GEORGE SOROS & QUANTUM FUND ตอน 11

GEORGE SOROS & QUANTUM FUND ตอน 11 การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่

ตลาดกระทิงดุหรือบูลมาร์เก็ตในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ทำให้นักลงทุนพากันร่ำรวยมหาศาล แต่แน่นอนไม่มีใครเกินจอร์จ โซรอส ในปี 1986 ควันตั้มฟันด์มีผลประกอบการเพิ่มขึ้น 42.1 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์ เฉพาะส่วนของโซรอสเอง 200 ล้านดอลลาร์ รวมแล้วในช่วงปี 1985 ถึง 1986 โซรอสและกลุ่มนักลงทุนของเขามีรายได้ถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์
ตลาดหุ้นดาวน์โจนส์ก็ไต่ขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน จาก 776.92 จุด เมื่อเดือนสิงหาคม 1982 ขึ้นไปถึง 2722.42 จุดในเดือนเดียวกันปี 1987 และจากทฤษฎีก้าวกระโดดของโซรอส ตลาดนี้จะยังคงเพิ่มมูลค่าขึ้นเรื่อย ๆ โดยบรรยากาศการลงทุนที่ดีและความหวังของนักลงทุนเป็นส่วนผลักดันอีกแรง แต่ถึงกระนั้นในใจลึก ๆ โซรอสรู้ดีว่า ไม่ช้าไม่นาน ถ้าหากทฤษฎีก้าวกระโดดของเขาถูกต้องช่วงขาลงของภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น/ขาลงก็จะคืบคลานเข้ามาอยู่ที่เวลาเท่านั้นว่าจะเป็นเมื่อไร
หลังจากการปรับระบบการบัญชีในญี่ปุ่นแล้ว ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีมูลค่ากำไรต่อหุ้น ณ เดือนตุลาคม 1987 ถึง 48.5 จุด เทียบกับ 17.3 จุดที่อังกฤษ และ 19.7 จุดในสหรัฐ แต่โซรอสกลับคิดว่า น่าจะเป็นลางร้ายสำหรับตลาดญี่ปุ่นมากกว่า เพราะเขารู้ดีว่าราคาที่ดินในญี่ปุ่นกำลังพุ่งขึ้นอย่างมาก ทำให้เงินไหลเข้าไปตรงนั้นเกินควร ซึ่งเขาเชื่อว่าจะทำให้เกิดปัญหาต่อไป นอกจากนี้บรรดากิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะธนาคารและบริษัทประกันในญี่ปุ่น ต่างก็ลงทุนในตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก บางแห่งถึงกับใช้เงินกู้ในการเล่นหุ้นโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจัยนี้เองที่ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นมาก แต่หากมีอะไรผิดพลาดเพียงเล็กน้อยความหายนะก็จะตามมาอย่างง่ายดาย
อย่างไรก็ตาม โซรอสเชื่อว่า หากตลาดญี่ปุ่นพังจริง ๆ ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบกับตลาดสหรัฐมากนัก เพราะราคาหุ้นในสหรัฐยังไม่ได้สูงจนเกินจริงเหมือนในญี่ปุ่น แม้ว่าวอลล์สตรีทกำลังดำเนินรอยตามตลาดญี่ปุ่น โซรอสก็ยังไม่กังวลมากนัก
19 ตุลาคม 1987 ตลาดหุ้นนิวยอร์กตกถึง 508.32 จุด มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และนับเป็นการสิ้นสุดของเวลาห้าปีแห่งตลาดกระทิงดุ โซรอสนั้นคาดว่าตลาดญี่ปุ่นจะตกตามไปด้วย แต่กลับไม่เป็นดังคาด เพราะปรากฏว่าตลาดญี่ปุ่นกลับทรงตัวอยู่ได้ โซรอสขาดทุนไปถึง 200 ล้านดอลลาร์ภายในวันเดียว
ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อถึงสิ้นปี 1987 ปรากฏว่า ควันตั้มฟันด์ยังมีผลประกอบการสูงขึ้นถึง 14.1 เปอร์เซ็นต์ เป็นมูลค่าเท่ากับ 1.8 พันล้านดอลลาร์ ที่จริงแล้ววิกฤตการณ์นี้สร้างความเสียหายให้แก่โซรอสเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
ในปีนั้นโซรอสติดอันดับสองของบุคคลที่มีรายได้สูงสุดในวอลล์สตรีต ซึ่งจัดอันดับโดยนิตยสาร ไฟแนนเชียล เวิล์ด รองจาก พอล ทิวเดอร์ โจนส์ที่สอง ซึ่งมีรายได้ประมาณ 80-100 ล้านดอลลาร์ ส่วนโซรอสนั้นมีรายได้ในปี 1987 เท่ากับ 75 ล้านดอลลาร์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *