Bill Gate ตอน 3

Bill Gate ตอน 3 :ช่วงก่อตั้งธุรกิจ

การก่อตั้งธุรกิจ

กำเนิดไมโครซอฟท์

เพื่อการเจรจาข้อตกลงกับเอ็มไอทีเอสได้สะดวกมากขึ้น ในเดือนกรกฎาคม 1975 เกตส์และอัลเลนได้ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “ไมโครซอฟท์ (Microsoft)” ซึ่งหมายความถึงซอฟต์แวร์สำหรับไมโครคอมพิวเตอร์ และนี่ถือเป็นจุดกำเนิดของไมโครซอฟท์

ช่วงระหว่างปีการศึกษา 1975 ถึงปี 1976 เกตส์ได้กลับไปเรียนต่อที่ฮาร์วาร์ด แต่ภายในใจของเขาไม่มีเรื่องของตำรากฎหมายอีกต่อไปแล้ว ใน 2-3 เดือนต่อมาเขาเดินทางกลับมาทำงานที่
เอ็มไอทีเอส และสิ่งที่เขาคิดในตอนนั้นก็คือ จะทำอย่างไรจึงจะสามารถขยายธุรกิจไมโครซอฟท์ออกไปให้ยิ่งใหญ่ได้ เพื่อที่จะทำเช่นนั้น เขาจะต้องติดต่อกับบริษัทผู้สร้างไมโครคอมพิวเตอร์รายอื่น ๆ เพื่อขายสิ่งที่เขาและอัลเลนร่วมกันสร้างขึ้นมา

 

ปีแรกของไมโครซอฟท์

ระหว่างที่เขายังคงรักษาสภาพการเป็นนักศึกษาที่ฮาร์วาร์ด เกตส์กลายเป็นนักพูดเกี่ยวกับไมโครคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ ขณะเดียวกันเขาได้พัฒนาทักษะใน
การดำเนินธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น เกตส์ค้นพบในไม่ช้าว่า ขณะที่อัลเลนยังคงทำงานอยู่ที่เอ็มไอทีเอส เขาเพียงคนเดียวจะไม่สามารถผลักดันไมโครซอฟท์ให้เดินรุดหน้าต่อไปได้ดีเท่าที่ควร เขาจึงเริ่มมองหาผู้ที่จะเข้ามาช่วยงานด้านการเขียนโปรแกรมของเขาได้

เดือนเมษายน 1976 มาร์ค แมคโดนัลด์ อดีตเพื่อนร่วมโรงเรียนเลคไซด์ กลายมาเป็นพนักงานคนแรกของไมโครซอฟท์ ในเดือนต่อมา ริค เวย์แลนด์ อดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนของเกตส์อีกเช่นเคย ได้กลายมาเป็นพนักงานคนที่สองของไมโครซอฟท์ เนื่องจากไมโครซอฟท์ยังไม่มีสำนักงาน ทั้งสองคนจึงต้องทำงานที่อพาร์ทเมนท์ของตนเอง โดยเกตส์จะเป็นผู้ตรวจสอบโปรแกรมที่ทั้งสองเขียนมาทั้งหมด

สิงหาคม 1976 เกตส์จ้างพนักงานอีก 2 คนคือ อัลเบิร์ต ชู และสตีฟ วู๊ด ถึงตอนนี้เมื่อรวมเกตส์และอัลเลน ไมโครซอฟท์จะมีพนักงานทั้งสิ้น 6 คนแล้ว และถึงเวลาที่ควรจะมีสำนักงานเป็นของตนเองเสียที โดยการเช่าสำนักงานแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอัลบูเคอร์คิวซึ่งมีห้องทั้งหมด
4 ห้อง เป็นสำนักงานแห่งแรกของไมโครซอฟท์

ฤดูใบไม้ร่วงปี 1976 ชีวิตการเป็นนักศึกษาของเกตส์ก็สิ้นสุดลง เขาพบว่าเขาไม่สามารถที่จะเรียนและบริหารไมโครซอฟท์ไปพร้อม ๆ กันได้ และเขาเลือกไมโครซอฟท์ ในเดือนพฤศจิกายน 1976 อัลเลนได้ลาออกจากเอ็มไอทีเอสเพื่อมาช่วยเกตส์ทำงานที่ไมโครซอฟท์เต็มเวลา โดยเด็กหนุ่มทั้ง 6 คนได้อุทิศเวลาให้กับการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำอย่างไม่สามารถที่จะนับเป็นชั่วโมงการทำงานได้

…บัดนี้ไมโครซอฟท์พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตซึ่งรอคอยพวกเขาอยู่…

อย่างไรก็ตามจะลืม มิเรียม ลูโบว์ เสียไม่ได้ ตอนนั้นเธออายุ 42 ปีและเป็นคุณแม่ลูก 4 เธอเป็นเลขาคนแรกของไมโครซอฟท์ที่มีหน้าที่ดูแลงานด้านเอกสารต่าง ๆ ของไมโครซอฟท์ในตอนนั้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำรายการเงินเดือน การทำบัญชี การจัดซื้อ การดูแลคำสั่งซื้อของลูกค้า ฯลฯ เธอจะคอยดูแลพนักงานของไมโครซอฟท์ทุกคนเหมือนลูก ให้พวกเขาสามารถทำงานได้อย่างสบายที่สุด เพื่อที่จะมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรมารบกวนสมาธิของพวกเขาได้ ซึ่งงานทั้งหมดที่ลูโบว์ทำนั้นได้กลายมาเป็นแผนกหลายแผนกของไมโครซอฟท์ในเวลาต่อมา

 

กลับสู่วอชิงตัน

ต้นปี 1978 ไมโครซอฟท์เปิดตัวเบสิกเวอร์ชันที่ 5 ซึ่งยังคงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ถึงสิ้นปีนั้น รายได้ของไมโครซอฟท์ขึ้นสู่ระดับล้านเหรียญสหรัฐ ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของปีที่ผ่านมา มีพนักงานทั้งสิ้น 13 คน เกตส์และอัลเลนแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนในการบริหาร โดยอัลเลนดูแลด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ส่วนเกตส์ดูแลทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างไมโครซอฟท์กับผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ รวมทั้งงานประจำวันในบริษัท

สิ่งที่เกตส์เป็นห่วงคือ การที่ไมโครซอฟท์กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องการผู้ร่วมงานที่มีความรู้ความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น ซึ่งเมืองอย่างอัลบูเคอร์คิวนั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเขาในเรื่องนี้ได้ ทำให้เกตส์และอัลเลนตัดสินใจที่จะย้ายสำนักงานกลับมาที่วอชิงตัน ซึ่งที่นี่ปรัชญาอย่างหนึ่งของไมโครซอฟท์ในการเลือกพนักงานเข้ามาร่วมงานได้เกิดขึ้น สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ

“คนที่มีใจรักและมีความสามารถเป็นพิเศษในการเขียนและพัฒนาโปรแกรม โดยไม่เห็นความจำเป็นของการมีปริญญาพ่วงท้าย คุณสมบัติต่าง ๆ ที่ได้รับมาจากมหาวิทยาลัยไม่สำคัญเท่ากับความกระตือรือร้นในการทำงาน และความสามารถในการเขียนโปรแกรมของคน ๆ นั้น”

ในปี 1978 เกตส์และคนของไมโครซอฟท์ทุกคนมีความสุขอยู่กับการครอบครองตลาดโปรแกรมภาษาเครื่องสำหรับไมโครคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีคู่แข่งขัน ในตลาดไมโครคอมพิวเตอร์ขณะนั้น นอกเหนือจากมีการออกแบบสถาปัตยกรรมและระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันแล้ว ภาษาเบสิกของไมโครซอฟท์กำลังกลายเป็นมาตรฐานของเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องไปเสียแล้ว

ในเดือนมีนาคม 1980 สตีฟ บอลล์เมอร์ เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของเกตส์ได้เข้ามาร่วมงานกับไมโครซอฟท์ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ และกลายมาเป็นกำลังสำคัญที่สุดคนหนึ่งในช่วงเวลาต่อมา

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *