EXIM BANK รุกเรื่องโลจิสติกส์ เปิดบริการทางการเงินสำหรับธุรกิจบริการการส่งออก

EXIM BANK รุกเรื่องโลจิสติกส์ เปิดบริการทางการเงินสำหรับธุรกิจบริการการส่งออก
Source: กองบรรณาธิการ

EXIM BANK เปิดบริการใหม่ “บริการทางการเงินสำหรับธุรกิจบริการการส่งออก” สนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และสินเชื่อเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสินค้าส่งออกหวังลดต้นทุนทางอ้อมให้ผู้ผลิต-ผู้ส่งออก
ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการบริหารต้นทุนโลจิสติกส์ให้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออก การสนับสนุนด้านการเงินให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยผงาดแข่งขันกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ข้ามชาติได้ จึงเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ผลิต ผู้ส่งออกทางอ้อมให้สามารถใช้บริการด้านโลจิสติกส์ในราคาที่ต่ำ ขณะเดียวกันเป็นการส่งเสริมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยด้วย

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK จึงหันมาให้ความสำคัญในการสนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และสินเชื่อเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสินค้าส่งออก ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของห่วงโซ่อุปทานในการผลิต-ส่งออกสินค้า ภายใต้บริการใหม่ “บริการทางการเงินสำหรับธุรกิจบริการการส่งออก (Service Providers for Exports)”

“ที่ผ่านมานโยบายเราเน้นส่งเสริมผู้ส่งออกโดยตรง แต่ตอนนี้เลยมามองการส่งเสริมผู้ให้บริการผู้ส่งออกเพิ่มเข้ามาด้วย คือเรื่องโลจิสติกส์และการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเพราะถือเป็นการสนับสนุนผู้ส่งออกทางอ้อมด้วย ซึ่งถ้าเราให้สินเชื่อผู้ให้บริการโลจิสติกส์ให้เขามีเงินทุนหมุนเวียนขยายกิจการได้ ก็เป็นการช่วยเหลือผู้ส่งออกอีกทางหนึ่ง” คุณกสิณา ศรีสอ้าน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจขนาดย่อม และรักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาบริการและลูกค้าสัมพันธ์ กล่าวถึงความเป็นมาของบริการใหม่

สินเชื่อสำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์

จากการศึกษาข้อมูลผู้ประกอบการส่งออกของธนาคารฯ พบว่ายังมีปัญหาด้านต้นทุนโลจิสติกส์สูงเป็นอุปสรรคการแข่งขัน ขณะที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยซึ่งถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดต้นทุนดังกล่าวกลับประสบปัญหาด้านเงินทุนเพื่อมาพัฒนาบริการ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการข้ามชาติรายใหญ่ซึ่งมีความพร้อมทุกด้านได้ ดังนั้นหากผู้ผลิต ผู้ส่งออกต้องใช้บริการจากผู้ให้บริการข้ามชาติย่อมเป็นการเพิ่มต้นทุนอีกทางหนึ่ง

EXIM BANK จึงเปิดบริการสินเชื่อด้านโลจิสติกส์ ครอบคลุมธุรกิจโลจิสติกส์ทุกรูปแบบ ทั้งการขนส่ง กระจายสินค้า คลังสินค้า เป็นต้น โดยเปิดกว้างให้กับบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทั่วไป ซึ่งการให้บริการด้านการเงินสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์โดยเฉพาะนี้ ถือเป็นเรื่องใหม่เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินอื่นให้การสนับสนุนในรูปแบบสินเชื่อสำหรับธุรกิจทั่วไปและอนุมัติค่อนข้างยาก ซึ่งหลังจากที่ EXIM BANK เปิดให้บริการดังกล่าว พบว่าสถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มตื่นตัว และมีแนวโน้มว่าจะเปิดบริการในลักษณะดังกล่าวด้วย
ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ร่วมลงนามกับสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) และสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ในการให้บริการดังกล่าว เพื่อพัฒนาศักยภาพของธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ ทางเรือ และทางบกของไทย ให้แข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้อีกด้วย

คุณกสิณา กล่าวว่า “จากการศึกษาจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์พบว่า เขาประสบปัญหาว่าบริษัทต่างชาติเข้ามามากขึ้น บริษัทคนไทยแข่งขันยากและอาจล้มเลิกไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นผู้ส่งออกรายเล็ก รายกลางก็ต้องใช้บริการผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติที่ราคาสูง ต้นทุนสินค้าเราก็จะสูงขึ้นด้วย”

ทั้งนี้หลังจากเริ่มเปิดให้บริการใหม่นี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การตอบรับจากผู้ให้บริการ

โลจิสติกส์ค่อนข้างดี มีผู้สนใจเข้ามาขอสินเชื่อกว่า 10 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการรับจัดการสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็ก-ขนาดกลาง และส่วนใหญ่ขอสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาให้สินเชื่อของ EXIM BANK คุณกสิณา กล่าวว่าไม่แตกต่างจากการขอสินเชื่อทั่วไปหรือการอนุมัติอาจง่ายกว่าสถาบันการเงินอื่นเนื่องจากเป็นนโยบายสนับสนุนของ EXIM BANK โดยพิจารณาจากศักยภาพของผู้ประกอบการเป็นหลัก เช่น กำหนดว่าต้องทำธุรกิจอย่างน้อยประมาณ 3 ปี

สินเชื่อเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสินค้าส่งออก

การตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสินค้าเป็นสิ่งจำเป็น และถือเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของการผลิต-การส่งออกสินค้า เพราะแม้ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศมีการลดภาษีระหว่างกัน แต่มักมีข้อกีดกันที่ไม่ใช่เรื่องภาษีซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องคุณภาพของสินค้า โดยปัจจุบันการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสินค้าของบริษัทผู้ผลิต-ผู้ส่งออกไทยส่วนใหญ่ นิยมใช้บริการเอาท์ซอร์สจากผู้ให้บริการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสินค้าเนื่องจากไม่มีห้องปฏิบัติการฯ ของตนเอง ซึ่งพบว่ามีต้นทุนค่อนข้างสูงและใช้เวลานานกว่าจะทราบผลเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่มีห้องปฏิบัติการฯ เอง
ดังนั้น EXIM BANK จึงเห็นความสำคัญในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้ผู้ผลิต-ผู้ส่งออกนำไปจัดตั้งเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพสินค้าในระดับมาตรฐานเบื้องต้นเพื่อเป็นการลดต้นทุนอีกทางหนึ่ง

“การตรวจสอบคุณภาพสินค้าเบื้องต้น ผู้ผลิต ผู้ส่งออก สามารถตรวจสอบเองจากห้องแลปในโรงงานได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งแลปขนาดใหญ่จากข้างนอกตลอดเวลา ถือเป็นการประหยัดต้นทุน ประหยัดเวลา ซึ่งเป็นการส่งเสริมทางอ้อมให้กับผู้ส่งออกอีกเช่นกัน” คุณกสิณา กล่าว

การให้บริการสินเชื่อมีทั้งรูปแบบเงินกู้ระยะกลางและระยะยาว โดยเปิดกว้างสำหรับอุตสาหกรรมทุกประเภทแม้ขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิต-ผู้ส่งออกมาขอสินเชื่อ แต่คาดว่ายังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด ซึ่ง EXIM BANK เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ค่อนข้างมาก

กำลังศึกษาข้อมูลสินเชื่อด้านบัญชีและโปรแกรมไอที

สำหรับแผนงานในระยะต่อไป คุณกสิณาเปิดเผยว่า อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลความจำเป็น ความต้องการใช้บริการ และความเป็นไปได้ โดยมีแนวคิดที่จะให้บริการสินเชื่อ 2 รูปแบบคือสินเชื่อเกี่ยวกับบริษัทที่ให้บริการด้านบัญชี และสินเชื่อเพื่อพัฒนาโปรแกรมด้านไอที

ด้านสินเชื่อเกี่ยวกับบริษัทที่ให้บริการด้านบัญชี เนื่องจากมองว่าปัจจุบันข้อมูลด้านบัญชียังไม่สะท้อนสถานะกิจการที่แท้จริง ซึ่งส่งผลต่อการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ด้วย โดยอาจให้สินเชื่อกับบริษัทที่ให้บริการด้านบัญชี เพื่อให้ต้นทุนการจัดการด้านบัญชีลดลงและผู้ผลิต-ผู้ส่งออกสามารถใช้บริการได้ในราคาที่ต่ำ

นอกจากนี้มีแนวคิดเรื่องการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาโปรแกรมด้านไอที โดยอาจส่งเสริมให้มีการพัฒนาโปรแกรมกึ่งสำเร็จรูปใช้งานร่วมกันในอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกัน เพื่อลดต้นทุนในการติดตั้งโปรแกรมไอทีให้กับผู้ผลิต-ผู้ส่งออก

“ความคาดหวังของเราทั้งกับบริการใหม่ที่ออกมาแล้ว และแนวคิดที่อยู่ระหว่างการศึกษาคือน่าจะเป็นการกระตุ้นให้สถาบันการเงินหรือหน่วยงานภาครัฐเห็นความสำคัญว่าเป็นเรื่องที่ต้องเข้ามาช่วยกันเพื่อช่วยยกระดับด้านระบบโลจิสติกส์ของไทยใกล้ฝั่งฝันได้เร็วขึ้น” คุณกสิณากล่าว

(ล้อมกรอบ)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ EXIM BANK สำนักงานใหญ่และสาขาทุกแห่ง

โทรศัพท์ 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111

ศูนย์บริการผู้ส่งออก SMEs ต่อ 2870-8

ฝ่ายพัฒนาธุรกิจขนาดย่อม ต่อ 2810-8, 2820-7, 2831-8 หรือดูข้อมูลได้ที่ http://www.exim.go.th/

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *