Gerontology ศาสตร์ที่น่าสนใจในการดูแลผู้สูงอายุ

Gerontology ศาสตร์ที่น่าสนใจในการดูแลผู้สูงอายุ

จากความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ และเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นกว่าเดิม สังเกตได้จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะ คุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อม ตลอดจนการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น จึงเป็นที่คาดหมายกันว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อโครงสร้างประชาชน จนอาจกล่าวได้ว่าโลกในอนาคต จะเป็นสังคมของผู้สูงอายุ หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงความสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและให้ความสำคัญกับวิทยาการด้านผู้สูงอายุเพื่อเตรียมการสำหรับแนวโน้มของประชากรโลกในอนาคต วิชาสูงอายุวิทยาศึกษาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในสภาพสังคมปัจจุบัน
วิชาสูงอายุศึกษาวิทยา (Education Gerontology) เป็นวิชาที่ว่าด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ และสังคมของผู้สูงอายุ ความต้องการของบุคคลในวัยสูงอายุ การฝึกอบรมผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การจัดการให้บริการแก่ผู้สูงอายุ การจัดการศึกษา ให้แก่ผู้เรียนวัยสูงอายุ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ วิธีการศึกษาวิจัยที่ทำในแนวของสูงอายุวิทยาศึกษา
สำหรับขอบเขตเนื้อหาวิชาสูงอายุศึกษาวิทยานั้นครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เป็นวิทยาการที่มองกระบวนการสูงอายุในเชิงบวก ซึ่งแตกต่าง จากวิทยาการอื่นที่มองกระบวนการสูงอายุในเชิงลบ จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้ผู้ศึกษาในวิชาสูงอายุศึกษาวิทยา มีทัศนคติเชิงบวกต่อผู้สูงอายุ มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ อันเนื่องมาจากได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงในวัยผู้สูงอายุ การจัดบริการและการศึกษาให้แก่ผู้สูงอายุ และบทบาทของผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เข้าใจในทฤษฎีที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งวิธีดำเนินการศึกษาและการนำผลไปใช้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาการของมนุษย์ในช่วงวัยกลางคนและสูงอายุ สามารถมองเห็นแนวทางในการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลในวัยนี้ได้อย่างเหมาะสมและมีคุณค่า
และจากข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษาวิชาสูงอายุศึกษาวิทยาทำให้ทราบ ถึงความต้องการทางด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการทางด้านการศึกษา ซึ่งทำให้ทราบว่าผู้สูงอายุนั้นเป็นวัยที่สามารถเรียนรู้ได้และยังมีความต้องการศึกษาอยู่ โดยต้องการการศึกษาหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นแบบชั้นเรียน แบบเรียนด้วยตนเองและ แบบชั้นเรียนระยะสั้น และต้องการรายวิชาที่มีรูปแบบหลากหลาย เพราะหลักสำคัญของการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ คือ ผู้จัดต้องมีความเข้าใจในปรัชญาของการศึกษาตลอดชีพ มีความเชื่อว่า คนทุกกลุ่มอายุสามารถพัฒนาตนเองได้ และการพัฒนาผู้สูงอายุนั้น ควรเป็นการให้การศึกษาตลอดชีพ ซึ่งจะต้องทำร่วมกันโดยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ต้องจัดหางบประมาณ และสถานที่ที่เหมาะสม จัดหาผู้สอนที่มีความเหมาะสมกับผู้สูงอายุ
ในการจัดการศึกษาให้แก่ผู้สูงอายุนั้น มีกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอยู่หลายกลุ่ม ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของแต่ละกลุ่มดังนี้
– นักวิชาการด้านผู้สูงอายุ (Gerontologist) ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้สอน ในระดับสูง เช่น ในมหาวิทยาลัยที่ทำการสอนและวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เป็นบุคคลที่มีความรู้ด้านนี้ สามารถวางโครงการ กิจกรรมการเรียนการสอนให้แก่ผู้สูงอายุได้ หรือทำการฝึกอบรมให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจสาขาวิชานี้ได้
– นักวิชาชีพผู้สูงอายุ (Professional & Paraprofessionals) ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานกับผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นผู้ได้รับการฝึกอบรมระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่านั้น หรืออาจเป็นผู้เรียนวิชาว่าด้วยผู้สูงอายุเป็นวิชาโท หรือวิชาเลือก หรือ รับการฝึกอบรมด้านผู้สูงอายุที่ได้รับใบรับรองแล้ว
การจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ เป็นการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มผู้สูงอายุก่อนและหลังเกษียณอายุ โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้อย่างดี และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกประการหนึ่ง การศึกษาสำหรับผู้สูงอายุก็เพื่อสนองตอบต่อปรัชญาการศึกษาตลอดชีพ ที่มุ่งประสงค์ให้บุคคลได้มีโอกาสได้เรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังถือว่ากลุ่มผู้สูงอายุ เป็นผู้ใหญ่อีกในช่วงอายุหนึ่งต่อทอดจากวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และวัยกลางคน ที่ควรได้รับโอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาตน เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ในกลุ่มอายุอื่น ดังนั้นการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ จึงถือเป็นงานในภาระหน้าที่ของการศึกษาผู้ใหญ่โดยตรง ซึ่งก็พบว่า การจัดการศึกษาสำหรับผู้เกษียณอายุมักจัดโดยหน่วยงาน องค์กรหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผู้ใหญ่มากกว่าองค์กรประเภทอื่นๆ
การจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและในปัจจุบันมีการจัดอย่างเป็นระบบ ซึ่งในรูปแบบ เยื้อหา และวิธีการจัดอย่างมีหลักการ รวมไปถึงมีการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลสนับสนุน การจัดการสอนประเภทนี้ด้วย จึงกล่าวได้ว่าในปัจจุบัน การจัดการศึกษาสำหรับผู้เกษียณอายุได้พัฒนาขึ้นมาเป็นวิชาการสาขาหนึ่งอย่างสมบูรณ์ สามารถนำมาเป็นรูปแบบการจัดการให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุของไทยได้
ในปัจจุบันความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทย ถือว่าเป็นผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งในสายงานของการศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย จึงทำให้การจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุมีน้อยไปด้วย ในการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุของไทย แม้จะมีอยู่เช่น การจัดการเตรียมตัวก่อนการเกษียณอายุให้แก่ข้าราชการและบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอ จึงเป็นเรื่องที่ควรมีการพัฒนาขึ้นให้เป็นระบบดังเช่นที่ทำอยู่ในประเทศอื่น ๆ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *