Business Plan : มาเขียนแผนธุรกิจกันเถอะ ?
Business Plan : มาเขียนแผนธุรกิจกันเถอะ ?
เมื่อเรารู้ความสำคัญของการเขียนแผนธุรกิจกันแล้ว คราวนี้ก็คงต้องถึงเวลาลงมือทำกันอย่างจริงจังเสียที และเพื่อไม่ให้แผนธุรกิจที่เขียนมาด้วยความอดทนนั้น ถูกข้อครหาว่าเป็นเพียงความฝัน สิ่งแรกที่เถ้าแก่น้อยๆ อย่างคุณจะต้องเร่งปฏิบัติคงหลีกไม่พ้นการค้นหาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจขึ้นมา
จริงๆ แล้วการเขียนแผนธุรกิจในหลายๆ ครั้งจะต้องเริ่มจากงานวิจัย ไม่ว่าจะมาจากภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ตาม โดยอาจเป็นผลวิจัยสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ยังไม่มีการนำไปต่อยอดให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างทางธุรกิจ โดยต้องพิจารณา ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีโอกาสทางธุรกิจจริงหรือไม่
สำหรับข้อมูลทางด้านเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นั้น สามารถหาได้จากสถาบันการศึกษา สำนักงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สมาคมสิ่งประดิษฐ์ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันค้นคว้าวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ และต่างประเทศอีกจำนวนมากที่คุณสามารถไปหาข้อมูลได้
แม้ว่าองค์ประกอบของแผนธุรกิจจะไม่ได้มีการกำหนดองค์ประกอบไว้ตายตัว แต่จากการตระเวน ค้นคว้า เสาะแสวงหาข้อมูลตามแหล่งต่างๆ พอจะสรุปได้ว่า แผนธุรกิจจะต้องประกอบด้วย
บทสรุปผู้บริหาร
ประวัติย่อของกิจการ
การวิเคราะห์สถานการณ์
วัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ
แผนการตลาด
แผนการจัดการและแผนบุคลากร
แผนการผลิต
แผนการเงิน
แผนการดำเนินงาน
แผนฉุกเฉิน
คราวนี้มาดูกันว่า แต่ละองค์ประกอบนั้นคุณควรนำเสนอประเด็นที่สำคัญอะไรบ้างอย่างไร
บทสรุปผู้บริหาร
ส่วนแรกของแผนธุรกิจที่ควรมี มักจะเรียกกันว่า บทสรุปผู้บริหาร ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่จะสรุปใจความสำคัญๆ ของแผนธุรกิจทั้งหมดแบบสั้น กะทัดรัด ได้ใจความ อย่างกับหลักในการส่งโทรเลข แต่คงไม่ใช่มีแค่ 3 – 4 บรรทัดหรอกนะครับ โดยอาจมีความยาวอยู่ที่ไม่เกิน 1-2 หน้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคุณก็ถือได้ว่าคุณประสบความสำเร็จและมีโอกาสเขียนบทสรุปผู้บริหารออกมาได้อย่างถึงลูกถึงคนจนบรรลุวัตถุประสงค์เบื้องลึกในจิตใจของคุณ
บทสรุปผู้บริหารในแผนธุรกิจ ต้องสามารถทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงภาพรวมของธุรกิจคุณว่าน่าร่วมลงทุน หรือน่าปล่อยเงินให้กู้หรือไม่ ซึ่งส่วนนี้ยังมีความสำคัญ เพราะเป็นส่วนแรกที่ผู้ร่วมลงทุนจะอ่านและตัดสินใจจากส่วนนี้ว่าจะอ่านรายละเอียดในตัวแผนที่มีความยาวอีกหลายหน้าต่อหรือไม่ ดังนั้น บทสรุปผู้บริหารจึงต้องชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญสองประการ
ประการแรก คุณต้องแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจที่คุณต้องการก่อสร้างขึ้นมา มีโอกาสทางตลาด และมีตลาดรองรับอยู่จริงๆ ไม่ใช่การละเมอเพ้อภพอยู่แต่เพียงในความฝัน
ประการที่สอง คุณต้องชี้ให้เห็นว่า สินค้าหรือบริการที่จะทำนั้น สามารถใช้โอกาสในตลาดที่ว่านั้นให้เป็นประโยชน์อย่างไร
บทสรุปผู้บริหาร ต้องเขียนให้เกิดความเชื่อถือ หนักแน่น ชวนให้ติดตามในรายละเอียดท่อยู่ในแผนต่อไป และควรระลึกไว้เสมอว่า คุณภาพของบทสรุปผู้บริหารจะสะท้อนถึงคุณภาพของแผนงานโดยรวม จึงควรให้เวลากับการเขียนส่วนนี้อย่างพิถีพิถัน ตั้งสติก่อนเขียน อย่าเขียนในขณะที่ร่างกายอยู่ในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่นเป็นอันขาด
เนื้อหาในบทสรุปผู้บริหารควรจะกล่าวถึงสิ่งต่อไปนี้
อธิบายว่าคุณจะทำธุรกิจอะไรและแนวคิดของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร
อธิบายถึงโอกาสและกลยุทธ์ว่ามีมากน้อยแค่ไหน
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและการคาดคะเนลูกค้าเป้าหมายเป็นอย่างไร
ความได้เปรียบเชิงการแข่งขันของธุรกิจอยู่ตรงไหน
ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจและความสามารถในการทำกำไรมีหรือไม่
ผู้บริหารเจ๋งแค่ไหน
ผลตอบแทนดีหรือไม่
ประวัติย่อของกิจการ
หากไม่มีอดีตย่อมไม่มีปัจจุบัน หากไม่มีปัจจุบันย่อมไม่มีอนาคต การเขียนแผนธุรกิจย่อมต้องมีประวัติย่อของกิจการ เพื่อให้คนอ่านได้รู้ถึงการตั้งไข่ในธุรกิจของคุณ และต้องรู้ต่อไปอีกด้วยว่า ธุรกิจที่ฟูมฟักนั้นจะเริ่มเดินได้เมื่อไหร่หรือเป็นเพียงแต่ไข่ที่รอวันแตกจากมรสุมทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่องเพียงเท่านั้น
ประวัติย่อของกิจการ เป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งธุรกิจ ทั้งนี้ในด้านรูปแบบการจัดตั้งหรือการจดทะเบียน ตลอดจนแนวคิดอันเป็นที่มาของการเล็งเห็นถึงโอกาสทางการตลาด การคิดค้นและพัฒนาสินค้าและบริการ ที่ต้องการนำเสนอให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายที่ต้องกมาให้เป็นอนาคตด้วย
การนำเสนออาจเริ่มด้วยการเกิ่นนำเกี่ยวกับปูมหลังของธุรกิจตั้งแต่เริ่มแรก ในด้านรูปแบบของกิจการ แนวทางการดำเนินงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งความสำเร็จและล้มเหลวที่ประสบมา จากนั้นจึงระบุถึงสภาพของอุตสาหกรรมโดยรวม โดยพิจารณาจากประเภทของอุตสาหกรรมที่ธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องอยู่ เช่น ธุรกิจการผลิตไหม ที่อาจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสินค้าที่ระลึกและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็ควรจะบอกว่าในปัจจุบันภาพรวมของอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างไร
นอกจากนี้คุณต้องคำนึงถึงโครงสร้างของอุตสาหกรรม ซึ่งในที่นี้อาจประกอบไปด้วยธุรกิจและคู่แข่งขันรายอื่น ตลอดจนการระบุถึงอัตราแนวโน้มการเจริญเติบโต และปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมโดยรวม
เนื่องจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีอาจทำให้เกิดอุตสาหกรรมสินค้าหรือบริการใหม่ที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ จึงควรกล่าวถึงเอาไว้ด้วย เพราะอย่างน้อยๆ ก็ทำให้ผู้อ่านได้มีข้อมูลในการตัดสินใจ อีกทั้งยังแสดงออกถึงความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธุรกิจของคุณอีกต่างหาก
การวิเคราะห์สถานการณ์
การวิเคราะห์สถานการณ์ ซึ่งส่วนนี้มีไว้เพื่อให้คุณสามารถรู้ทันในเกมธุรกจบนโลกของความเป็นจริง แต่คงไม่ใช้ส่วนหนึงของสมาคมชมรมคนรู้ทันท่านผู้นำ อย่างแน่นอน
บางคนบอกว่า ส่วนนี้ถือเป็นขั้นตอนแรกในการจัดทำแผนธุรกิจที่เริ่มจะเจาะลึกลงไปในรายละเอียดจากที่เกริ่นในภาพรวมและกล่าวถึงที่มาของกิจการมาเสีย 2 ข้อแรก
โดยการวิเคราะห์สถานการณ์ก็คือการพยายามทำความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่มีปัจจัยสำคัญต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านการแข่งขันในธุรกิจของคุณ อย่างที่ซุนวู ปราชญ์จีนได้คิดวลียอดฮิตติดปากคนทุกระดับชั้นว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” นอกจากนี้การนำเสนอสถานการณ์ยังต้องนำเสนอรายละเอียดของความน่าสนใจในตัวธุรกิจโดยผ่านภาพรวมของอุตสาหกรรม ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรและความพร้อมในด้านต่างๆ ของกิจการ ดังนั้นงานวิเคราะห์สถานการณ์จึงเป็นงานอันดับแรกๆ ที่สำคัญที่เถ้าแก่ควรทำเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานของกิจการ
การวิเคราะห์สถานการณ์หรือที่เรียกว่า SWOT ANALYSIS สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน หมายถึงการตรวจสอบความสามารถและความพร้อมของกิจการในด้านต่างๆ ทั้งนี้โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์ในส่วนที่เป็นจุดแข็ง เช่นคุณมีประสบการณ์การผลิตมานาน และมีคุณภาพสินค้าดีกว่าของคู่แข่งและจุดอ่อน ของกิจการ เช่นเงินทุนประกอบการมีน้อย ทำเลที่ตั้งไม่เหมาะสม ราคาสินค้าแพงกว่าคู่แข่ง เป็นต้น
การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก หมายถึง การประเมินสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่คุณหรือใครไม่สามารถควบคุม หรือเปลี่ยนแปลงได้ คุณต้องพยายามเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของสภาพแวดล้อมดังกล่าวให้เป็นในลักษณะที่เป็นโอกาส เช่น คุณมีแหล่งวัตถุดิบราคาถูก รู้จักกับตัวแทนจำหน่ายมากมายหรือ อุปสรรค ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อตรายี่ห้อของคู่แข่งขันมากและเปลี่ยนทัศนคติค่อนข้างยาก เป็นต้น
โดยผลรับจากขั้นตอนของการวิเคราะห์สถานการณ์ จะทำให้คุณสามารถวิเคราะห์ความเป็นไปและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจทั้งในวันนี้และวันหน้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดกลยุทธ์ด้านต่างๆ ของกิจการอย่าง ถูกที่ ถูกเวลา และยังแม่นยำอีกด้วย
วัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ
การตั้งเป้าหมายในธุรกิจจะเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อพาคุณไปสู่จุดหมาย โดยในส่วนนี้คุณต้องกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจอย่างชัดเจน ซึ่งนั้นหมายความว่า คุณได้กำหนดผลลัพท์ทางธุรกิจที่กิจการต้องการได้รับในช่วงระยะเวลาของแผนเอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทั่วไปเป้าหมายทางธุรกิจอาจเป็นเป้าหมายโดยรวมของกิจการหรือเป้าหมายเฉพาะด้านในแต่ละแผนกหรือแต่ละลักษณะของงาน เช่น เป้าหมายทางการตลาด เป้าหมายทางการจัดการ เป้าหมายทางการผลิต และเป้าหมายทางการเงิน
นอกจากนี้ เป้าหมายทางธุรกิจอาจแบ่งออกเป็นเป้าหมายระยะสั้น คือภายใน 1 ปี เป้าหมายระยะกลางประมาณ 3-5 ปี และเป้าหมายระยะยาวที่นานกว่า 5 ปีขึ้นไป
ลักษณะเป้าหมายธุรกิจที่ดีมี 3 ประการ
ประการแรก เป้าหมายธุรกิจต้องมีความเป็นไปได้ นั้นก็คือกิจการมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมาย หากมีการดำเนินงานอย่างเต็มที่ ตามแผนธุรกิจที่วางไว้
เทคนิคในการตั้งเป้าทางธุรกิจก็คือ คุณควรประเมินจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจทั้งภายนอกและภายในกิจการ แต่ไม่ควรตั้งเป้าหมายที่เลื่อนลอยเกินความเป็นจริงจนทำไม่ได้ ให้เข้าทางคนที่รอเหยียบย่ำซ้ำเติมคุณว่าแผนธุรกิจเป็นเพียงจินตนาการ หรือนั่งเทียนเขียนขึ้นมา
แต่ก็ไม่ควรตั้งเป้าหมายที่ง่ายจนเกินไป จนไม่ต้องทุ่มเทความพยายามใดๆ ดังนั้น เป้าหมายที่ดีจึงควรเป็นผลลัพธ์ที่ทำได้ยาก แต่มีความเป็นไปได้
ประการที่สอง เป้าหมายดังกล่าวต้องสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ต้องมีความชัดเจนกระทั่งสามารถประเมินได้ว่ากิจการบรรลุตามเป้าหมายนั้นหรือไม่ วิธีง่ายๆ คือ การกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนว่าจะต้องบรรลุถึงเป้าหมายนั้นภายในระยะเวลาเท่าใด
ประการสุดท้าย คือเป้าหมายต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มิใช่มีเป้าหมายสะเปะสะปะไปคนละทิศคนละทาง ซึ่งเป้าหมายระยะสั้นต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเป้าหมายในระยะปานกลางและระยะยาวด้วย
แผนการตลาด
หัวใจของหัวใจ โดยวัตถุประสงค์ที่คุณสามารถนำมาย่อยเพื่อใช้ในการกำหนดแผนการตลาดอาจจะได้มาจากในส่วนของการวิเคราะห์สถานการณ์ที่ผ่านมาในบทก่อนหน้านี้ ซึ่งการวางแผนการตลาดเป็นการกำหนดกลยุทธ์และวิธีในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด เพื่อให้กิจการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่มุ่งหวังนั่นเอง
สูตรแรก แผนการตลาดที่เน้นการผลิต ซึ่งจะเน้นทางการผลิตและตัวผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มากที่สุด โดยการผลิตต้องมีการดำเนินงานที่ดีมีคุณภาพจะขายได้ กิจกรรมอื่นๆ ของธุรกิจ เช่น การส่งเสริม การจำหน่าย การกระจายสินค่า จะถูกจำกัดบทบาท เพราะไม่มีความสำคัญเท่ากับการผลิตสินค้าให้ดีที่สุด
สูตรสอง แผนการตลาดที่เน้นการขาย สูตรนี้การผลิตจะถูกลดบทบาทลง แต่จะเน้นว่าต้องพยายามผลักดันให้ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุด ดังนั้นการส่งเสริมการขาย การโฆษณาและการกระตุ้นการขายโดยวิธีอื่นๆ จะมีความสำคัญมาก
สูตรสาม แผนการตลาดที่เน้นผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งแผนการตลาดลักษณะนี้จะท่องคาถาในใจเสมอว่า “เริ่มและจบลงที่ลูกค้า” ธุรกิจจะต้องนำเอาความต้องการของลูกค้ามาเป็นตัวตั้งในการผลิตเพื่อสินค้าให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า โดยให้ความสำคัญในการตั้งราคาที่เหมาะสม การส่งเสริมการขายที่ดึงดูดใจลูกค้า ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ทั่วถึง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ในที่สุด
แต่สูตรที่เหมาะกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากที่สุดคือ สูตรที่เน้นผู้บริโภคเป็นหลัก เพราะไม่ว่าลูกค้าจะมีความต้องการอย่างไร หากธุรกิจสามารถตอบสนองได้ก็จะถือได้ว่ามีการเกิดโอกาสทางธุรกิจขึ้น แต่ก็เป็นข้อดีที่ทำให้ไม่มีใครอยากเข้ามาแข่งขันมากมาย อย่างไรก็ตาม ต้องมั่นใจว่าขนาดของตลาดเพียงพอและคุ้มค่าต่อการลงทุนด้วย
สรุปว่าเนื้อหาของแผนการตลาดที่ดี อย่างน้อยๆ จะต้องสามารถตอบคำถามหลักๆ เหล่านี้ได้
เป้าหมายทางการตลาดที่ต้องทำให้ใด้ในระยะเวลาของแผนคือเรื่องอะไรบ้าง
ใครคือลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเป้าหมายหลักและกลุ่มเป้าหมายรอง
จะนำเสนอสินค้าและบริการอะไรให้กลุ่มเป้าหมาย ในราคาเท่าใดและด้วยวิธีการใด
จะสร้างและรักษาความพึงพอใจให้กับกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นได้ด้วยวิธีการใดบ้าง
ที่มา : www.smesmart.is.in.th