AEC : Roadmap บริการโลจิสติกส์ในอาเซียน

Roadmap บริการโลจิสติกส์ในอาเซียน

บริการโลจิสติกส์ครอบคลุมสาขาบริการย่อยจำนวนมาก อาทิ การขนส่ง การรับจัดการขนส่ง ตัวแทนออกของ ท่าขนส่ง คลังสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง การรับจัดซื้อและกระจายสินค้า และบริการสารสนเทศโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งทุกประเทศในอาเซียนยอมรับว่าโลจิสติกส์มีความสำคัญต่อการขยายเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก

ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งประกอบด้วยบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม มีมติผลักดันให้โลจิสติกส์เป็นบริการที่ต้องเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Priority Sector) เพื่อเป็นการนำร่องสำหรับการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่งมีลักษณะคล้ายยุโรปที่ค่อยๆ พัฒนาการรวมตัวทางด้านต่างๆ จนกระทั่งสามารถรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปที่เปิดโอกาสให้สมาชิกมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานฝีมือระหว่างกันได้สะดวกขึ้นในปัจจุบัน

ผู้แทนอาเซียนเพิ่งได้ฤกษ์หารือเกี่ยวกับแผนงานบริการโลจิสติกส์ (Roadmap of Logistics Services Integration) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 – 9 สิงหาคม 2549 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อกำหนดหลักการ ทิศทาง และขอบเขตของแผนบริการโลจิสติกส์อาเซียน โดยในส่วนของประเทศไทยมี ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา ผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้าร่วม ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นว่าในการจัดทำ Roadmap เพื่อให้เกิด AEC ได้ในปี ค.ศ. 2020 ควรกำหนดแผนงาน 5 ด้าน ได้แก่

(1)       แผนงานอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Facilitation) โดยครอบคลุมเนื้อหาที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางพิธีการด้านศุลกากรและการค้า อาทิ

  • เร่งรัดให้สมาชิกอาเซียนบางประเทศที่มิเป็นสมาชิกองค์การศุลกากรโลก (WCO) นำหลักการที่สำคัญตาม WCO มาใช้ปฏิบัติ
  • การปรับกฎระเบียบเพื่อให้มีการยอมรับการค้าและเอกสารระบบอิเล็กทรอนิกส์
  • การกำหนดจุดที่มีการให้บริการศุลกากรตลอด 24 ชั่วโมง
  • การเร่งรัดการใช้ระบบอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ASEAN Single Window) ณ จุดเดียวเพื่อตรวจปล่อยสินค้า
  • การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี RFID ในการติดตามสินค้าที่ขนส่งระหว่างประเทศ
  • การพัฒนาการรักษาความปลอดภัยในการขนส่งในอาเซียน

 

(2)       แผนงานอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ (LogisticsFacilitation) โดยครอบคลุมเนื้อหาต่าง ๆ ได้แก่

  • การส่งเสริมกิจกรรม Logistics Outsourcing สำหรับธุรกิจบางประเภทที่ไม่มีความชำนาญด้านการบริหารโลจิสติกส์
  • การส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากความตกลงการขนส่งสินค้าผ่านแดนในอาเซียน
  • การส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงข่ายของศูนย์กระจายสินค้า ท่าขนส่ง และสถานีขนส่งสินค้าเพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ
  • การส่งเสริมการเดินเรือภายในภูมิภาคอาเซียน
  • การส่งเสริมให้มีการใช้ INCOTERMS ที่มีความหลากหลายขึ้นส่งเสริมให้มีการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
  • การส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาโครงข่ายพื้นฐานและการให้บริการโลจิสติกส์

 

(3)       แผนงานการเปิดตลาดบริการโลจิสติกส์ (Logistics Services Liberalization) โดยอาเซียนจะพิจารณาร่วมกันเปิดตลาดบริการโลจิสติกส์บางประเภทแบบค่อยเป็นค่อยไป อาทิ การเปิดตลาดบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ บริการตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยคำนึงถึงความพร้อมของกฎระเบียบและการแข่งขันในแต่ละประเทศ

 

(4)       แผนงานส่งเสริมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในอาเซียน (Logistics Service Provider)โดยอาเซียนจะมีการดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ  

  • การนำวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ในการให้บริการโลจิสติกส์มาใช้
  • พัฒนาและยกระดับฐานข้อมูลผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในอาเซียน

 

(5)       แผนงานเพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านโลจิสติกส์ (Human Resource Development) โดยอาเซียนจะมีการดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ

  • จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการและฝึกอบรมพัฒนาและยกระดับทักษะทรัพยากรมนุษย์ด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน
  • ส่งเสริมจัดทำระบบมาตรฐานแรงงาน/ผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์
  • ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน

ทั้งนี้ ผู้แทนอาเซียนจะประเมินความเหมาะสมของแผนงานแต่ละด้าน รวมทั้งระบุหน่วยงานรับผิดชอบในแต่ละด้าน และระยะเวลาในการปฏิบัติในแต่ละแผนงาน ซึ่งรายละเอียดจะนำเสนอให้ทราบต่อไป

 

ที่มา www.thaifta.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *