Ageing Workforce มากวัย…มากคุณภาพ

Ageing Workforce มากวัย…มากคุณภาพ
วัทสันไวแอท สะกิดนายจ้าง เตรียมรับมือสังคม “ผู้สูงวัย” ของคนยุคเบบี้บูม แต่ถึงจะมากวัย แต่ยังไม่ด้อยคุณภาพ ทั้งการเงินมั่งคั่ง และการงานมั่นคง

สังคม “คนชรา” ประเด็นร้อนของนายจ้างแห่งยุคศตวรรษที่ 21 เมื่อคนทำงานวัย 50 ปีขึ้น จะมีมากถึง 37.8% ในปี 2573 และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 44.8% ในปี 2593

ก่อนจะเกิดวิกฤติแรงงานวัทสัน ไวแอท (ประเทศไทย) ออกวิจัย Ageing Workforce ศึกษาวิจัยเรื่องแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการศึกษาความเข้าใจในเชิงกลยุทธ์ และทิศทางนโยบายของบริษัทต่างๆ ที่มีต่อสิทธิประโยชน์ของประชากรแรงงานในอนาคต ทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล และการมอบสิทธิประโยชน์แก่พนักงานหลังปลดเกษียณอายุ

การศึกษาครั้งนี้ มีกลุ่มตัวอย่างจาก 2,332 บริษัท ใน 11 ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก คือ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย โดยสัมภาษณ์ผู้บริหาร รวมถึงที่ปรึกษาด้านสิทธิประโยชน์และผลประโยชน์ในองค์กรใหญ่ในแต่ละประเทศ ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทไทย 201 แห่ง ซึ่งคัดเลือกมาจากบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 2 พันแห่ง

ทายาท ศรีปลั่ง กรรมการผู้จัดการ วัทสัน ไวแอท (ประเทศไทย) บอกว่า 74% ของบริษัท เห็นว่าในอีก 15-20 ปีข้างหน้า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ และอีกกว่าครึ่งเชื่อว่าความต้องการด้านสิทธิประโยชน์ด้านการเกษียณอายุและสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพจะมีเพิ่มมากขึ้น

แน่นอนว่าการวางแผนสิทธิประโยชน์ที่ดี จะช่วยจูงใจและรักษาพนักงานที่มีประสิทธิภาพให้คงอยู่กับองค์กรไว้ได้ ซึ่งองค์กรไทยครึ่งหนึ่งเชื่อว่า เงินที่บริษัทสมทบให้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะช่วย “ดึง” คนเก่งให้อยู่กับองค์กร

“การที่องค์กรแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งพนักงานที่มีศักยภาพ การวางแผนให้สอดคล้องกับประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนไป จะช่วยให้องค์กรอยู่รอดและมีผลกำไรที่ดีขึ้น”

ฝ่ายทรัพยากรบุคคล จะต้องใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลและเงินออมเป็นเครื่องมือที่จะรั้งคนเก่งๆ ไว้ ซึ่ง 45% เชื่อว่า การจ่ายเงินเพิ่มจะช่วยรักษาคนดีๆ ไว้

“แต่ต้องดูจุดคุ้มค่าและไม่เป็นการสร้างภาระที่หนักเกินไปสำหรับองค์กร” ผลสำรวจบอกอีกว่า นายจ้างครึ่งหนึ่งเห็นว่าระบบการให้สิทธิประโยชน์หลังเกษียณอายุและค่ารักษาพยาบาลตามสถานะ จะไม่ยั่งยืนในอนาคต

66% ของนายจ้างก็พร้อมจะหยิบยื่นสิทธิประโยชน์เพิ่มให้ลูกจ้าง และ 26% ยินดีให้ประโยชน์เพิ่มเติมตามสถานะแก่พนักงานมากขึ้น เช่น การทำประกันสุขภาพให้พนักงาน แต่พนักงานต้องมี “ส่วนร่วม” ที่จะใส่เงินเข้ามาด้วย หรือต้องทำงานให้บริษัทมากขึ้น

ในส่วนสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ 49% ใช้เกณฑ์การรับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลตามสถานะ เป็นปัจจัยหลักในการวางกรอบแผนการมอบค่ารักษาพยาบาล ส่วนเงินออมเพื่อเกษียณ 62% เห็นว่า กองทุนเงินบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่จะมีผลในเดือนมกราคม 2550 จะช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพของพนักงานที่ปลดเกษียณได้

แต่นี่กลับกำลังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะผลวิจัยด้านทัศนคติการออมตัวหนึ่งระบุว่า คนไทย “เชื่อ” ว่าเงินสะสมมาตลอดชีวิตการทำงานจะ “พอ” สำหรับใช้จ่ายในบั้นปลายชีวิต

“คนไทยเชื่อว่าการเก็บเงินในปัจจุบันพอเพียงสำหรับอนาคตถึง 49% เขาเข้าใจว่าเงินโพรวิเดนท์ฟันด์ที่เขาใส่ 10% และบริษัทสมทบให้อีก 10% คิดว่าพอแต่จริงๆ ไม่พอ” เขายกสูตรเงินสำหรับวัยเกษียณว่า คนหลังเกษียณจะมีรายได้ “ขั้นต่ำ” ครึ่งหนึ่งของเดือนสุดท้ายสำหรับใช้จ่าย

ถ้าโชคดีรายได้ที่ลดเหลือครึ่งหนึ่งของเงินเดือนสุดท้าย สามารถสร้างดอกผลให้งอกเงยได้ 13% ต่อปี เงินก้อนนี้จะประคับประคองชีวิตได้อีก 20 ปี แต่ถ้าโชคร้ายคุณเป็นคนแก่ที่อายุยืนยาวเกินไป หรือผลตอบแทนจากเงินก้อนสุดท้ายไม่งอกเงย ก็อาจจะเป็นคนแก่ตกยาก แต่ถ้าไม่อยากเป็นคนแก่อนาถา ทายาทแนะนำว่า ต้องยืดอายุการทำงานออกไป

“ต้องทำตัวให้ทันสมัยตลอดเวลา ซึ่งหากยังทำงานต่อไปได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเก็บ” ทายาทย้ำว่า คนมีคุณภาพยังเป็นที่ต้องการขององค์กร ทั้งในสายบริหารและผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยเริ่มหายากมากขึ้น และเป็นกลุ่มที่ทดแทนได้ยาก เพราะกว่าจะสร้างคนรุ่นใหม่ให้ตามทันต้องใช้เวลา

เขาเชื่อว่าคนสูงอายุไม่ใช่คนไร้ประสิทธิภาพ แต่น่าจะเป็นกลุ่มที่องค์กรหันมาใส่ใจมากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นคนมีฝีมือ เพราะคนกลุ่มนี้ไร้ห่วงผูกคอจากภาระครอบครัว หมดวัยมองหางานที่ใหม่ๆ ฉะนั้นจะทุ่มเทให้กับองค์กรสุดขีด

แม้จะเป็นวัยที่สุขภาพเสื่อมถอยแต่เขาบอกว่า สถิติชี้ว่าคนสูงอายุขาดงานน้อย ฉะนั้นองค์กรต้องหางานที่เหมาะกับศักยภาพและประสบการณ์ของพวกเขาได้ และคนกลุ่มนี้มีศักยภาพไม่แพ้คนหนุ่มคนสาว

เรียบเรียงโดย : เปรมศิริ ฤทัยเจตน์เจริญ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *