GEORGE SOROS & QUANTUM FUND ตอน 7
|GEORGE SOROS & QUANTUM FUND ตอน 7 วิกฤตของโซรอส
ขณะที่กองทุนโซรอสดำเนินไปอย่างดีเลิศ จอร์จ โซรอส ดูเหมือนจะกำลังประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ในปี 1977 ชีวิตสมรสของเขาเริ่มแตกสลาย หนึ่งปีต่อมาเขาก็แยกทางกับภรรยา ในช่วงแรก ๆ เขาคบกับหญิงสาววัย 22 นามว่า ซูซาน เวเบอร์ ซึ่งเขาเคยพบปะในงานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นซูซานและเขาก็ได้สมรสกันในอีกห้าปีต่อมา
ปี 1980 ถือเป็นปีแห่งความสำเร็จมากที่สุด แต่ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน โรเจอร์สได้ลาออกจากบริษัทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในส่วนของเขา 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 14 ล้านดอลลาร์ ส่วนของโซรอส 80 เปอร์เซ็นต์ นั้นมีมูลค่าประมาณ 56 ล้านดอลลาร์
โซรอสมีความสงสัยว่าคุ้มหรือไม่ที่จะทำธุรกิจต่อไป เขาสามารถทำเงินได้มากเกินกว่าที่เขาจะใช้ได้หมด ภารกิจประจำวันเริ่มทำให้เขาเบื่อหน่าย เขาเริ่มรู้สึกถึงความกดดันจากการที่ต้องเดิมพันด้วยเงินของผู้อื่น จากการที่ต้องดูแลพนักงานมากกว่าที่เขาจะทำได้ และเพื่ออะไรกัน? รางวัลอยู่ที่ไหน? ความรื่นรมย์อยู่ที่ไหน? วิกฤตการณ์เกี่ยวกับตัวตนของโซรอสมีผลกระทบต่อธุรกิจของเขา โดยเขาจะเปลี่ยนใจทันทีที่เห็นว่าการลงทุนเริ่มส่อเค้าไม่ดีเร็วขึ้น ๆ เรื่อย ๆ และถือหุ้นแบบ long position มากเกินไป
ปัญหาของโซรอสกับพันธบัตรอเมริกันเริ่มขึ้นช่วงปลายปี 1979 โซรอสคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะขึ้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และจะบีบให้ธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ ต้องลดอัตราดอกเบี้ย อันจะส่งผลดีต่อพันธบัตรที่เขาถือครองไว้ ทว่าเศรษฐกิจกลับแข็งแกร่งกว่าที่เขาคิดไว้ และอัตราดอกเบี้ยกลับสูงขึ้นไปอีก
โซรอสต้องขาดทุนจากพันธบัตรที่ถือไว้ทุกตัวประมาณตัวละ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ประมาณกันว่าลูกค้าในกองทุนของเขาต้องขาดทุนประมาณ 80 ล้านดอลลาร์ จากการที่กู้ยืมเงินมาลงทุนในพันธบัตรจำนวนมาก ทำให้ลูกค้าหลายรายเริ่มไม่พอใจและลูกค้าจากยุโรปรายสำคัญ ๆ ได้ถอนตัวออกจากกองทุนของเขา
ในปี 1980 เป็นปีที่แย่ที่สุดสำหรับกองทุนของเขา หุ้นควันตั้มร่วงลง 22.9 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นครั้งแรกและเป็นปีเดียวที่กองทุนไม่มีกำไรสูงกว่าปีก่อน นักลงทุนในกองทุนของเขาจึงพากันถอนตัวออกไปประมาณหนึ่งในสาม การจากไปของพวกเขาเท่ากับหั่นมูลค่าของกองทุนลงไปเกือบครึ่งหนึ่งจนเหลือประมาณ 193.3 ล้านดอลลาร์
การฟื้นคืนชีพของกองทุนควันตั้ม
แม้ว่าโซรอสจะยังคงมีความกระตือรือร้น แต่มันก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาดูแลกองทุนแบบเต็มเวลา และก่อนที่เขาจะลดบทบาทตัวเอง เขารู้ดีว่าต้องฝากกองทุนดังกล่าวไว้ในมือที่เชื่อถือได้ เขาใช้เวลาในปี 1982 ในการแสวงหาบุคคลที่เหมาะสม และในที่สุดเขาก็ค้นพบคนดังกล่าว เขาคนนั้นคือ จิม มาร์เกวซ ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 33 ปี และเป็นผู้ดูแลกองทุนรวมที่มีฐานอยู่ในมินเนอาโปลิสที่มีชื่อว่า ไอดีเอส โปรเกรสซีฟ ฟันด์ ซึ่งในปีเดียวกันนั้นกองทุนที่เขาดูแลมีมูลค่าสูงถึง 150 ล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้น 69 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ครองตำแหน่งแชมป์กองทุนรวมในปี 1982
มาร์เกวซเริ่มงานในวันที่ 1 มกราคม ปี 1983 โดยโซรอสได้มอบหมายเงินกองทุนครึ่งหนึ่งให้เขาดูแล ส่วนอีกครี่งหนึ่งมอบหมายให้ผู้จัดการกองทุนนอกบริษัทอีก 10 คนเป็นผู้ดูแล ดูเหมือนว่าโซรอสและมาร์เกวซจะปรับตัวเข้าหากันได้ดีทีเดียว โดยโซรอสจะทำหน้าที่วิเคราะห์เศรษฐกิจในระดับมหภาค ติดตามภาพความเคลื่อนไหวในวงกว้าง การเมืองระหว่างประเทศ นโยบายการเงินของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยและสกุลเงิน ส่วนมาร์เกวซจะมองหาอุตสาหกรรมและบริษัทที่น่าจะมีความได้เปรียบหรือได้รับประโยชน์มากที่สุด จากการรวมตัวของบริษัทครั้งใหม่
ในปี 1983 กองทุนมีมูลค่าประมาณ 385,532,688 ดอลลาร์ หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นสุทธิ 75,410,714 ดอลลาร์ หรือสูงกว่าปีก่อน 24.9 เปอร์เซ็นต์ แต่ปีถัดมาแม้ว่ากองทุนมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ก็เพียง 9.4 เปอร์เซ็นต์ หรือ 448,998,187 ดอลลาร์เท่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวทำให้โซรอสได้รับแรงกดดันจากคณะกรรมการกองทุนให้กลับมาบริหารกองทุนควันตั้มเต็มเวลา ซึ่งเขาก็ยินยอม
โซรอสเผยว่ามาร์เกวซตัดสินใจลาออก ด้วยเชื่อว่าตัวเองถูกกันออกนอกวงและจะมีอำนาจน้อยลง ในระหว่างนั้นโซรอสจึงได้ขอให้ผู้จัดการกองทุนที่เป็นคนนอกบริษัท 10 รายเสนอรายชื่อบุคคลที่น่าสนใจ เพื่อมองหาเลือดใหม่เข้ามาบริหาร และแล้วชื่อของ อัลแลน ราฟาเอล ก็สะดุดใจเขา ประสบการณ์งานด้านการวิจัยเศรษฐกิจโลกของราฟาเอล ทำให้เขามีความเหมาะสมกับงานดังกล่าวอย่างมาก หลังจากนั้นไม่นาน ราฟาเอลก็สามารถฝ่าฟันคู่แข่งอีก 75 คน จนได้ร่วมงานกับโซรอส ในต้นเดือนกันยายน ปี 1984