AEC : ASEAN Single Window เชื่อมข้อมูลข้ามโลก 3

AEC : ASEAN Single Window เชื่อมข้อมูลข้ามโลก 3
Source: ปาหนัน ลิ้ม

“นักวิชาการ” ชี้ระบบไทยยังล้าหลัง เร่งก้าวให้ทันสิงคโปร์-มาเลเซีย

“นักวิชาการ” เผยระบบ e-Logistics ไทยยังล้าหลัง เทียบสิงคโปร์-มาเลียเซียไม่ติด ระบุเวียดนามเป็นเต่าติดเทอร์โบเบียดแซงไทย แนะเร่งออก พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกทางอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่ากรมศุลกากรไทยจะพัฒนาไปก้าวไกลเพียงใด แต่หากให้เปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์หรือมาเลเซียแล้ว นับว่าประเทศเหล่านั้นมีการพัฒนาระบบ e-Logistics ไปไกลกว่าประเทศไทยมาก โดยเฉพาะเวียดนามที่ขณะนี้มาแรงสุด กลายเป็นเต่าติดเทอร์โบที่กำลังจะขึ้นนำไทยในอีกไม่ช้า นอกจากนี้ระบบส่งเอกสารของไทยแม้ว่าจะมีความสะดวกมากขึ้น แต่กลับมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้ถูกลง ซึ่งแป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐควรหาแนวทางแก้ไขและพัฒนาให้ตรงจุด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างแท้จริง

ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ให้ความเห็นว่า หากต้องการให้ระบบ e-Logistics มีการพัฒนาเร็วยิ่งขึ้น ควรให้ฝ่ายการเมืองผู้มีอำนาจในการสั่งการมาเป็นประธาน อย่างเช่น รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาและทำให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ลำดับความสำคัญว่าควรจะพัฒนาในจุดใดก่อนหลัง นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนา และติดตามความก้าวหน้าอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้แล้ว ในการพัฒนาระบบ e-Logistics ทั้งระบบ ประเทศไทย ควรจะหามืออาชีพจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาพัฒนาระบบและดำเนินการแทน ซึ่งจะทำให้ระบบทั้งหมดเสร็จรวดเร็วและสามารถพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อภาคธุรกิจและการค้าได้เต็มรูปแบบ

“หากจะให้ระบบ e-Logistics พัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ภาครัฐควรจะใช้การออก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกทางการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์เหมือนในต่างประเทศ มาครอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่เป็นปัญหาและอุปสรรค เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถปฎิบัติตามได้โดยไม่ต้องติดข้อปฎิบัติในแต่ละหน่วยงานที่ไม่สามารถทำด้วยอิเล็กทรอนิกส์ได้ และยังสามารถใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวในการกำหนดว่าหน่วยงานใด ใครจะต้องทำอะไร อย่างไรและต้องแล้วเสร็จเมื่อไร เชื่อว่าหากมีกฎหมายขึ้นมาควบคุมแบบนี้ทุกฝ่ายน่าจะเห็นด้วยโดยเฉพาะภาคเอกชน เพราะทำให้สามารถทำได้เร็วและปฎิบัติได้จริง” ผศ.ดร.พงษ์ชัย กล่าวย้ำ”

แม้ว่าจากการสำรวจของ World Bank ระบุว่าเรื่องระบบศุลกากรไทยมีจำนวนเอกสารลดลง จำนวนวันลดลง แต่กลับพบว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ต่างจากประเทศคู่แข่งที่มีการพัฒนาระบบไปไกลกว่าไทย ซึ่ง ผศ.ดร.พงษ์ชัย ให้ความเห็นว่า ในเรื่องนี้อาจเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐมองสิ่งที่ภาครัฐได้ประโยชน์มากกว่าจะมองว่าภาคธุรกิจหรือเอกชนจะได้ประโยชน์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเข้าใจไม่ตรงกันในการใช้ประโยชน์จากระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้น เรื่อง e-Logistics ภาครัฐต้องปรับตัวสู่ความต้องการของเอกชน โดยสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยเหลือเอกชนให้ได้รับความสะดวก และที่สำคัญคือต้องไม่สร้างภาระอย่างอื่น

ที่ผ่านมาการพัฒนาระบบ e-Logistics ต้องยอมรับว่าในส่วนของ e-Customs ทางกรมศุลกากรทำได้ก้าวหน้ามาก ได้พัฒนาระบบของตนเองเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นแล้ว แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างมากที่ส่วนงานอย่าง e-Certificate, e-Port, และ e-Trade ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช้กรมศุลกากรกว่า 28 หน่วยงาน ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก มีไม่กี่หน่วยงานเท่านั้นที่มีการพัฒนาอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะเชื่อมต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ากับทางกรมศุลกากร การพัฒนายังมีลักษณะแบบต่างคนต่างทำ ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงเป็นอย่างมากว่าระบบของแต่ละหน่วยงานจะสามารถเชื่อมโยงกันได้หรือไม่ และจะแล้วเสร็จพร้อมกันได้เมื่อไร ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันพัฒนา เพราะเรื่องนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้กับภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานพิธีการ และเอกสารต่างๆ สำหรับนำเข้าและส่งออก …

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *