AEC : พัฒนาฝีมือแรงงาน ต้อนรับเออีซี

AEC : พัฒนาฝีมือแรงงาน ต้อนรับเออีซี

พัฒนาฝีมือแรงงาน ต้อนรับเออีซี : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ : นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน

กระทรวงแรงงานขานรับนโยบายเตรียมพร้อมแรงงานไทยรับมือการเปิดประตูการค้าเสรีอาเซียน (เออีซี) พร้อมเร่งปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ให้ครบ 77 จังหวัดภายในปี 2556 ถือเป็นก้าวย่างที่ 20 ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงแรงงานครบรอบ 19 ปี 23 กันยายน 2555

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของกระทรวงแรงงานว่า กระทรวงแรงงานมีหน้าที่ดูแลแรงงานทั่วประเทศ ทั้งในระบบและนอกระบบ รวมกว่า 39 ล้านคน รวมถึงแรงงานต่างด้าวกว่า 1.7 ล้านคน ผลงานที่ภูมิใจคือ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีก 40% เป็นวันละ 300 บาท ในทุกจังหวัด ซึ่งมีการปรับไปแล้ว 7 จังหวัด มีผลมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และภูเก็ต ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น แม้ผู้ประกอบการจะได้ผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกันหามาตรการมารองรับและให้การช่วยเหลือ เช่น การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อให้ผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น การลดเงินสมทบประกันสังคม เป็นต้น

“ก้าวต่อไปของกระทรวงแรงงานคือ จะเดินหน้าภารกิจตามนโยบายรัฐบาล ทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท อีก 70 จังหวัดที่เหลือ ในวันที่ 1 มกราคม 2556 และการพัฒนาแรงงานไทยเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ทั้งด้านทักษะฝีมือ ทักษะภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียน เพื่อให้แรงงานไทยมีศักยภาพแข่งขันกับแรงงานชาติต่างๆ ได้ ทักษะด้านเทคโนโลยีและไอที ทัศนคติและระเบียบวินัยในการทำงานและสมรรถนะเฉพาะแต่ละสาขาอาชีพ”

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า จะส่งเสริมแรงงานใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อาหาร สินค้าเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ไม้และเฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้าง ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ และการท่องเที่ยวและบริการ โดยมีคณะกรรมการพัฒนาแรงงานประกอบด้วย ตัวแทนหน่วยงานรัฐและเอกชน คอยกำหนดนโยบาย แผนและวิธีการ มีระยะ 4 ปี (พ.ศ.2555-2559) ซึ่งในปี 2556 จะพัฒนาแรงงานไทยให้ได้ 6 ล้านคน ขณะนี้กำลังเร่งจัดทำแผนเพื่อเสนอของบปี 2557 จากรัฐบาล

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานรับผิดชอบงานด้านแรงงานหลายส่วน ได้แก่ กรมการจัดหางาน (กกจ.) ดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศไม่ให้เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินความเป็นจริง และจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย ดูแลให้ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้ถูกต่างชาติมองว่า มีการค้ามนุษย์ รวมทั้งควบคุมจำนวนแรงงานต่างด้าวไม่ให้เข้ามาทำงานในไทยเกินความต้องการ ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยจะต้องจดทะเบียน และนำเข้าภายในข้อตกลงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นๆ อาทิ กัมพูชา พม่า ลาว เป็นต้น

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ดูแลให้แรงงานไทยและต่างด้าว ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลมีนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 300 บาท ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้วใน 7 จังหวัด

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ทำหน้าที่ยกระดับฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพและพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสม เพื่อรองรับค่าจ้างวันละ 300 บาท รวมทั้งพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานไทย และอบรมทักษะภาษาต่างประเทศ

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ถือเป็นหน่วยงานสำคัญของแรงงานทั่วประเทศ ในการคอยคุ้มครองและดูแลสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล ที่มีการปรับระบบวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตน ที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง และมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ อีกทั้งได้ขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ขณะนี้มีผู้มาขึ้นทะเบียนกว่า 1 ล้านคน

………………………..

“ก้าวต่อไปของกระทรวงแรงงานจะเดินหน้าภารกิจตามนโยบายรัฐบาล ทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท อีก 70 จังหวัดที่เหลือ ในวันที่ 1 มกราคม 2556 และการพัฒนาแรงงานไทยเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)”

……………………….
(พัฒนาฝีมือแรงงาน ต้อนรับเออีซี : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ : นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *