เห็นว่า Outsourcing กำลังเป็นแนวโน้มของการทำธุรกิจและเป็นทางเลือกหนึ่งที่องค์กรสมัยใหม่นิยมเลือกใช้ ในยุคที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับข้อดีของการนำ Outsourcing มาใช้ คือ
1. ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายขององค์กร ทำให้กระแสเงินหมุนเวียนในองค์กรมีสภาพคล่องตัวมากยิ่งขึ้น รวมทั้งรู้ต้นทุนที่ชัดเจนในงานแต่ละประเภทโดยไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนแฝงที่จะเกิดขึ้น
2. ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรให้มากขึ้น เนื่องจากการดำเนินการต่าง ๆ จะเกิดความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพสูงในการตอบสนองการให้บริการใหม่ ๆ กับลูกค้า ซึ่งการลงทุนเองจะไม่สามารถตอบสนองต่อความยืดหยุ่นของดีมานด์ของตลาดได้ทันท่วงที
3. ผู้ประกอบการสามารถทุ่มเทเวลาและทรัพยากรที่เหลือไปพัฒนาธุรกิจหลักหรือสิ่งที่บริษัทถนัด (Core Business) ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของบริษัทได้อย่างรวดเร็ว
4. ทำให้พนักงานมีโอกาสใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากจะมีการสับเปลี่ยนโยกย้ายพนักงานจากส่วนเดิมไปในส่วนงานใหม่ ทำให้พนักงานเกิดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ต่องาน
5. องค์กรสามารถขยายธุรกิจด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ก่อให้เกิด Business Line เพิ่มขึ้น และสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ขององค์กร
6. องค์กรสามารถผลักภาระการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้กับบริษัทว่าจ้างได้ และสามารถลดต้นทุนในคลังสินค้า เครื่องมือในการเคลื่อนย้าย อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการหยิบสินค้าและการขนส่ง โดยนำทุนนั้นไปใช้กับการลงทุนในกระบวนการโลจิสติกส์ของบริษัทในด้านอื่น ๆ
7. การจัดจ้างนี้ มีสัญญาการจ้างระยะเวลาที่จะสิ้นสุด ดีกว่าการลงทุนเอง ซึ่งจะต้องเป็นการลงทุนในลักษณะถาวรต่อเนื่อง
ส่วนข้อเสียของการ Outsourcing ก็คือ
1. ข้อมูลความลับทางธุรกิจอาจรั่วไหลไปยังคู่แข่งขันได้ เช่น ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลโครงการในอนาคตของบริษัท ข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลด้านต้นทุน เป็นต้น
2. ผู้ใช้บริการขาดการเรียนรู้ทางธุรกิจ ทำให้ยังต้องพึงพาผู้ให้บริการมากเกินไป และเป็นการผูกติดความสำเร็จของบริษัทกับผู้ให้บริการ
3. บริษัทที่ Outsourcing เข้ามาประสิทธิภาพในการทำงานไม่คงที่ เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนชุดทำงานบ่อย ทำให้ขาดทักษะความชำนาญอย่างต่อเนื่องในระบบการดำเนินงาน
2. ความรู้สึกผูกพันและความรับผิดชอบต่อองค์กรของพนักงานที่ว่าจ้างเข้ามามีน้อย เนื่องจากลักษณะงานเป็นการทำสัญญาว่าจ้างระยะสั้น ทำให้พนักงานบางส่วนไม่รู้สึกว่าถูกจูงใจต่อการทำงาน
3. ช่องว่างความขัดแย้งในการทำงานร่วมกันระหว่างพนักงานขององค์กรกับพนักงานที่ว่าจ้างเข้ามา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อลูกค้าและผู้มาติดต่อกับองค์กร
4. ต้องมีการจัดตั้งคณะทำงานการควบคุมดูแลบริษัทที่ว่าจ้างเข้ามาในแง่ของประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้องค์กรไม่เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายจริง
5. หากพิจารณาไม่ชัดเจนระหว่างกิจกรรมหลักและกิจกรรมเสริมขององค์กร จะทำให้ความสามารถหลักในการแข่งขัน (Core Competency) ขององค์กรไม่เกิดขึ้นจริงและกลายเป็นจุดอ่อนในระยะยาว รวมทั้งหากได้บริษัทที่ไม่มีความรู้ความชำนาญและมีประสบการณ์ตรงจริง จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ (Image) และความน่าเชื่อถือจากบุคคลภายนอกได้
“การตัดสินใจจะเลือกใช้ผู้ให้บริการภายนอกให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดตามเป้าหมายของธุรกิจนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบว่า ธุรกิจที่กำลังดำเนินกิจการอยู่นั้น จำต้องใช้ Outsourcing หรือไม่ หรือควรใช้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากภายนอกกี่รายถึงจะดี ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์และภาวะของบริษัทด้วย รวมทั้งหากบริษัทมีระบบการจัดการโลจิสติกส์ที่ดีแล้วการจัดจ้างโลจิสติกส์จากภายนอกจะไม่ช่วยในเรื่องของการลดต้นทุน” ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง กล่าวในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ข้อที่องค์กรควรคำนึงถึงก็คือ 1. องค์กรใดก็ตามที่จะนำวิธี Outsourcing มาใช้ต้องแยกให้ออกและชัดเจนว่ากิจกรรมส่วนใดเป็นกิจกรรมหลักขององค์กร และกิจกรรมส่วนใดเป็นกิจกรรมเสริม ไม่เช่นนั้นแล้ว ปัญหาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะงานบริการ 2.ต้องวิเคราะห์ต้นทุนให้มีความชัดเจนระหว่างการทำเองกับการจ้างทำว่าวิธีการใดจะถูกกว่ากัน 3. การเลือกบริษัทที่จะจ้าง ต้องเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือ และเคยมีผลงานปรากฏเด่นชัด และ 4. ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกระบวนการสายโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) ขององค์กรในการส่งมอบคุณค่าแก่ลูกค้าด้วย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *