AEC : FTA กับการเจรจาเปิดเสรีภาคบริการด้านโลจิสติกส์

AEC : FTA กับการเจรจาเปิดเสรีภาคบริการด้านโลจิสติกส์

 เป็นที่ทราบดีอยู่ว่าโลจิสติกส์จะเกี่ยวข้องอยู่กับด้านการให้บริการขนส่ง คิดเป็นต้นทุนประมาณ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ทั้งหมด ดังนั้น ภาคการขนส่งจึงมีบทบาทและมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม , การค้า , การท่องเที่ยว มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ธุรกิจและสังคม โดยภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสนใจต่อการพัฒนาบริการขนส่ง ซึ่งถือเป็นสิ่งหนึ่งของโลจิสติกส์ เพื่อที่จะลดต้นทุนการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทั้งของภาคธุรกิจและของประเทศ การที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการจัดทำเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคี ซึ่งได้มีนโยบายในการให้ผู้ประกอบการต่างชาติให้สามารถเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจด้านขนส่งได้สะดวกกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งก็เป็นผลจากการถูกผลักดันจากประเทศคู่เจรจา

โดยเฉพาะการเจรจากับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องการให้ประเทศไทยเปิดเสรีด้านการขนส่งทั้งทางบก , ทางน้ำ และทางอากาศ การขนถ่ายสินค้าในแผ่นดิน การจัดส่งพัสดุเร่งด่วน (Express)  และกิจกรรมด้านโลจิสติกส์อื่นๆ รวมถึงตัวแทนรับจัดการขนส่งและรวบรวมกระจายสินค้า โดยที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีความเสียเปรียบ เนื่องจากผู้ประกอบการ ซึ่งเป็น  ผู้ให้บริการของคนไทยยังขาดความพร้อมและขาดศักยภาพในการแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติ อันเนื่องมาจากการขาดปัจจัยทั้งทางด้านทุน , เทคโนโลยี ,ความรู้พื้นฐานและเครือข่ายในระดับ Global

โดยจะเห็นได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งได้ผ่านกฤษฎีกาเข้าไปสู่การพิจารณาของรัฐสภา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสมาชิกเมื่อต้นปี 2548 ก็ยังมีการล๊อบบี้ให้มีการเปลี่ยนข้อความบางประการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่บริษัทข้ามชาติ จะต้องมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย จนที่สุดก็ต้องมีการรอมชอมเป็นเพียง “การจดแจ้ง” เพื่อให้ผู้ประกอบการต่างชาติไม่ต้องจดทะเบียนสัญชาติไทย โดยยังสามารถให้บริการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก จากเรือสินค้าหรือเครื่องบิน และสามารถจัดส่งสินค้าจนถึงผู้รับ” ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้งรัฐบาลไทยและผู้ให้บริการคนไทยยังมีปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ด้อยกว่าในการเจรจาและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการขนส่ง

       การเปิดเสรีภาคบริการ ตามเงื่อนไขของ FTA ไม่ว่าจะเป็นกับประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยเข้าไปสู่ระบบกลไกการค้าโลกอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะต้องปฏิบัติกับบริษัทข้ามชาติเยี่ยงบุคคลที่เป็นสัญชาติไทย ซึ่งผลกระทบนี้ไม่ใช่มีแต่เฉพาะผู้ประกอบการโลจิสติกส์ แต่ยังมีผลไปถึงภาคบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา แม้แต่อาเซียน การให้บริการทำผมแต่งหน้า อาชีพบริการที่ยังสงวนให้กับคนไทย ก็เห็นจะเป็นอาชีพกรรมกร ซึ่งแรงงานต่างด้าวไม่ว่า พม่า หรือลาว ก็ไม่สามารถที่จะทำอาชีพนี้ได้ (อย่างถูกกฎหมาย)

ดังนั้น การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีศักยภาพ โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร , ฐานข้อมูล ,เทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ และการปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎหมายและกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับข้อตกลงการเปิดเสรีบริการ (FTA) โดยภาครัฐจะต้องจะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ในส่วนที่ประเทศไทยยังมีความด้อยกว่าไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าของการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งอุปสรรคใหญ่ก็คือ ประเทศไทยไม่มีรางรถไฟรางคู่ (Duo Track)

ซึ่งเดิมรัฐบาลมีโครงการที่จะทำรถไฟรางคู่เชื่อมโยงทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันเข้าใจว่าได้ลดทอนงบระมาณจนเหลือ 400 กิโลเมตร นอกจากนี้ ก็ต้องมีการตกลงกันให้ได้ว่าจะสร้างทางรถไฟที่จะเชื่อมไปทางเชียงรายหรือจะมีการทางรถไฟที่จะเชื่อมจากเด่นชัยไปยังทางรถไฟของประเทศจีนที่จะผ่านทาง สปป.ลาว ดังนั้น การที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง (HUB) ของภูมิภาคอาเซียน คงจะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก , ทางอากาศ , ทางทะเล และระบบขนส่งให้สอดคล้องกับการพัฒนาการของประเทศคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นจีน , มาเลเซีย , สิงคโปร์ หรือแม้แต่เวียดนาม

        อย่างไรก็ดี การพัฒนาด้านโลจิสติกส์เพื่อเปิดเสรีด้านการบริการขนส่งที่กล่าวถึงข้างต้น จะเป็นเพียงส่วนของภาครัฐ ซึ่งจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนา Logistics ของภาคเอกชน ทั้งส่วนของผู้รับบริการ (Logistics User) และผู้ให้บริการ (Logistics Provider) ให้มีความตระหนักร่วมกันถึงผลกระทบที่มีการเปิดเสรีภาคบริการของ FTA โดยภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีความตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนและเพิ่มขีดความสามารถ (Core Competency) ในการรับมือกับบริษัทข้ามชาติที่มีความพร้อมกว่าในทุกด้าน ลำพังที่จะให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะ SMEs ของไทยต่อสู่ดิ้นรนเอง โดยอ้างแต่การแข่งขันเสรีคงไม่พอเพียง เพราะการแข่งขันอย่างเสรี จะต้องควบคู่กับการแข่งขันด้วยความเสมอภาค ทั้งนี้ในยุคสมัยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ก็ต้องช่วยเหลือตนเอง อย่าหวังว่าจะให้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างเดียวเพราะเรื่องของข้อตกลง FTA ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ , ภาคอุตสาหกรรม , ภาคเกษตร มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ขึ้นอยู่แต่ว่าฝ่ายไหนเข้าไปได้อำนาจรัฐหรือเข้าไปใกล้ชิดกับกลไกของรัฐ ก็ย่อมเกื้อกูลในสิ่งที่ตนเองและพวกพ้องได้ประโยชน์ โดยจะต้องมีคาถาประจำในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของตนเอง โดยจะต้องท่องจำให้ขึ้นใจว่า “อัตตาหิ อัตโนนาโฐ” ไม่มีใครช่วยได้นอกจากตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ดีแน่แท้..

 

ที่มา คุณธนิต โสรัตน์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *