Creativity is Essential

Creativity is Essential
คนพูดวลีนี้คือ อาจารย์ เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ซึ่งเป็นคนชอบคิดสร้างสรรค์ ดิฉันเริ่มรู้จักท่านจากการอ่านหนังสือของท่านเพื่อทำรายงาน แล้วติดใจแนวคิดของท่าน จนศึกษาเจาะลึกเรื่องความคิดสร้างสรรค์อย่างจริงจังและทำวิทยานิพนธ์ด้านนี้

เมื่อได้อ่านหนังสือของท่านแล้วก็ศรัทธาชื่นชมแนวคิดที่ท่านอยากให้ผู้คนหันมาคิดในทางสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามใหม่ๆ กัน ท่านคิดหาวิธีที่ทำให้คนไม่ต้องถกเถียงกันว่าใครถูกใครผิดเพื่อจะได้ลดความขัดแย้งลงได้ทั้งในบริษัท ในครอบครัว และในสังคม

โดยได้ข้อสรุปที่ทุกคนยอมรับในเวลาที่กระชับไม่เสียเวลาพูดวกไปวนมาเพราะท่านมีทิศทางให้คิดร่วมกันทีละแนว เทคนิคนี้เรียกง่ายๆ ว่า เทคนิคการคิดอย่างเป็นระบบแบบซิกส์แฮ็ท

ดิฉันมีโอกาสไปเรียนกับอาจารย์ เดอ โบโน ที่ประเทศมอลตาซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของท่าน และที่อื่นบ้างรวมสิบครั้ง ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มเติมเสมอ ดิฉันอ่านหนังสือของท่านหลายสิบเล่ม ชนิดว่าเป็นมิตรรักแฟนเพลงมากว่าสิบปี แต่น้อยกว่าผู้บริหารในประเทศไทยอีกมากมายที่เป็นแฟนหนังสือของอาจารย์ เดอ โบโน มาก่อนดิฉันและโทรมาเล่าให้ฟังว่าอ่านมาตั้งแต่ตอนนั้นตอนนี้ ดิฉันได้ฟังแล้วรู้สึกอุ่นใจ

หากคนไทยเราได้ฝึกทักษะการคิดสร้างสรรค์และระบบคิดของอาจารย์ เดอ โบโน อย่างถูกต้องตามหลักการของท่านจริงๆ คงสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กรที่เขาทำงานอยู่ ให้แก่ครอบครัวของเขา และให้แก่ประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น

เมื่อสิบปีที่แล้วดิฉันจึงไปเรียนและได้รับสิทธิสอนระบบการคิดของท่านอย่างเป็นทางการและทำงานเต็มเวลากับการสอนระบบการคิดของท่านโดยตรง ทำให้มีเวลาฝึกระบบการคิดทุกระบบของท่านด้วยตัวเองและใช้กับทีมงานจนเป็นวัฒนธรรม ดิฉันมีความสุขกับการถ่ายทอดเทคนิคการใช้ระบบการคิดของอาจารย์ เดอ โบโน ให้กับผู้เข้าสัมมนาและเห็นพวกเขาสนุกกับการใช้ระบบคิดเหล่านี้ในงานของเขา

วันที่ดิฉันเขียนบทความที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้คือวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ดิฉันได้ไปฟังอาจารย์ เดอ โบโน สอนที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ในการประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก งานนี้จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการของไทย มีกำหนดสามวัน ดิฉันเองไม่ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับงานนี้ แต่ก็ซื้อบัตรลงทะเบียนไปร่วมงานด้วยทั้งๆ ที่ว่างไปเพียงวันเดียว เพราะวันอื่นติดงานสัมมนาเทคนิคการคิดอย่างเป็นระบบ

จุดประสงค์สำคัญคือ จะไปกราบสวัสดีอาจารย์ เดอ โบโน และจะได้เรียนจากท่านอีกเป็นครั้งที่สิบ วันนี้ก็ได้บรรลุวัตถุประสงค์ครบถ้วน คนฟังประมาณพันกว่าคนดูจะสนุกสนานไปกับการสอนของท่านเช่นเดียวกับดิฉันซึ่งฟังมาแล้วหลายครั้ง แต่ทุกครั้งจะเข้าใจอะไรได้เพิ่มขึ้น และลึกซึ้งขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมาเสมอ ดิฉันยินดีฟังคำสอนดีๆ ซ้ำๆ หลายครั้ง วิธีนี้เกิดประโยชน์ทางปัญญากับตัวเองมาก หนังสือของอาจารย์ เดอโบโน ดิฉันก็อ่านซ้ำหลายครั้งจนเกือบหลุดเป็นแผ่นๆ

ดิฉันไม่ได้อ่านซ้ำแต่เฉพาะหนังสือของอาจารย์ เดอโบโน อย่างเดียว หนังสือเล่มอื่นที่ชอบดิฉันก็อ่านซ้ำ เทปบรรยายธรรมของท่านพุทธทาส พระธรรมปิฎก หรือของท่านอื่น ดิฉันก็ฟังซ้ำจนเทปยืดต้องซื้อใหม่เก็บไว้ การเรียนรู้ซ้ำหลายครั้งดิฉันได้เข้าใจอะไรชัดเจนยิ่งขึ้นพอที่จะถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย ดิฉันว่านี่เป็นทักษะการรับข้อมูลอย่างหนึ่ง

การมีทักษะด้านข้อมูลจะช่วยให้เรามีวิจารณญาณที่เหมาะสม คือมีทักษะด้านการรับรู้ที่ดี อาจารย์ เดอโบโน ยกตัวอย่างประกอบการอธิบายเพื่อให้ผู้ฟังรู้ว่า ทักษะด้านวิจารณญาณเป็นสิ่งสำคัญมาก

เรื่องนี้เกิดในประเทศออสเตรเลีย เป็นที่รู้กันว่าเหรียญหนึ่งดอลลาร์ออสเตรเลียใหญ่กว่าเหรียญสองดอลลาร์ มีเด็กน้อยคนหนึ่งนามว่า จอนนี่ ผู้ใหญ่มักเอาเหรียญหนึ่งดอลลาร์ซึ่งมีขนาดใหญ่ และสองดอลลาร์ซึ่งมีขนาดเล็กให้จอนนี่หยิบ ทุกครั้งจอนนี่ก็หยิบเหรียญใหญ่หนึ่งดอลลาร์ทุกครั้ง ผู้ใหญ่เห็นก็ขำจอนนี่กันทุกครั้ง ใครนึกสนุกก็นำเหรียญมาให้จอนนี่เลือก จอนนี่ก็หยิบเหรียญใหญ่หนึ่งดอลลาร์ทุกครั้ง

วันหนึ่งมีผู้ใหญ่คนหนึ่งทนไม่ไหวเรียกจอนนี่เข้ามาบอกด้วยความหวังดีว่า เหรียญใหญ่มีค่าแค่หนึ่งดอลลาร์ เหรียญเล็กมีค่ามากกว่าอีกเพราะเป็นเหรียญสองดอลลาร์ จอนนี่ตอบผู้ใหญ่ท่านนั้นอย่างสุขุมว่า “ผมรู้ครับ ผมจึงหยิบเหรียญใหญ่หนึ่งดอลลาร์ ถ้าครั้งแรกผมหยิบเหรียญเล็กสองดอลลาร์เลย จะมีคนเสนอเหรียญให้ผมหยิบสักกี่ครั้งเชียว” ทักษะการรับรู้และวิจารณญาณเป็นเช่นนี้ เรื่องของจอนนี่เป็นเรื่องที่ดิฉันชอบมากเรื่องหนึ่ง

จุดที่น่าสนใจตอนที่อาจารย์ เดอ โบโน พูดถึงการคิดอย่างระแวดระวัง ซึ่งเป็นการยกเหตุผลมาโต้แย้งว่าความคิดที่มีคนเสนอขึ้นมานั้นมีข้อเสียตรงไหน ใช้ไม่ได้ผลอย่างไร หรือด้วยเหตุผลใดๆ นั้น นับเป็นเรื่องสำคัญและระบบการศึกษาทั่วโลก เน้นการคิดด้านนี้เป็นส่วนใหญ่แต่ที่เป็นอันตรายคือ การใช้มากเกินไป (over_use) ถ้าที่ประชุมใช้เวลาไปกับการโต้แย้งอย่างต่อเนื่อง เวลาในการประชุมจะยาวนานและยืดเยื้อ แต่ไม่ได้ข้อสรุปที่จะนำไปปฏิบัติได้ การคิดอย่างเป็นระบบจะทำให้เราใช้การคิดได้อย่างเหมาะสม

ในอีกทางหนึ่งระบบการศึกษาไม่ได้ฝึกให้คนมองเห็นประโยชน์และคุณค่าของสิ่งต่างๆ หรือความคิดต่างๆ ที่ผู้คนคิดมาหรือเสนอมา อาจารย์ เดอ โบโน เล่าเรื่องให้ฟังว่า มีคนขี้เมาคนหนึ่งไปพบตะเกียงวิเศษ พอเอามือไปถูตะเกียง ยักษ์เจนนี่ก็ปรากฏตัว และพูดว่า “ข้าต้องอุดอู้อยู่ในตะเกียงมาตั้งหลายพันปี ท่านช่วยให้ข้าออกมาได้ ข้าอยากตอบแทนบุญคุณท่าน ท่านจะขออะไรก็ได้ 3 ข้อ ข้าจะให้ทุกอย่างที่ท่านขอ” คนขี้เมาดีใจบอกว่า “งั้นข้อที่ 1 เราขอเหล้าขวดหนึ่งซึ่งเป็นเหล้าที่กินเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมดขวด พอในขวดพร่องไป เหล้าใหม่ก็เติมขึ้นมาแทนเช่นนี้ตลอดกาล” เจนนี่รับคำ และบันดาลเหล้าขวดนั้นให้ตามประสงค์

“แล้วข้อที่ 2 ล่ะ ท่านจะขออะไร ” ยักษ์เจนนี่ถาม คนขี้เมาตอบว่า “ขอเหล้าอย่างเดียวกันอีกขวดหนึ่ง และขอให้ข้อที่ 3 อีกขวดหนึ่งด้วย รวมเป็นขออีกสองขวด”

เมื่อฟังเรื่องนี้จบ ท่านผู้ฟังอาจรู้สึกว่าคนขี้เมานี่โง่จริงๆ ตัวเองมีเหล้าที่กินอย่างไรก็ไม่หมดอยู่ขวดหนึ่งแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะมีเหล้าขวดอื่นอีกแล้ว น่าจะขออย่างอื่นดีกว่า แต่ถ้าคิดมองหาให้ได้ว่าจุดดีหรือประโยชน์ของเหล้าอีกสองขวดที่แกขออยู่ตรงไหน เราอาจเห็นได้ว่าคนขี้เมานั้นสามารถนำเหล้าอีกสองขวดไปขายต่อได้

อาจารย์เดอ โบโน เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพื่อให้เราเข้าใจว่า การศึกษาน่าจะฝึกการมองเห็นประโยชน์และคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยท่านใช้คำว่า เราควรฝึกคนให้มี Value Sensitivity ซึ่งการคิดทางบวกจะช่วยได้

ท่านบอกกับอธิการบดีและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกว่ามหาวิทยาลัยหรือระบบการศึกษาน่าจะเป็นที่ฝึกทักษะ (Skills) ที่จำเป็นให้แก่นักศึกษา ไม่ใช่เน้นแต่ให้ความรู้ข้อมูลอย่างเดียว เพราะความรู้หาได้จากหนังสือ จากอินเทอร์เน็ต แต่ทักษะเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการฝึกฝน

อาจารย์ในมหาวิทยาลัยและโรงเรียน ควรฝึกทักษะที่จำเป็นและเราสามารถใช้ในชีวิตได้ทั้งปัจจุบันและอนาคต มิเช่นนั้นสภาพการศึกษาอาจเป็นเช่นเรื่องเล่านี้ คือมีอาจารย์คนหนึ่งคิดว่าตนบรรยายทุกวัน พูดซ้ำกันทุกวัน นักศึกษาก็นั่งฟังแบบเดิมทุกวันอย่ากระนั้นเลย เราหาวิธีที่ดีกว่ามาใช้จะเกิดประโยชน์กว่า

เช้าวันรุ่งขึ้นนักศึกษานั่งโต๊ะเหมือนเดิม แต่ที่โต๊ะอาจารย์มีเครื่องเล่นเทป เปิดเสียงอาจารย์บรรยาย ตัวอาจารย์ก็รู้สึกว่าสบายไปทำอย่างอื่นได้ และหลังจากนั้นไม่กี่วันขณะที่มีการเรียนการสอนในห้องนั้น ถ้าใครเข้าไปดูจะเห็นว่าบนโต๊ะของอาจารย์มีเครื่องเล่นเทปเปิดเสียงการสอนของอาจารย์อยู่ ส่วนบนโต๊ะของนักศึกษาก็มีเครื่องอัดเทปตั้งอยู่ทุกโต๊ะ ไม่มีใครอยู่ในห้องเรียนขณะมีการเรียนการสอน

เรื่อง : อ.รัศมี ธันยธร ผู้อำนวยการศูนย์ความคิดสร้างสรรค์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *