AEC : ASEAN Single Window เชื่อมข้อมูลข้ามโลก 1

AEC : ASEAN Single Window เชื่อมข้อมูลข้ามโลก 1
Source: ปาหนัน ลิ้ม

พลิกโฉมส่งออก-นำเข้าไทยเทียบสากล กรมศุลกากรพลิกโฉมการนำเข้า-ส่งออก ยกเครื่องระบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ มุ่งสู่การเชื่อมโยงในระดับอาเซียน ASEAN Single Window ด้านเอกชนมั่นใจระบบช่วยลดต้นทุน สะดวก รวดเร็ว ทั้งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าอินโดจีน กรมศุลกากรเอาจริงประกาศยกเครื่องระบบการทำงานทั้งกระบวน หวังมุ่งสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ เชื่อมโยงข้อมูลในประเทศด้วยระบบ e-Logistics รวมถึงสามารถส่งผ่านข้อมูลระหว่างประเทศด้วยระบบ ASEAN Single Window ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อย และการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรต่างๆ อันเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

จากสถิติที่ผ่านมาผู้ส่งออก-นำเข้ามีการใช้เอกสาร 25,000 ฉบับต่อวัน มีแบบฟอร์มที่ต้องส่งทั้งหมด 40 แบบฟอร์ม และเป็นข้อมูลที่ต้องส่งซ้ำกัน 60-70% ของแต่ละเอกสาร ในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออก ซึ่งสิ่งที่จะได้รับจากการพัฒนาระบบเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลและบริการภาครัฐเพื่อการนำเข้าส่งออกและโลจิสติกส์ (Single-Window e-Logistics: SWeL) คือลดรายการข้อมูลลงได้ 10:1 ลดจำนวนเอกสารลงได้ร้อยละ 44 ลดระยะเวลาที่ใช้ในการเตรียมเอกสารและยื่นเอกสารลงได้ร้อยละ 70 พร้อมกันนี้ยังสามารถออกหนังสืออนุญาต/รับรองได้ทันที (หากเอกสารถูกต้องและครบถ้วน) โดยมีชุดข้อมูลเพื่อการส่งออก-นำเข้าเพียงชุดเดียว มีการยื่น-แลกเปลี่ยน-ส่งข้อมูลผ่าน National Single Window System (NSW) เพียงครั้งเดียว มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธุรกิจและเชื่อมต่อกับ NSW และที่สำคัญที่สุดคือทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ลดลง

ดังนั้น จากการพัฒนาระบบ e-Logistics จะส่งผลให้สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงอย่างน้อย 0.5% ของมูลค่าสินค้านำเข้า-ส่งออก หรือไม่ต่ำกว่า 28,500 ล้านบาทต่อปี ลดเวลาการดำเนินงานของผู้นำเข้า-ส่งออกจากเดิม 8-10 วัน เหลือ 1-3 วัน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบที่มาของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลักของประเทศ

สำหรับมุมมองของภาคเอกชนต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่ากรมศุลกากรเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด นับเป็นหน่วยงานที่มีการพัฒนาเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการทำงานได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
จากการพัฒนาที่รุดหน้าของกรมศุลกากรไทย ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากธนาคารโลกให้เป็นประเทศที่น่าลงทุนจากเดิมอยู่อันดับที่ 17 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 15 และเชื่อว่าหากมีการพัฒนาปรับปรุงระบบในทุกด้าน ประเทศไทยน่าจะได้อันดับที่ดีขึ้น…

ศุลกากรเดินหน้าพัฒนาไอที ยกเครื่องมุ่งสู่ระบบ e-Logistics

กรมศุลกากรมุ่งพัฒนาระบบไอที รุกยุทธศาสตร์ Single Window เต็มรูปแบบ คาดไม่เกิน 2 ปี ระบบ e-Logistics แล้วเสร็จ สามารถเชื่อมโยงได้ทั้ง 28 หน่วยงาน เชื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้ส่งออก-นำเข้าจากการที่กรมศุลกากรมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นกรมศุลกากรจึงเร่งพัฒนาระบบงานเพื่อสร้างความเป็นมาตรฐานสากล ด้วยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลทางด้านโลจิสติกส์ และการปฏิบัติพิธีการต่างๆ ให้อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านโลจิสติกส์ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เป้าหมายสำคัญคือเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมต่างชาติ

ผู้มีส่วนผลักดันที่สำคัญ คุณวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร ได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับความคืบหน้าความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) ว่า คาดว่าภายในสิ้นปี 2551 ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน รวม 6 ประเทศ จะสามารถจัดทำระบบ National Single Window ได้ทั้งหมด

ส่วนประเทศกลุ่มอาเซียนอีก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า จะต้องดำเนินการระบบ National Single Window ให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2555 เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ ASW ต่อไป ซึ่งการพัฒนาระบบงานศุลกากรดังกล่าวทั้ง National Single Window และ ASW จะช่วยลดต้นทุนในเรื่อง Logistics ที่ต้องผ่านศุลกากรให้เหลือน้อยที่สุด และเป็นการเพิ่มความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาศุลกากรอาเซียนได้ให้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของศุลกากรสมาชิกอาเซียน รวมทั้งการจัดตั้งและนำ ASW มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อย และการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรต่างๆ อันเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 ศุลกากรไทยได้ลงนามความตกลงกับศุลกากรฟิลิปปินส์ เพื่อทำ Pilot Project ร่วมกัน สำหรับใช้เป็นต้นแบบ และเป็นกรณีศึกษาการพัฒนา ASW ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการพร้อมเข้าสู่ e-Customs เต็มรูปแบบ

ในส่วนของกรมศุลกากรโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันกรมศุลกากรได้นำระบบการผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Customs) มาใช้ เช่น ระบบ e-Import ระบบ e-Export และการใช้บริการรับชำระภาษีอากร (e-Payment) ฯลฯ รวมทั้งการพัฒนาระบบงานไปสู่การทำงานแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก

นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลและบริการภาครัฐเพื่อการนำเข้าส่งออกและโลจิสติกส์ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้ง National Single Window เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสารระหว่างกรมศุลกากร และหน่วยงานอื่นจำนวน 28 หน่วยงาน ที่ออกใบอนุญาต/ใบรับรอง/ใบสั่งปล่อย ในการตรวจสอบใบอนุญาตและใบรับรองต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนการตรวจปล่อยสินค้า ขณะนี้ได้นำร่องลงนามกับ 6 หน่วยงานได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

โดยกำหนดเป้าหมายในการจัดทำ Pilot Project ระหว่างหน่วยงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 และจะเพิ่มอีก 11 หน่วยงานภายในปีนี้ ได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ กรมการขนส่งทางบก กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และสำนักงานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

ถามถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าจะได้รับจากการพัฒนาสู่ระบบ e-Customs นั้น ในเรื่องนี้ คุณวิสุทธิ์ เปิดเผยว่า ระบบ e-Customs ก่อให้เกิดผลดีต่อภาพรวมด้านการค้าระหว่างประเทศ คือ สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในเวทีโลก และการตอบรับแผนพัฒนาประเทศที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือ นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดเวลา เนื่องจากผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมาติดต่อที่กรมศุลกากร โดยระบบจะทำการแจ้งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อจะมารับสินค้าก็มาติดต่อที่ท่าเรือ หรือคลังสินค้าปลายทาง ส่วนการส่งออกเมื่อส่งข้อมูลผ่านระบบแล้วสามารถขนของลงเรือได้เลย

“ระบบ e-Customs ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แม้การใช้ระบบจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แต่สิ่งที่ได้รับคือ ลดการเดินทาง และลดจำนวนเอกสาร นอกจากนี้ยังทำให้สะดวกรวดเร็ว ทั้งในเรื่องการนำเข้า-ส่งออก เพราะข้อมูลต่างๆ จะรวบรวมเก็บไว้ในฐานข้อมูลศุลกากรทั้งหมด นอกจากนี้ระบบสินค้านำเข้าที่ต้องชำระภาษีก็สามารถชำระภาษีผ่านธนาคารได้ด้วย โดยสามารถส่งข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมงจากทุกแห่งทั่วประเทศ และที่สำคัญคือทำให้เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของศุลกากร” อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวย้ำ

“โลจิสติกส์” กุญแจก้าวสู่การค้าสากล
การพัฒนาโลจิสติกส์ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยยกระดับให้ไทยก้าวสู่สากล สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ดังนั้น กรมศุลกากรจึงให้ความสำคัญ ด้วยการวางโลจิสติกส์เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข โดยนำระบบการให้บริการผ่านพิธีการศุลกากรนำเข้า-ส่งออกทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (e-Import/e-Export) มาให้บริการสำหรับการนำเข้า-ส่งออก โดยปิดระบบอีดีไอเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551

สำหรับการตรวจสอบสินค้า กรมศุลกากรได้ใช้ระบบบริหารความเสี่ยงในการตรวจสอบสินค้า โดยใช้วิธีสุ่มตรวจประมาณร้อยละ 20 ของสินค้าขาเข้า และร้อยละ 3 ของสินค้าขาออก นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้นำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการควบคุมทางศุลกากร เช่น เครื่องเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบตู้สินค้าด้วยรังสีเอกซเรย์โดยไม่ต้องเปิดตู้ ส่งผลให้มีความสะดวกรวดเร็ว

ปัจจุบันกรมศุลกากรมีระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าแบบเคลื่อนที่ได้ 7 ระบบ และระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าแบบติดตั้งถาวร 2 ระบบ ติดตั้ง ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และด่านศุลกากร นอกจากนี้ยังเร่งติดตั้งระบบ CCTV เพื่อความสะดวกรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำในการให้บริการ รวมถึงพัฒนาระบบ RFID ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ตรวจสอบตู้สินค้าที่ติดผนึก Tag อิเล็กทรอนิกส์ บันทึกวันที่/เวลา ประเภทของสินค้า เพื่อกรมศุลกากรสามารถตรวจสอบติดตามการเคลื่อนย้ายตู้ได้ตลอดเวลา

อธิบดีกรมศุลกากร ยังย้ำว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์นั้น หน่วยงานที่ดูแลแผนยุทธศาสตร์ของประเทศทางด้านโลจิสติกส์ต้องสร้าง Road Map ที่ชัดเจน ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงภายในประเทศ และเชื่อมโยงระดับภูมิภาค มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลทางด้านโลจิสติกส์ พัฒนาการเชื่อมโยงของฐานข้อมูลทางด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งส่งเสริมและสร้างความเข้าใจในเทคโนโลยีสารสนเทศ

นอกจากนี้ ต้องเชื่อมโยงการค้าในระดับภูมิภาค สร้างมาตรฐานและพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกตามแนวชายแดน ที่สำคัญคือการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ด้านโลจิสติกส์ และการปรับปรุงกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์ และปรับปรุงมาตรฐานการใช้กฎหมายทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
หากระบบไอทีของประเทศพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ จะส่งผลให้กระบวนการโลจิสติกส์โดยรวมดีขึ้น และทำให้เศรษฐกิจของประเทศทั้งในภาคการค้าการลงทุนมีความเข็มแข็ง สามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้ …

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *