e-Logistics System : ระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์
e-Logistics System : ระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์
ในปัจจุบัน ระบบโลจิสติกส์ ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก การมีระบบบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร และสารสนเทศ (Information Management) ที่ดีนั้น ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ และมีความจำเป็นอย่างมากในการดำเนินธุรกิจยุคการสื่อสาร และการค้าไร้พรมแดน เพราะยิ่งข้อมูลข่าวสารและ
สารสนเทศ สามารถไหล (Information Flow) ไปได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เท่าใด ก็ยิ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์เป็นการ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และทำให้ธุรกิจสามารถเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ การที่หลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้พยายามเอานำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวล้ำทันสมัย มาพัฒนาเป็นระบบที่ใช้ในการ “บริหารจัดการโลจิสติกส์ ด้วยอิเล็กทรอนิกส์” หรือที่เรียกว่า “e-Logistics System” โดยในกระบวนการและกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์นั้น มีมากมาย แตกต่างกันในแต่ละกิจกรรม ดังนั้นระบบสารสนเทศในแต่ละกิจกรรมย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือทุกๆ ระบบหรือทุกกิจกรรม จะต้องมีการออกแบบการเชื่อมโยงและสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งสามารถควบคุมสถานการณ์ Log In และตรวจสอบของบุคคลที่มีสิทธิ (Access) และหรือตรวจสอบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการดำเนินธุรกรรมในกิจกรรมของโซ่อุปทาน ทั้งภายนอกและภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายใต้ความพึงพอใจของลูกค้าสูงสุด โดยระบบการบริหารจัดการ e-Logistics นั้น อาจจะจำแนกได้เป็น 2 ภาคใหญ่ๆ ตามขนาดของการเชื่อมโยง และจำนวนของหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ
1. ระบบ e-Logistics ในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม อาจกล่าวได้ว่าภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจต่างชาติและธุรกิจไทยขนาดใหญ่ได้มีการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในองค์กรและการเชื่อมโยงกับสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศหรือสำนักงานสาขา บางกิจการได้พัฒนาไปสู่การเป็น Best Practice ซึ่งอาจจะเป็นการเชื่อมโยงเฉพาะองค์กร, เชื่อมกับลูกค้า หรือคู่ค้า ซึ่งจะมีจำนวนของหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในระดับธุรกิจ มากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กร และเครือข่ายของธุรกิจ โดยในส่วนนี้ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งทางด้าน Hardware, Software และ People ware เข้ามาใช้ในการบริหารกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทางด้านโลจิสติกส์ มีทั้งที่สั่งซื้อ/นำเข้า-ส่งออกสินค้าโดยเชื่อมโยงเป็นระบบบูรณาการทั้งด้านการเงิน-บัญชี , การตลาด , การบริหารงานโลจิสติกส์และระบบการสร้างมูลค่าเพิ่มต่างๆ เช่นระบบ ERP : Enterprise Resource Planning เป็นต้น รวมถึง ระบบที่ทำการพัฒนาขึ้นมาใช้เอง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ และสนองตอบกับกระบวนการทำงานของแต่ละองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันได้พัฒนาทำให้ต้นทุนทั้งด้าน Software และ Hardware ให้มีราคาพอเหมาะกับกิจการของคนไทยสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งกรณีของกลุ่มบริษัท V-serve Group ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการ Logistics Service ก็ได้มีการพัฒนาไปสู่องค์กร e-Logistics โดยได้มีการนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในด้านฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ รวมถึงการตั้งทีมพัฒนาระบบ e-Logistics System เพื่อใช้ในการบริหารจัดการกระบวนการทางด้านโลจิสติกส์ ให้กับลูกค้าที่เป็น B2C และ B2G เช่น ระบบที่ได้พัฒนาและใช้งานแล้ว ได้แก่ ระบบ Job Electronics Online System, E-Tracking, E-Document Center, EDI., ebXML Paperless Customs, GPS Truck Tracking , WMS : Warehouse Management Systems
2. ระบบ e-Logistics ในภาครัฐ หรือระดับประเทศ ในส่วนนี้ ถือเป็นระบบที่มองในภาพรวมของกระบวนการ โลจิสติกส์ในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ เช่นกับกรมศุลกากร , การท่าเรือฯ หรือการท่าอากาศยาน หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับควบคุมและพิธีการต่างๆ เช่นกรมศุลกากร, กรมปศุสัตว์, กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อใช้เชื่อมโยงข้อมูลกับบริษัทขนส่ง (Carries) เช่น บริษัทเดินเรือ สายการบิน, ธนาคาร และ สถาบันการเงิน, บริษัทประกันภัย, ผู้ให้บริการเสริมอื่นๆ, ผู้ให้บริการด้านไอซีที เช่น ISP, Gateway โดยทิศทางการพัฒนาระบบ e-Logistics System ของภาครัฐควรมุ่งเน้น เพื่อการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้มีการสนองตอบและสร้างความเชื่อมั่นให้กับแต่ละหน่วยงานทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจในการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารในโซ่อุปทานอย่างเป็นบูรณาการในรูปแบบทั้ง B2B และ B2G เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกิจกรรมในการเคลื่อนย้ายสินค้า-บริการ การจัดเก็บและการกระจายสินค้าจาก Origin Sources ไปสู่ End User โดยนัยสำคัญของ e-Logistics ควรสนองตอบต่อประการแรก เพื่อการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายข้อมูลภาครัฐ และ ภาคการขนส่ง ในกระบวนการนำเข้าส่งออกและโลจิสติกส์ ให้เป็น “การบริการเบ็ดเสร็จจากหน้าต่างเดียว” (Single Window Entry) โดยบทบาทความรับผิดชอบหลักของหน่วยงานต่างๆ คงเดิม (เช่น การกำกับควบคุม การทดสอบ และ การอนุมติ เป็นต้น) ประการที่สอง มุ่งสู่การพัฒนาระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ลดและทดแทนเอกสารกระดาษ และมุ่งไปสู่ระบบการค้าไร้กระดาษ(Paperless Trade) ทั้งธุรกรรมภาครัฐและภาคธุรกิจ ประการที่สาม พัฒนาระบบการเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานเพื่อการทำ Data Crossing และ ลดการตรวจสอบเอกสารกระดาษ
จากบริบทของการพัฒนา e-Logistics จะเข้ามามีบทบาททั้งภาครัฐ, ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม เป็นอย่างมาก คงปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กร จะต้องนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์ แต่การที่ธุรกิจจะเริ่มต้นนำระบบ e-Logistics ใดๆ มาใช้ จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการเลือกซื้อระบบงานแต่ละระบบ โดยจะต้องครอบคลุมการทำงาน และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งก็แล้วแต่ประเภทธุรกิจ และขนาดขององค์กร ไม่เช่นนี้จะกลายเป็น “ค่าโง่” และความสูญเปล่าที่ทำให้เกิดต้นทุน และเป็นภาระมากกว่าที่จะช่วยลดภาระ ส่งผลให้แทนที่จะเป็นลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ตามที่คาดหวังไว้ กลับเป็นการเพิ่ม Cost และเพิ่ม Lead Time โดยส่วนใหญ่แล้วในปัจจุบัน ผู้พัฒนาจะพัฒนาและแยกจำหน่ายเป็น Module เพื่อให้สามารถ Customize ให้กับลูกค้าแต่ละรายได้ (แต่ก็มีข้อจำกัดของการปรับแก้ของแต่ละซอฟต์แวร์แตกต่างกัน) จึงควรมีการศึกษาข้อมูลและมีการออกแบบระบบอย่างรอบคอบ หากจะซื้อทั้งระบบจากต่างประเทศก็ต้องแน่ใจว่าระบบนั้นสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของประเทศไทย และต้องมีการได้ทดลองใช้ ในฟังก์ชั่นที่ต้องการ ก่อนการตัดสินใจซื้อ รวมถึงต้องพิจารณาถึงการบริการ, การรับประกัน รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่มีผลในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่หน่วยงานของรัฐก่อนที่จะพัฒนาไปสู่ e-Logistics จะต้องให้มีการเห็นพ้องกับภาคธุรกิจในฐานะทั้งที่เป็นลูกค้าและเป็นผู้รับบริการเกี่ยวกับข้อกำหนด ทางด้านเทคนิค ที่สำคัญของระบบ e-Logistics System เช่น ระบบ Interconnection (การเชื่อมโยง) คือ การกำหนดมาตรฐานด้านการเชื่อมโยงเครือข่าย และโปรโตคอลที่ใช้รับส่งข้อมูลระหว่างองค์กร เช่น ebXML, ebMS, ebXML over SMTP, CPA ระบบ Data Exchange คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการบูรณาการข้อมูล เช่น XML Schema, XML Namespaces รวมถึง ระบบ Content Management Metadata คือ การกำหนดพจนานุกรมข้อมูลและ คำอธิบายรูปแบบข้อมูล หรือข้อมูลที่บอกรายละเอียดของข้อมูล (data about data) เพื่อให้ทราบว่าข้อมูลที่ได้รับคืออะไร นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงความสะดวกของผู้ใช้ และการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตอีกด้วย
อย่างไรก็ดี องค์กรทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจที่จะ เริ่มพัฒนาระบบ e-Logistics ขึ้นมาใช้งาน ทั้งที่ใช้กับระบบงานขององค์กรเอง และการเชื่อมโยงกับระบบงานอื่นทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจนั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาเลือกใช้ทีมพัฒนาที่ไว้ใจได้ เลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ตกยุค รวมถึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญ และข้อกำหนดทางด้านเทคนิค ที่สำคัญ ของระบบ e-Logistics เพื่อให้การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ขององค์กร สามารถนำไปใช้งานได้จริงตามเป้าหมายที่วางไว้ สามารถพัฒนาต่อเนื่องและรองรับการเชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานอื่นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญวัตถุประสงค์ของการทำ e-Logistics ก็เพื่อให้เกิดการไหลลื่นของข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น จะต้องให้มีการกระจายข้อมูลข่าวสารไปสู่หน่วยงานต่างๆในโซ่อุปทานไม่ใช่หวงไว้รู้คนเดียวหรือชักเข้าชักออก อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่า e-Logistics..???
ที่มา โดยธนิต โสรัตน์
ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP