Bill Gate ตอน 4

Bill Gate ตอน 4 : จับมือกับ IBM

จับมือกับไอบีเอ็มในโปรเจ็กต์ Chess

ปี 1980 ข่าวคราวความสำเร็จอย่างมหาศาลของแอปเปิ้ลในอุตสาหกรรมพีซีคอมพิวเตอร์ ทำให้ผู้บริหารระดับสูงของไอบีเอ็มเริ่มหันมาให้ความสนใจในเรื่องที่เกี่ยวกับไมโครคอมพิวเตอร์มากขึ้น ไอบีเอ็มตัดสินใจจัดตั้งทีมงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อดำเนินงานโปรเจ็กต์ Chess โดยเริ่มต้นศึกษาถึงความสำเร็จของแอปเปิ้ล สิ่งที่พวกเขาค้นพบมี 2 อย่างคือ แอปเปิ้ลให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และสถาปัตยกรรมของพวกเขาเป็นสถาปัตยกรรมแบบเปิด ทำให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่องติดตามมาเป็นจำนวนมากจากบริษัทต่าง ๆ

จากการศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ของแอปเปิ้ล ทำให้ทีม Chess สังเกตพบว่า ไมโครซอฟท์เป็นบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์ที่รู้เรื่องของไมโครคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี และโปรแกรมเบสิกของไมโครซอฟท์ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรฐาน ยิ่งไปกว่านั้น รายได้ของไมโครซอฟท์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกปี ซึ่งเป็นที่ประทับใจทีมงานของไอบีเอ็มเป็นอย่างมาก

ในที่สุดไอบีเอ็มตกลงที่จะให้ไมโครซอฟท์เป็นผู้พัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ สำหรับเครื่องไมโคร-คอมพิวเตอร์ ทั้งภาษาเบสิก รวมถึงฟอร์แทรน ปาสกาล และโคบอลด้วย ซึ่งในตอนแรกทางไอบีเอ็มตัดสินใจที่จะใช้ระบบปฏิบัติการ CP/M (Control Program for Microcomputer) ของดิจิตอลรีเสิร์ชที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่ในตอนนั้น แต่ทางดิจิตอลรีเสิร์ชกลับไม่ให้ความสนใจซึ่งถือเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวง ดังนั้นไอบีเอ็มจึงตกลงให้ไมโครซอฟท์เป็นผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการแทน ทั้งที่เกตส์รู้ว่ามีความเสี่ยงมากเนื่องจากไอบีเอ็มมีกำหนดเส้นตายที่เข้มงวด และสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกสัญญา
เมื่อไรก็ได้ แต่เขาก็ไม่อยากปล่อยให้โอกาสอย่างนี้หลุดมือไป เกตส์รู้เป็นอย่างดีว่าไมโครซอฟท์ไม่มีเวลามากพอที่จะพัฒนาระบบปฏิบัติการที่ไอบีเอ็มต้องการได้ทันกำหนดเวลา จึงทำการซื้อระบบปฏิบัติการ QDOS (Quick and Dirty Operating System) จากทิม แพตเตอร์สันในราคาเพียงแค่ 50,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อมาทำการพัฒนาต่อ

…การร่วมมือกันระหว่างไอบีเอ็มกับไมโครซอฟท์ในการพยายามพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ สำหรับอุตสาหกรรมนี้ จะส่งผลกระทบอันยาวไกลต่ออนาคตของทั้งสองบริษัทและต่ออุตสาหกรรมนี้ทั้งระบบ…

ตลอดช่วงระยะเวลาของการร่วมมือกัน ไมโครซอฟท์ได้ให้คำปรึกษาแก่ไอบีเอ็มในหลาย ๆ เรื่อง และการทำงานร่วมกับไอบีเอ็มได้สร้างมาตรฐานใหม่ ๆ หลายอย่างให้กับไมโครซอฟท์ เกตส์รับเอามาตรฐานการทำงานของไอบีเอ็มเข้าไว้ในมาตรฐานของไมโครซอฟท์ทีละน้อย ๆ พวกเขาค่อย ๆ เปลี่ยนมาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การวางแผนโครงการ ตลอดจนมาตรฐานด้านความมั่นคงและปลอดภัย

เกตส์และทีมงานร่วมกันพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ จนกระทั่งนาทีสุดท้าย จึงเกิดเป็นดอสเวอร์ชัน 1.0 มีจำนวนบรรทัดทั้งสิ้น 4,000 บรรทัด เขียนด้วยภาษาแอสเซมบลี และใช้เนื้อที่ของหน่วยความจำทั้งสิ้น 12 กิโลไบต์ ซึ่งไอบีเอ็มก็ยอมรับเอ็มเอสดอสที่พัฒนาโดยไมโครซอฟท์เป็นระบบปฏิบัติการของเครื่องไอบีเอ็มพีซีอย่างเป็นทางการ

ชัยชนะของเอ็มเอสดอส

12 สิงหาคม 1981 ไอบีเอ็มประกาศเปิดตัวเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ของพวกเขาอย่างเป็นทางการ และได้รับการต้อนรับจากตลาดเป็นอย่างดี ทำให้เอ็มเอสดอสประสบความสำเร็จตามไปด้วย ซึ่งคู่แข่งรายสำคัญในตลาดระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ในตอนนั้นยังคงเป็นดิจิตอลรีเสิร์ช หนึ่งปีหลังจากการวางตลาดของไอบีเอ็มพีซี จำนวนของผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ที่หันมาใช้
เอ็มเอสดอส เป็นระบบปฏิบัติการมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในขณะเดียวกันไมโครซอฟท์ก็ได้ปรับปรุงเอ็ม-เอสดอสให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้นตามลำดับ

แต่ชัยชนะที่เห็นได้ชัดเจนของเอ็มเอสดอสเกิดขึ้นในปี 1983 เมื่อโลตัสได้เปิดตัวโปรแกรม
โลตัส 1-2-3 ซึ่งทำงานบนเอ็มเอสดอสออกมาและได้รับความสำเร็จอย่างล้นหลาม จึงส่งผลทำให้เอ็มเอสดอสได้รับการยอมรับว่า เป็นมาตรฐานของระบบปฏิบัติการของเครื่องพีซี

…นับแต่นั้นมา ก็เข้าสู่ยุคของไมโครซอฟท์ ยักษ์ใหญ่ในวงการซอฟต์แวร์…

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *