AEC : ASEAN Single Window เชื่อมข้อมูลข้ามโลก 2
AEC : ASEAN Single Window เชื่อมข้อมูลข้ามโลก 2
Source: ปาหนัน ลิ้ม
สภาพัฒน์ฯ เร่งเดินเครื่องพัฒนา e-Logistics
สภาพัฒน์ฯ เน้นย้ำระบบ e-Logistics สำคัญต้องเร่งพัฒนา เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ คาดปี 2554 ระบบเสร็จสมบูรณ์สามารถเชื่อมโยงได้ทุกหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หน่วยงานที่เป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า และยกให้เป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ต้องเร่งพัฒนาปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาระบบการนำส่งและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในกระบวนการโลจิสติกส์ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์และพัฒนาระบบ Single Window Entry
“การพัฒนาระบบ e-Logistics มีความคืบหน้าพอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของกรมศุลกากรที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการนำระบบ e-Customs มาใช้ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งพัฒนาระบบของตัวเองให้มีความสมบูรณ์ เพื่อสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ คาดว่าภายในปี 2554 ระบบจะแล้วเสร็จและสามารถเชื่อมโยงกันทั้ง 28 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก” คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าว
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้นำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อให้บริการผู้ส่งออกและผู้นำเข้ามากขึ้น ทำให้กระบวนการนำเข้า – ส่งออกมีความรวดเร็วในระดับหนึ่ง ในส่วนของกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการปรับปรุง รวมทั้งขณะนี้มีความพยายามในการปรับระบบสารสนเทศให้สามารถบริการผู้ส่งออก–นำเข้าสินค้าในรูปแบบ Single Window Entry เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดระยะเวลา และลดต้นทุนในกระบวนการเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก–นำเข้า
ขณะนี้ได้มีการดำเนินการของหลายหน่วยงานดำเนินการที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การปรับลดขั้นตอนและเวลาการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐในบางกลยุทธ์อยู่แล้ว และในช่วงต้นปี 2551 ที่ผ่านมา สศช. ได้ประสานกับกรมศุลกากร และกระทรวง ICT เพื่อดำเนินการใน 2 ประเด็นเพื่อเร่งรัดการดำเนินการปรับลดขั้นตอนและเวลาที่ใช้กับงานเอกสารและการดำเนินการเพื่อการนำเข้า-ส่งออก คือ
1) การจัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลและบริการภาครัฐเพื่อการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ เพื่อพิจารณา Business Model ของระบบ NSW ซึ่งที่ประชุมได้มติเห็นชอบให้กรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้ง National Single Window (NSW) ลงทุน เพื่อให้ระบบสามารถเปิดให้บริการได้โดยเร็ว
2) การเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ e-Signature โดยเสนอผ่านอนุกรรมการพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลและบริการภาครัฐเพื่อการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ การปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาที่ใช้กับงานเอกสารและการดำเนินการเพื่อการนำเข้า-ส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จะต้องรอผลจากการศึกษาสร้างความสอดคล้องและทำมาตรฐานรายการข้อมูล (Data Harmonization) ที่จะมีผลโดยตรงต่อการออกแบบกระบวนการและขั้นตอนการให้บริการของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานรายการข้อมูลที่จำเป็นและมีมาตรฐานเดียวกันในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในสิ้นปีงบประมาณ 2551
นอกจากนี้ หากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตและใบรับรองต่างๆ ดำเนินการตาม แผนดำเนินงานข้างต้นและสามารถให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครอบคลุมและทั่วถึงแล้ว คาดว่า ภายในต้นปี 2552 จะสามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในขั้นตอนการเตรียมเอกสารเพื่อการส่งออกจาก 13 วัน ให้เหลือ 5-6 วันได้ ประกอบกับผลการให้บริการ e-Export อย่างเต็มรูปแบบของกรมศุลกากร ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถปรับลดเวลาที่ใช้กับงานเอกสารและการดำเนินการเพื่อการนำเข้า-ส่งออก จาก 24 วันเหลือ 15 วัน หรือน้อยกว่าได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้