Executive Coaching แฟชั่นหรือเรื่องจำเป็นของผู้บริหาร?
|Executive Coaching แฟชั่นหรือเรื่องจำเป็นของผู้บริหาร?
Post Today – เชื่อไหมคะว่าในวงการบริหารนั้น เราก็มีแฟชั่นเหมือนกับวงการเสื้อผ้า เครื่องหนัง หรือเครื่องประดับเช่นกัน อย่างในวงการนักออกแบบเครื่องแต่งกายนั้น แต่ละยุคสมัย แต่ละฤดูกาล เขาก็จะมีการกำหนดแนวทางของเครื่องแต่งกายว่าจะออกมาแนวไหน เช่น แนวสปอร์ต แนวสีธรรมชาติ แนวสีหวาน แนวทหาร เป็นต้น ในวงการบริหารนั้นก็จะมีแฟชั่นในแง่ของแนวความคิดที่ใช้ในการบริหารจัดการให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมธุรกิจและวัฒนธรรมในแต่ละช่วงเวลาเช่นกัน อย่างเช่นในยุคปี 1970–1980 จะเป็นยุคที่บริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้การบริหารแบบ MBO และการทำงานเป็นทีม (Team Building) ดังนั้น นักบริหารทั่วโลกก็จะให้ความสนใจแนวความคิดเรื่อง MBO (Management by Objectives) ที่ริเริ่มโดย Professor Peter Drucker กูรูด้านการจัดการที่เพิ่งล่วงลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน รวมทั้งแนวความคิดเรื่องการทำงานเป็นทีมก็จะถูกนำมาใช้กันแพร่หลาย ทำให้บริษัทที่ปรึกษามีงานด้านการสร้างทีม การทำกิจกรรมกลุ่มกันคึกคักมาจนทุกวันนี้ เพราะเรื่องการทำงานเป็นทีมนี้ ถือเป็นแฟชั่นด้านการจัดการที่ไม่มีวันตกสมัย
ส่วนในปี 1980–1990 นั้น บริษัทธุรกิจของสหรัฐเริ่มประสบปัญหาในการทำงาน กล่าวคือ เศรษฐกิจในสหรัฐเองก็ตกต่ำ ทำให้บริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทประสบปัญหาการขาดทุน แต่ในทางตรงกันข้าม บริษัทธุรกิจญี่ปุ่นกลับมีความเจริญรุ่งเรืองประสบผลกำไรมหาศาล จนสามารถไปซื้อกิจการของบริษัทอเมริกันได้ ด้วยเหตุนี้ทั่วโลกจึงหันมาให้ความสนใจกับประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่นว่ามีแนวทางบริหารอย่างไร ก็พบว่าญี่ปุ่นใช้ระบบบริหาร QC (Quality Circles) ดังนั้น ในช่วงทศวรรษนี้ QC ก็เป็นเรื่องที่มาแรง แต่พอเข้าปลายทศวรรษก็ปรากฏว่ามีกูรูด้านการจัดการของสหรัฐ นำเสนอแนวความคิดเรื่อง “Organization Re-engineering” หรือการยกเครื่ององค์การแบบข้ามคืน ทำให้บริษัทในสหรัฐทั้งหลายแห่กันนำความคิดนี้มาใช้กัน ทำให้เกิดการยกเครื่ององค์การกันอย่างมโหฬาร ซึ่งก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง และพอเข้าปลายศตวรรษที่ 20 ต่อมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 21 นี้ แฟชั่นการบริหารก็หันมาให้ความสนใจกับเรื่อง Learning Organization (องค์การแห่งการเรียนรู้) Knowledge-based Organization (องค์การแห่งองค์ความรู้) ซึ่งเป็นแนวคิดใช้องค์ความรู้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
ดังนั้น ในต้นศตวรรษที่ 21 นี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่นักบริหารให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการสร้างองค์ความรู้ให้กับองค์การและพนักงาน เพราะถ้าพนักงานขาดความรู้แล้วองค์การจะมีความรู้ได้อย่างไร จริงไหมคะท่านผู้อ่าน? และในการพัฒนาบุคลากรนั้น ใช่ว่าผู้บริหารจะเน้นแต่การพัฒนาลูกน้องเท่านั้น ตัวผู้บริหารก็ต้องเร่งรัดพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองเช่นกัน และนี่แหละค่ะคือที่มาของกิจกรรมที่เรียกว่า “Executive Coaching” ซึ่งผู้เขียนจะได้เล่าถึงเรื่องนี้ให้ฟังว่ามีความเป็นมาอย่างไร และเหตุใดปัจจุบันนี้เราจึงได้เห็นคำคำนี้ถี่ขึ้น
Executive Coaching เป็นกิจกรรมที่ “อิมพอร์ต” มาจากสหรัฐอเมริกา
สถาบัน IES (Institute for Employment Studies) ซึ่งตั้งอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ได้ลงบทความเรื่อง Executive Coaching ไว้ในเว็บไซต์ของตนเองว่า เรื่องการโค้ชผู้บริหารระดับสูง หรือ Executive Coaching นี้ เป็นกิจกรรมที่ “อิมพอร์ต” มาจากสหรัฐอเมริกา เป็นที่สนใจและนิยมในหมู่ผู้บริหารในยุโรปอย่างกว้างขวางในระยะเวลา 2–3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นหัวข้อ “ฮอต” หัวข้อหนึ่งทีเดียว เพราะเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริหารระดับสูงที่ปรารถนาจะพัฒนาตนเองทั้งในแง่ส่วนตัวและหน้าที่การงาน อันส่งผลให้สามารถบริหารธุรกิจได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กระบวนการพัฒนาผู้บริหารที่เรียกว่า Executive Coaching นี้ เป็นกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ประมาณการว่าค่าใช้จ่ายในการโค้ชผู้บริหารระดับสูงหัวละ 2 พันปอนด์/วัน นี้ ถือว่าเป็นราคาปกติในประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ สามารถเปรียบเทียบได้กับค่าแรงของที่ปรึกษาด้านการจัดการประมาณวันละ 975 ปอนด์/วัน จึงเห็นได้ว่าค่าแรงพี่เลี้ยงของผู้บริหารระดับสูงนี้สูงเป็น 2 เท่าของที่ปรึกษาเลยทีเดียว อะไรทำให้กิจกรรม Executive Coaching มีราคาสูงขนาดนี้? และมันแตกต่างจากการฝึกอบรม หรือการโค้ชอื่นๆ อย่างไร?
Executive Coaching คืออะไร? และแตกต่างจากกิจกรรมฝึกอบรมอื่นๆ อย่างไร?
Executive Coaching คือ กระบวนการปฏิสัมพันธ์ (Interactive Process) ที่พี่เลี้ยงหรือโค้ชออกแบบขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างรวดเร็ว มักเป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาบุคคลเพื่อให้ทำงานในหน้าที่ได้ดีขึ้นมากกว่าจะเป็นการพัฒนาเพื่อเรื่องส่วนตัว (แน่ละซี! ไม่อย่างนั้นใครจะลงทุนกันเป็นแสนเป็นล้าน ถ้ามันไม่เกี่ยวกับเม็ดเงินทางธุรกิจ) กระบวนการโค้ชนี้จะถูกออกแบบขึ้นเฉพาะบุคคล (Personally tailored) เพื่อให้คนคนนั้นเรียนรู้ที่จะปรับปรุงพฤติกรรมและผลการทำงาน และเป็นกระบวนการที่ออกแบบขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับตารางเวลาของนักบริหารระดับสูงที่ไม่ค่อยมีเวลาว่างในการเรียนรู้
ลักษณะสำคัญของ Executive Coaching ที่สามารถสรุปออกมาได้ว่าเป็นลักษณะค่อนข้างเฉพาะและแตกต่างจากการฝึกอบรม (Training) การแนะแนว (Counseling) การพัฒนาองค์การ (Organization Development) หรือกระบวนการให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาปัจเจกบุคคล (One to one support processes) อื่นๆ ก็คือ
Executive Coaching เป็นกระบวนการในระยะสั้น (Short-term) มีการจำกัดระยะเวลา (Time-limited) ต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนให้โค้ช (ในราคาสูง) มีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน นำไปสู่การปฏิบัติ (Action Orientated) ออกแบบเป็นการเฉพาะสำหรับบุคคล (Personally Tailored) และใช้การให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) ที่มีความเป็นภววิสัย (Objectivity) โดยปราศจากอคติ
เพราะเหตุใดนายจ้างจึงนิยมใช้ Executive Coaching?
ปัจจุบันนี้บริษัทผู้เป็นนายจ้างหลายแห่งที่เป็นบริษัทชั้นแนวหน้าเริ่มใช้บริการ Executive Coaching กันแพร่หลายขึ้น จากการสำรวจของ IES พบว่าสาเหตุหลัก 5 ประการที่สร้างแรงจูงใจให้องค์การหันมาสนใจเรียกหาบริการ Executive Coaching ก็คือ
ประการที่ 1 เพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้พนักงานในตำแหน่งบริหารระดับสูงมีความพร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อไป Executive Coaching จึงเปรียบเสมือนเป็นการ “ปฐมนิเทศ” เตรียมพนักงานขึ้นสู่ตำแหน่งใหม่
ประการที่ 2 เพื่อเร่งความเร็วของกระบวนการในการพัฒนาตนเองของพนักงาน เพื่อรับตำแหน่งบริหารในระดับสูง ซึ่งโดยมากพนักงานที่จะได้รับโอกาสนี้ มักเป็นพนักงานกลุ่มที่มีศักยภาพสูง หรือพวก “High Potential”
ประการที่ 3 เพื่อสนับสนุนกระบวนการการเปลี่ยนแปลงองค์การให้ประสบผลสำเร็จ โดยใช้การพัฒนาบุคลากรและทีมเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในองค์การทั้งหลายมักเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงผู้นำหรือผู้บริหารระดับสูงก่อน
ประการที่ 4 เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงมีโค้ชที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเพื่อนคอยให้คำปรึกษาอยู่เบื้องหลัง
ประการที่ 5 เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้บริหารระดับสูงให้มีโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโปรแกรมในการพัฒนาตนเองในขอบข่ายที่กว้างขึ้น เช่น โปรแกรมการประเมินผลระบบ 360 องศา เป็นต้น
จากเหตุผลทั้ง 5 ประการดังกล่าวข้างต้น คงจะสามารถช่วยให้ท่านทั้งหลายเข้าใจถึงความหมายและประโยชน์ของ Executive Coaching มากขึ้น และคงจะพอมองภาพเห็นว่ากระบวนการนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความชำนาญจริงในการทำหน้าที่พี่เลี้ยง หรือโค้ชให้ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งถ้าได้โค้ชที่เก่งจริงและมีระบบการโค้ชที่ดี ผู้บริหารระดับสูงจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ผู้เขียนมองเห็นว่าในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้บริหารระดับสูงมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ดังนั้น เรื่องของ Executive Coaching จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เป็นเพียงแฟชั่นที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านเลย ในอนาคตคาดว่าเราน่าจะเห็นอัตราการทำ Executive Coaching แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งในโอกาสข้างหน้าจะได้เล่าให้ฟังว่าเขาโค้ชนักบริหารระดับสูงกันอย่างไร สำหรับสัปดาห์นี้ขอลาไปเล่นน้ำสงกรานต์ก่อนนะคะ
หากท่านมีข้อเสนอแนะหรือคำถาม กรุณาติดต่อที่ : siriyupa.hrvariety@sasin.edu
ข้อมูลและประสานงาน : คุณอารีย์ พงษ์ไชยโสภณ