DMGT อีกบทพิสูจน์ ‘อัจฉริยะ’ ต้อง ‘สร้าง’

DMGT อีกบทพิสูจน์ “อัจฉริยะ” ต้อง “สร้าง”

รู้กันมานานแล้วว่าอัจฉริยะนั้นสร้างได้ แต่วิธีที่จะก้าวสู่การเป็นอัจฉริยะได้นี่สิสำคัญกว่า เพราะนอกจากการค้นพบพรสวรรค์ของเด็กแล้วจะต้องรู้ด้วยว่าแนวทางที่ทำให้ พรสวรรค์ยังอยู่กับเด็กจนโตและกลายเป็นผู้มีความสามารถพิเศษและพัฒนาเป็นอัจฉริยะบุคคลได้ต้องทำอย่างไร

ในงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2551 หัวข้อสร้างสรรค์สมองสู่เศรษฐกิจสังคมที่สร้างสรรค์ ที่จัดโดยสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ฟรองซัวส์ การ์กเนย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งมอนทริเอล ประเทศแคนาดา มาบอกสูตรปั้น “อัจฉริยะ” ผ่านทฤษฎีของการพัฒนาความสามารถ DMGT (Differentiated Model of Giftedness and Talent) ที่เขาคิดค้นและพัฒนามาจากประสบการณ์ทำงาน ด้านจิตวิทยา

โดยแยกแยะความหมายของคำว่า พรสวรรค์ (gift) ออกจาก (talent) ที่ทฤษฎีบทส่วนใหญ่มักจะเขียนถึงเด็ก 2 กลุ่มนี้แบบรวมๆ

พรสวรรค์ในความหมายของเขา หมายถึงผู้มีความสามารถพิเศษโดยธรรมชาติ หรือพันธุกรรม เช่น ถ้ามีพรสวรรค์ด้านสติปัญญา เด็กจะเรียนรู้ได้ง่ายกว่าคนในวัยเดียวกัน มีความจำดี มีเหตุผล มีความคิดสร้างสรรค์ ถ้ามีพรสวรรค์ด้านจินตนาการ เด็กจะมีความสามารถในการประดิษฐ์คำ เล่นคำ หรือถ้ามีพรสวรรค์ด้านสังคม เด็กก็จะสามารถโน้มน้าวใจและสังเกตอาการของ ผู้อื่นได้ พรสวรรค์ด้านกล้ามเนื้อ เด็กก็จะเล่นกีฬาเก่ง เหนื่อยยาก หรือพรสวรรค์ในด้านการควบคุมกลไกต่างๆ ที่เด็กจะสามารถเล่นเกมที่ใช้ประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน

ค้นหา “พรสวรรค์”

ดร.ฟรองซัวส์กล่าวว่า “ผู้ดูแลเด็กสามารถสังเกตความสามารถที่มีโดยธรรมชาตินี้ได้ในกิจกรรมชีวิตประจำวัน และกิจกรรมที่จัดขึ้นในโรงเรียนที่มักจะมีความโดดเด่นเหนือเพื่อนในวัยเดียวกันในด้านต่างๆ ซึ่งเด็กคนหนึ่งอาจมีพรสวรรค์ในหลายๆ อย่างในคนเดียวกันก็ได้ เด็กที่มีพรสวรรค์จะสามารถเเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งสังเกตความคล่องแคล่วในการแสวงหาความรู้ได้มากเท่าไร ยิ่งสันนิษฐานได้ว่ามีพรสวรรค์มากเท่านั้น”

แต่หากเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษ จะพบได้ในคนทั่วไปที่มีความสามารถ เฉพาะด้าน เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬาและเทคโนโลยีที่เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต โดยต้องใช้ความพยายาม ความสามารถในการฝึกฝน และมักจะปรากฏผลในวัยผู้ใหญ่ เช่น อาจจะเป็นครูหรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ

“การจะเป็นอัจฉริยะได้ต้องอาศัยกระบวนการในการพัฒนา ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่มีพรสวรรค์มาตั้งแต่กำเนิดจะสามารถก้าวสู่การเป็นอัจฉริยะได้ทุกคนหากไม่ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งไม่ได้เกิดจากพันธุกรรมก็อาจจะพัฒนาสู่การเป็นอัจฉริยะได้ ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมและกระบวนการในการพัฒนาที่เหมาะสม”

อัจฉริยะ ต้องสร้าง

ถ้าจะพูดให้ง่ายขึ้นอีก นั่นอาจมีความหมายว่า อัจฉริยะนั้นสามารถสร้างได้หากเด็กได้รับการสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ประสบการณ์และได้รับการฝึกฝนในสิ่งที่พวกเขามีความสามารถพิเศษ ทฤษฎีการพัฒนาความสามารถพิเศษของเขาจึงท้าทายความเชื่อในแบบเดิมๆ ที่เชื่อว่าเด็กที่มีความสามารถพิเศษนั้นจะต้องมีพรสวรรค์ติดตัวมาแต่กำเนิด

เขาอธิบายเรื่องนี้ว่า “การพัฒนาความสามารถพิเศษคือการทำให้ศักยภาพในตัวที่ซ้อนเร้นปรากฏออกมาสู่ความเป็นเลิศทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ผู้ประกอบการ การจัดการ สังคม เทคนิค ศิลปะ และวิทยาศาสตร์ ต้องเริ่มจาก 3 ส่วนโดยทำอย่างเป็นระบบและเฉพาะด้านที่เด็กมีความสามารถพิเศษ ได้แก่ การลงทุนที่หมายถึงปริมาณเวลาและเงินที่ใช้ไปกับการลงทุนในการฝึกฝน ส่วนต่อมาเป็นกิจกรรมหมายถึงคุณภาพของรูปแบบกิจกรรมที่นำมาฝึกฝน ใช้เวลาเท่าไร ฝึกอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย และความก้าวหน้าหลังจากการฝึกก็เป็นจุดเปลี่ยนทั้งด้านลบและบวกที่เกิดขึ้นจากแรงจูงใจต่างๆ เช่น การได้รับทุนการศึกษา หรือการประสบอุบัติเหตุ”

“ความสามารถพิเศษส่วนใหญ่ประเมินได้ง่าย โดยอาศัยการวัดผลแบบทั่วไปที่ใช้ในการประเมินความสามารถทางวิชาชีพ ส่วนในด้านกีฬาก็เห็นได้จากหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งหมดจะประสบความสำเร็จได้มาจากภายในตัวบุคคลเองหรือสิ่งแวดล้อมและโอกาสที่ต้องมีความพร้อม ผู้สนับสนุนที่ดีและการจัดให้เข้าเรียนในชั้นพิเศษเหมือนการเรียนดนตรีที่สามารถ ผ่านชั้นได้ตามความสามารถของเด็ก” ดร.ฟรองซัวส์กล่าว

ก้าวที่ท้าทายของไทย

จากงานวิจัยพบว่ามีคนที่อยู่ในกลุ่มที่มีพรสวรรค์และความสามารถพิเศษมีอยู่รวมกันถึง 10% ของทุกประเทศ และสามารถวัดระดับของความสามารถของผู้มีพรสวรรค์และความสามารถพิเศษได้จากการทดสอบไอคิวที่มี 5 ระดับ ตั้งแต่ 120-165 ไอคิว

“ในแคนาดาจะมีการใช้ในรัฐควิเบกเท่านั้น เนื่องจากมีการปกครองแบบกระจายอำนาจ นโยบายจึงขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น รัฐควิเบกใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 3 เท่า มีประชากรประมาณ 7 ล้านคน โรงเรียนประมาณครึ่งหนึ่งที่ใช้ระบบของ DMGT โมเดล คัดเลือกเด็กในชั้นเรียนซึ่งมีประมาณ 30% เข้ามาเรียนในโครงการ International Program ซึ่งเป็นชั้นเรียนพิเศษเพื่อพัฒนาเด็กตามศักยภาพที่มี เด็กเหล่านี้สามารถย้ายเข้าไปเรียนในประเทศที่มีการจัดการเรียนการสอนในระบบนี้ได้ทันที แต่ยังเกิดปัญหาว่าเด็กที่เข้ามาโปรแกรมส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีฐานะดีเพราะต้องไปรับการประเมินโดยนักจิตวิทยาและผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเองก่อนที่จะเข้าเรียนใน International Program ได้ และด้วยลักษณะของการปกครองที่ต้องการความเท่าเทียมกัน จึงไม่ค่อยมีใครต้องการเป็นอัจฉริยะที่หมายถึงการมีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น ยังมีเด็กในอีกหลายคนที่ถูกปิดกั้นการเรียนรู้และโอกาสในการก้าวสู่การเป็นอัจฉริยะสนใจสามารถเข้าดูข้อมูลได้ที่ www. nationdeceived.org” ดร.ฟรองซัวส์กล่าว

ถึงโมเดลนี้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในประเทศแคนาดานัก แต่สิ่งที่วัดผลได้ชัดเจนว่าเป็นของดีจริง คือประเทศออสเตรเลียมีการนำไปใช้ในโรงเรียนทุกแห่งและประสบความสำเร็จหลังได้รับการผลักดันจากผู้หญิงออสเตรเลียคนหนึ่ง ที่เคยทราบโมเดลนี้จากตอนไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกา แล้วเห็นว่าดีจนวันนี้ DMGT เข้าไปอยู่ในนโยบายด้านการศึกษาของประเทศ ส่วนประเทศอื่นๆ ในยุโรปอย่าง สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ก็มีการใช้โมเดลนี้ด้วยเช่นกัน

ในประเทศไทยโมเดลที่ว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาแบบ BBL (brain-based learning และ gifted & talented) การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานที่ทำให้เด็กเก่ง ดี และมีความสุข ที่ สสอน.ศึกษาวิจัยและพัฒนาและเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และนักปฏิบัติที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้มาแลกเปลี่ยนและแสดงผลงานทางวิชาการเพื่อให้ทุกส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัยที่นำความรู้ไปใช้ในการปรับกระบวน การเรียนการสอนที่กระตุ้นพัฒนาการของสมอง ดูแลและพัฒนาเด็กในวัยต่างๆ พัฒนาคนที่มีความสามารถพิเศษอย่างถูกต้อง โดยขั้นแรกได้นำร่องระบบการศึกษาแบบ BBL เข้าไป 12 โรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านไป 1 ปีได้ผลตอบกลับมาที่ดีมาก เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เด็กมีความสุขและมีแววที่จะเป็นอัจฉริยะหรือมีความสามารถพิเศษ และเตรียมขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *