Green Logistics” เทรนด์หรือข้อจำกัดทางการค้า?

Green Logistics” เทรนด์หรือข้อจำกัดทางการค้า?
Source: Editorial Staff

กระแส Green Logistics มาแรง อเมริกา-ยุโรปเอาจริงบีบซัพพลายเออร์เร่งดำเนินการ ญี่ปุ่นเดินหน้านโยบายให้ภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน และขนส่งร่วมลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
Green Logistics กำลังเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเป็นการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในมิติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทุกกิจกรรมตลอดกระบวนการโลจิสติกส์ เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือฝุ่นจากวัตถุดิบการผลิต การปล่อยของเสียจากกระบวนการผลิต การตีรถเที่ยวเปล่าทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน การบริหารสินค้าคงคลังที่ดีทำให้มีสินค้าหมดอายุก่อนการใช้งานน้อยลง กระบวนการจัดการสินค้าย้อนกลับจากลูกค้า (Reverse Logistics) เป็นต้น
ทั้งนี้ การบริหาร Green Logistics มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารโลจิสติกส์ เนื่องจากต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และแนวคิดด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์เข้ามาใช้ตลอดกระบวนการ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันในอเมริกา และยุโรป ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ได้มีข้อตกลงทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้อจำกัดทางการค้ามากขึ้น โดย Wal- Mart ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกได้ออกมาตรการเกี่ยวกับการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กับซัพพลายเออร์ ซึ่ง Wal- Mart ระบุว่า มีส่วนในการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 8% ที่เหลือกว่า 92% มาจากซัพพลายเออร์ จึงได้เริ่มออกกฎเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้
ด้านยุโรปมีนโยบายทางการขนส่ง และตั้งเป้าหมายลดมลภาวะจากการขนส่งให้ได้ 20% ภายในปี 2020
ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้มีการดำเนินการเรื่อง Green Logistics อย่างจริงจัง โดยมีนโยบายให้ภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน และภาคขนส่งมีส่วนร่วมในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเก็บสถิติเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนประเทศไทยมีความตื่นตัวพอสมควร และมีการดำเนินงานหลายส่วนที่สอดคล้องกับแนวคิด Green Logistics เช่น การสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางรถมาเป็นทางราง และทางน้ำมากขึ้น (Modal Shift) การเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน (Energy Shift) การบริหารรถเที่ยวเปล่า เป็นต้น อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับ
“กระแสเรื่อง Green Logistics เป็นกระแสทางการค้าที่ผู้ส่งออกหนีไม่พ้น คู่ค้าจากต่างประเทศเริ่มนำมาเป็นข้อบังคับเพราะเขาก็ถูกบีบมาจากลูกค้าและกฎระเบียบของอเมริกา ยุโรป ดังนั้นเดิมที่เราเคยเน้นที่การบริหารจัดการโลจิสติกส์ และมองแค่การปล่อยของเสียอย่างเดียว ตอนนี้ไม่พอแล้วต้องมองทั้งกระบวนการ Green Logistics ถ้าทำได้ก็จะทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนได้” คุณเตชะ บุณยะชัย รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าว
Green Logistics Contest
ตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยหรือสภาผู้ส่งออก (สรท.) ได้ร่วมมือกับภาครัฐอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเป็นเจ้าภาพยุทธศาสตร์ การพัฒนากําลังคนและกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ (Capacity Building) ตามแผนยุทธศาสตร?การพัฒนาระบบโลจิสติกส?ของประเทศไทย
ทั้งนี้ สรท. เล็งเห็นถึงกระแสทางการค้าเรื่อง Green Logistics ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกไทย จึงเริ่มกระตุ้นให้ผู้ส่งออกหันมาตระหนักเรื่องการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ล่าสุด ในงาน International Thailand Logistics Fair 2008 สรท. ได้จัดให้มี Green Logistics Contest เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักเรื่อง Green Logistics ด้วย โดยให้นักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท นำเสนอโครงการ-แนวทางในการพัฒนา Green Logistics ในองค์กร เพื่อนำแนวคิดดังกล่าวไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่อไป
โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม MFU STAR จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทีม MIEMU จากมหาวิทยาลัยมหิดล และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทีม Logistics on Green (LOG) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Case Study Green Logistics ในประเทศญี่ปุ่น
เพื่อปฏิบัติตามการลงนามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเป็นข้อผูกพันทางกฎหมายที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการรับมือกับสภาวะโลกร้อน ประเทศญี่ปุ่นจึงได้เริ่มดำเนินการ Green Logistics อย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยมีนโยบายให้ภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน และภาคขนส่ง มีส่วนร่วมในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะการดำเนินการในภาคขนส่ง ได้มีภาครัฐ องค์กรด้านโลจิสติกส์ และบริษัทภาคเอกชนกว่า 2,800 ร่วมประชุมหุ้นส่วนโลจิสติกส์สีเขียว และมีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง การขนส่งสินค้าร่วมกันเพื่อลดจำนวนรถเที่ยวเปล่า การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อลดการใช้พลังงาน Mr. Masaaki Toma Director of Public Relations, Japan External Trade Organization (JETRO Bangkok) กล่าว
ทั้งนี้ Green Logistics ของประเทศญี่ปุ่นหมายถึง โลจิสติกส์ที่มองแบบเป็นองค์รวม เน้นการลดต้นทุนจากกิจกรรมโลจิสติกส์และการตอบสนองสภาพแวดล้อม โดยให้ความสำคัญทั้งในเรื่องนิเวศวิทยา (Ecology) และเรื่องเศรษฐศาสตร์ เช่น การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการลดต้นทุนโดยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง
สำหรับการดำเนินการด้าน Green Logistics ของประเทศญี่ปุ่น มี 4 ด้านหลักๆ คือ
1. Corporative Transport คือ การรวบรวมสินค้าจากผู้ประกอบการหลายรายไว้ที่จุดพักสินค้า แล้วจัดเส้นทางเพื่อขนส่งสินค้าร่วมกัน จากการทดลองของผู้ประกอบการ 8 ราย โดยขนส่งสินค้าระยะทาง 600 กิโลเมตร พบว่า สามารถลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงได้มาก และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 40%
2. Eco-Dive มีการอบรม เพิ่มจิตสำนึกการขับขี่ให้กับพนักงานขับรถ เพื่อลดการขับรถเร็วเกินมาตรฐาน ลดการเดินเครื่องยนต์เปล่าในขณะที่พักผ่อนหรือขนถ่ายสินค้า จากการดำเนินการดังกล่าวพบว่า บริษัทรถบรรทุกรายใหญ่สามารถลดต้นทุนค่าพลังงานเชื้อเพลิงได้ปีละ 200 ล้านบาท
3. Modal Shift เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาใช้ทางรางมากขึ้น ซึ่งในญี่ปุ่นมีการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางรถไฟค่อนข้างมาก การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟ 1 เที่ยวเท่ากับการขนส่งด้วยรถบรรทุก 28 คัน ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟ 1 ตันต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.02 กิโลกรัม ขณะที่ทางเรือ 0.04 กิโลกรัม รถบรรทุก 0.35 กิโลกรัม และเครื่องบิน 1.51 กิโลกรัม
4. Eco-Wrapping เน้นการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษรีไซเคิล และปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากกระดาษมาเป็นพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
Green Logistics เป็นเทรนด์การค้าโลกที่ทวีความสำคัญ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาอย่างจริงจัง และปรับตัวให้ทันกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น เพราะหากตกกระแสย่อมส่งผลโดยตรงต่อความสามารถทางการแข่งขัน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *