AEC : เปิดวิสัยทัศน์’นคร ศิลปอาชา’ พัฒนาแรงงานรองรับเออีซี
AEC : เปิดวิสัยทัศน์’นคร ศิลปอาชา’ พัฒนาแรงงานรองรับเออีซี
การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ของไทยใน 3 ปีข้างหน้า ทำให้รัฐบาล กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ต้องลุกขึ้นมาเตรียมพร้อมพัฒนาเยาวชนและแรงงานไทยกันขนานใหญ่ โดยเฉพาะกำลังแรงงานและแรงงานไทยกว่า 38 ล้านคน จะต้องได้รับการพัฒนาทั้งด้านทักษะฝีมือ ทักษะภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียนอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งหน่วยงานเป็นเสมือนทัพหน้าดูแลภารกิจสำคัญนี้คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) สังกัดกระทรวงแรงงาน ปัจจุบันมี ”นายนคร ศิลปอาชา” อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดี กพร.หมาดๆ เป็นผู้นำทัพและเป็นการคืนถิ่นกลับมารั้งเก้าอี้ในคำรบสอง
“ผมต้องขอบคุณรัฐบาลและนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความไว้วางใจให้ผมกลับมานั่งเป็นอธิบดีกพร.เป็นครั้งที่ 2 การกลับมาครั้งนี้ผมตั้งใจว่าจะมาอุดช่องโหว่งานด้านต่างๆ ของ กพร.จากที่ผมได้พบเห็นเมื่อครั้งเป็นอธิบดี กพร.ในสมัยแรก และไม่หนักใจกับภารกิจในการพัฒนาแรงงานไทยเพื่อรองรับการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ และการเตรียมความพร้อมแรงงานไทยเข้าสู่เออีซี แต่ผมมองว่าเป็นโจทย์ท้าทายซึ่งต้องทำให้สำเร็จให้ได้” อธิบดี กพร.เผยความรู้สึกถึงของการคืนถิ่น
อธิบดีนคร ฉายภาพถึงการบ้านที่ รมว.แรงงานฝากไว้กับ กพร.ว่า “การพัฒนาทักษะฝีมือ ทักษะภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน” ถือเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ที่ ”รัฐมนตรีเผดิมชัย” ฝากไว้ให้ กพร.เร่งดำเนินการเพื่อรองรับการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 และการเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานไทยในการเข้าสู่เออีซีในปี 2558 ซึ่งจากการทำงานสมัยเป็นอธิบดี กพร.ครั้งแรกในช่วงปี 2551-2554 รวมประมาณ 3 ปี ทำให้ได้รู้ว่า กพร.ไม่สามารถเดินหน้าภารกิจได้เพียงลำพัง แต่จะต้องมีเครือข่ายหน่วยงานภายนอกทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนคอยช่วยสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยง เพราะ กพร.มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงไม่สามารถจัดซื้อเครื่องจักรและเครื่องมือฝึกอบรมที่ทันสมัยเข้ามาใช้ฝึกอบรมได้อย่างต่อเนื่องทุกปี
ดังนั้น การหวนกลับมาในครั้งนี้ อธิบดีกพร.จึงเน้นการสร้างเครือข่ายในการพัฒนากำลังแรงงานและแรงงานไทยทั้งด้านทักษะฝีมือและภาษา โดยจะขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และภาคธุรกิจต่างๆ ในการจัดทำหลักสูตรและการฝึกอบรมโดยใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 จูงใจให้สถานประกอบการต่างๆ เข้าร่วม เนื่องจากตามกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้สถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมแรงงานไปขอลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่าย
อธิบดีนครวางแนวทางการฝึกอบรมโดยเน้นให้แรงงานเข้าอบรมภายในสถานประกอบการมากกว่าการฝึกอบรมในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค(สพภ.) และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด(ศพจ.) เพื่อจะได้เรียนรู้และฝึกฝนการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัยพร้อมกับซึมซับบรรยากาศการทำงานจริงๆ ทำให้เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมแล้วก็เข้าทำงานได้ทันที
เช่นเดียวกับการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน อธิบดี กพร.เน้นให้แรงงานไทยได้เรียนรู้กับครูผู้สอนที่เป็นมืออาชีพด้านภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน เพื่อให้แรงงานได้รับความรู้ที่ถูกต้องและสามารถใช้งานได้จริง อีกทั้งจะจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมภาษาให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในปีนี้ และเร่งจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานระดับชาติให้ได้อย่างน้อยกว่า 200 สาขา เพื่อใช้เป็นเกณฑ์คัดกรองแรงงานฝีมือในกลุ่มประเทศสมาชิกเออีซีที่จะเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในไทย
นอกจากนี้ กพร.อาจจะเปิด ”หลักสูตรบริหารทรัพยากรมนุษย์เพื่อเตรียมรับเออีซี” ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้นๆ เช่นที่มหาวิทยาลัยรัฐหรือหน่วยงานรัฐต่างๆ เปิดสอนอยู่ในปัจจุบัน และเชิญผู้บริหารหน่วยงานรัฐและเอกชนต่างๆ เข้ามาเรียนเพื่อสร้างเครือข่ายและระดมสมองในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์พัฒนาทักษะฝีมือและภาษาให้แก่แรงงานไทยเพื่อเตรียมความพร้อมรับเออีซี
“ผมมองว่าเพื่อนข้าราชการ กพร.เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ภารกิจประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะลำพังตัวผมไม่มีวันทำสำเร็จแน่ ผมซึ่งเป็นอธิบดี จึงมีหน้าที่ประสานและสนับสนุนเพื่อให้ทุกคนและทุกหน่วยงานใน กพร.ร่วมมือร่วมใจกันทำงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างคนต่างทำงาน“ อธิบดีนคร กล่าวทิ้งท้าย
——————–
(เปิดวิสัยทัศน์ : สร้าง ‘เครือข่าย’ พัฒนาแรงงานรับเออีซี ‘นคร ศิลปอาชา’ ชูธงอธิบดีกพร.สมัยสอง : เรื่อง…ธรรมรัช กิจฉลอง / ภาพ…ประชาสัมพันธ์ กพร.)
ที่มา : คมชัดลึก