HR ธนาคารโลกกับสำนักงาน ก.พ.

HR ธนาคารโลกกับสำนักงาน ก.พ.
ทุนมนุษย์2020 : จุมพฏ สายหยุด กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
หนึ่งในที่ที่คนเรียนเก่งที่สุดในโลก โดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์อยากไปทำงาน คือ ธนาคารโลก (World Bank)” ซึ่งก็มีคนไทยหลายคนเคยผ่านงานที่นั่น และกลายมาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักบริหารเศรษฐกิจชั้นนำในเมืองไทย
วิกฤตการณ์อาหารที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ธนาคารโลกก็เป็นตัวตั้ง ตัวตีที่สำคัญในการแก้ไขปัญหา เคียงข้างกับองค์การสหประชาชาติ
หมายความว่า บุคลากรของธนาคารโลกต้องมีความรู้ที่หลากหลายมิติมาก เพราะคงจะไม่สามารถใช้มิติทางเศรษฐศาสตร์ หรือทางการเงินได้โดยลำพัง
คุณวิสูตร ประสิทธิ์ศิริวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือสำนักงาน ก.พ. เล่าให้ฟังว่า ธนาคารโลก (World Bank) เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างเครือข่ายความรู้ในด้านต่างๆ เพราะธนาคารโลกมี ทรัพย์สินเชิงความรู้ (Knowledge Asset) อยู่เป็นจำนวนมาก จากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการต่างๆ ทั่วโลก
แทนที่ความรู้เหล่านั้นจะถูกใช้เพียงแค่ในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งขององค์กร แต่ธนาคารโลกภายใต้การบริหารงานของ James Wolfensohn ในปี ค.ศ.1996 กลับมองว่าองค์ความรู้เหล่านี้นั้นมีคุณค่า และเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในการฝึกอบรม ในคู่มือการปฏิบัติงาน หรือในตำราวิชาการใดๆ
แนวคิดดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนบทบาทในการให้บริการของธนาคารโลก ด้วยการเป็นศูนย์กลางแห่งความรู้ในด้านโครงการพัฒนาต่างๆ และด้านเศรษฐกิจ โดยวางบทบาทที่สำคัญไว้ 3 ด้านคือ
1.การพัฒนาศักยภาพและการสร้างสรรค์ความรู้
2.การแบ่งปันความรู้
3.การประยุกต์ใช้ความรู้ โดยได้นำเอาแนวคิดของการสร้าง “ชุมชนนักปฏิบัติ” ที่ธนาคารโลกเรียกว่า “Thematic Group” มาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้
นับตั้งแต่ธนาคารโลกเริ่มนำระบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาใช้ มีการจัดตั้งชุมชนนักปฏิบัติไปแล้วทั่วโลกกว่า 1,500 โครงการ และมีองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้นนับพันเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ด้วยความสนใจอย่างเดียว เพราะเมื่อเห็นว่าการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สำนักงาน ก.พ. จึงได้ปรับบทบาทใหม่ด้วยการทำหน้าที่เป็น
“ศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล” ที่เน้นการสร้างความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการร่วมพัฒนาองค์ความรู้ และส่งเสริมให้มีช่องทางการเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านไซต์ www.thaihrhub.com
“สำนักงาน ก.พ. เป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในภาครัฐ และในภาคเอกชนเองก็มีความเชี่ยวชาญในการบริหารงานบุคคลในแต่ละด้านแต่ละธุรกิจที่แตกต่างกันไป สำนักงาน ก.พ.จึงได้ริเริ่มสร้างชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice) ผ่านทางเวบไซต์ www.thaihrhub.com โดยมีโครงสร้างและรูปแบบการใช้งานที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีรูปลักษณ์สวยสะอาดตา มีข้อมูล สื่อความรู้ สัมมนาวิชาการ มีบล็อกและฟอรั่ม ซึ่งเปิดเป็นเวทีให้คน HR เข้าไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศไทยให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป” คุณปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ ก.พ. กล่าวถึง บทบาทใหม่ของ ก.พ. ในปัจจุบัน
อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่คุณวิสูตรเล่าให้ฟังในฐานะตัวอย่างของการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ด้านการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคลที่ประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบให้กับหลายๆ ประเทศคือ “โครงการ HR Line of Business” ของสำนักงานบริหารงานบุคคลสหรัฐอเมริกา (The US Office of Personal Management) หรือ OPM ที่ได้กำหนดบทบาทไว้ในโครงสร้างองค์กรอย่างชัดเจนว่า OPM จะเป็นศูนย์เครือข่ายของหน่วยงานภาครัฐในการรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลจากแหล่งต่างๆ และรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในงานด้านการบริหารบุคคลจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน มาร่วมกันคิดร่วมกันออกแบบโครงสร้างการบริหารงานบุคคล ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้ได้กับทุกหน่วยงาน
โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างและพัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลของรัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและช่วยลดต้นทุนการบริหารงานบุคคล
ตัวอย่างจากความสำเร็จของสำนักงานบริหารงานบุคคลสหรัฐอเมริกา และธนาคารโลก แสดงให้เห็นถึงความสำคัญการสร้างเครือข่ายความรู้ เพราะในอนาคตเครือข่ายจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการองค์ความรู้ยุคใหม่
เขียนเรื่องนี้ นอกจากชื่นชมสำนักงาน ก.พ. แล้ว ยังต้องการบอกท่านผู้มีความรู้ทั้งหลายในประเทศไทยที่ล้วนเก่งๆ แต่เวลานี้ ต่างทุ่มเทความเก่งไปในทางช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ทั้งวงวิชาการ สื่อมวลชน พรรคการเมือง เอ็นจีโอ เป็นยุคที่ความแตกต่าง นำไปสู่การแตกแยก และไม่ยอมรับกัน เกี่ยงงอน และกล่าวหา ปรักปรำกันไม่มีที่สิ้นสุด ในทุกเรื่องทุกประเด็น
ในขณะที่ต่างชาติกลับเห็นว่า “ความแตกต่าง” นั้น สามารถเอามา “แชร์กัน” เกิดเป็น “องค์ความรู้ใหม่” และประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ สังคม และมวลมนุษยชาติได้

Tags:

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *