Machine Fund ต้นแบบแห่งบูรณาการเพื่อ SMEs
Machine Fund ต้นแบบแห่งบูรณาการเพื่อ SMEs
สวัสดีค่ะผู้อ่าน SMEs Vision ทุกท่าน ครั้งนี้ ดิฉันขอนำความสำเร็จของการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน ในการผลักดันโครงการปรับปรุง / ฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรแก่ SMEs หรือ Machine Fund ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่มี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกันเป็นหัวเรือใหญ่ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ให้ได้มีโอกาสเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งที่เข้ามาร่วมกันเสริมสภาพคล่องและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ สนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักร (Supporting Industry Development) ประกอบด้วย Prototype หมายถึงการนำไปต่อยอดงานวิจัยพัฒนาต้นแบบของเครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงการทำ Reverse Engineering and Retrofit คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาเครื่องจักรเพื่อทดแทนการนำเข้า และการ testing หรือ การทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจักร ระบบการทำงานว่าสามารถใช้งานได้จริงตามมาตรฐาน วัตถุประสงค์ถัดมา คือ การ Modification หรือการปรับปรุง ซ่อมบำรุง ติดตั้ง ทดแทน รวมทั้งการขยายหรือปรับแต่งชิ้นส่วน โดยยังใช้โครงสร้างเครื่องจักรเดิม วัตถุประสงค์สุดท้าย คือ System Installation หรือ เพื่อการติดตั้งเครื่องจักร หรือระบบการควบคุมการทำงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม
ตลอดระยะเวลา 9 เดือนในปีที่ผ่านมา การดำเนินโครงการ Machine Fund ได้ให้การสนับสนุนเงินค่าดอกเบี้ยบางส่วนให้แก่ SMEs ที่ขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน โดยให้การสนับสนุนดอกเบี้ย 3% เป็นระยะเวลา 5 ปี กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักรให้ทันสมัยและมีคุณภาพ ทั้งนี้มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนถึง 232 ราย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการสูงสุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรแปรรูป รองลงมาได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและเครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ตามลำดับ
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการที่ผ่านการประเมินโครงการและได้รับการสนับสนุนด้วย Machine Fund จำนวน 131 ราย จากเป้าหมายของโครงการ จำนวน 50 ราย
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผ่านการประเมินโครงการสูงสุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรแปรรูป จำนวน 20 ราย รองลงมาได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก จำนวน 17 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและเครื่องจักรกลการเกษตร จำนวน 16 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จำนวน 14 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ จำนวน 10 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 10 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและโลหะการ จำนวน 10 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ จำนวน 9 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 6 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ จำนวน 5 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี จำนวน 4 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิกส์ จำนวน 3 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมยา จำนวน 3 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จำนวน 2 ราย กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า จำนวน 1 ราย และกลุ่มอุตสาหกรรมบริการโลจิสติกส์ จำนวน 1 ราย ซึ่งมีเครื่องจักรที่ได้รับฟื้นฟูสภาพจำนวนทั้งสิ้น 860 เครื่อง จากเป้าหมายการฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรจำนวน 50 เครื่อง
วงเงินสินเชื่อที่ได้รับการสนับสนุนดอกเบี้ยทั้งหมด 2,096,965,429.17 บาท จากวงเงินสินเชื่อเป้าหมายที่จะให้การสนับสนุนดอกเบี้ย จำนวน 1,700,000,000 บาท และมีผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารแล้ว จำนวน 21 ราย วงเงินสินเชื่อ 182,472,434 บาท โดยธนาคารที่ให้การอนุมัติสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการสูงสุด คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 7 ราย รองลงมาได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 5 ราย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 รายธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 ราย ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 ราย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 ราย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs Bank) จำนวน 1 ราย (ธนาคารที่ให้การอนุมัติวงเงินสูงสุด คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รองลงมาได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ
อาจกล่าวได้ว่า ภาพรวมของผลการดำเนินงานของโครงการประสบความสำเร็จอย่างมาก เราได้เห็นความชัดเจนของการร่วมมือกันอย่างบูรณาการของทุกภาคส่วน ส่งผลดีโดยตรงและรวดเร็วต่อผู้ประกอบการ SMEs อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการจะปิดตัวลงในเดือนธันวาคม 2550 สสว. และ ส.อ.ท. ร่วมกับธนาคารพาณิชย์จะยังคงติดตามประสิทธิผลของโครงการต่อไป เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับประโยชน์สูงสุดนั่นเองค่ะ
ที่มา : http://www.businessthai.co.th/